กรรมการค่าจ้างขึ้นค่าแรง 400 บาทโรงแรม 4 ดาว นำร่อง 10 จังหวัด

ท่องเที่ยว

ผลประชุมคณะกรรมการไตรภาคีเคาะขึ้นค่าจ้าง 400 บาท นำร่อง 10 จังหวัดท่องเที่ยว เฉพาะโรงแรม 4 ดาวขึ้นไป มีผล 13 เม.ย.นี้ของขวัญปีใหม่ไทย สมาคมโรงแรมเหนือ-ใต้-ตะวันตก ประสานเสียง แย้งไม่ควรปรับขึ้นค่าแรงพร้อมกัน 10 จังหวัด หวั่นเกิดปัญหาแรงงานโยกหนีจากจังหวัดเมืองรองไปเมืองหลัก

การประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือไตรภาคี เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 26 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ถูกจับตามองค่อนข้างมาก เนื่องจากจะเป็นการปรับอัตราค่าจ้างรอบใหม่ที่เป็นการพิจารณาเป็นรายพื้นที่ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับค่าครองชีพในแต่ละพื้นที่ และคาดว่าแรงงานกลุ่มแรกที่จะได้รับการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในรอบนี้จะเป็นกลุ่มแรงงานในภาคท่องเที่ยวและบริการก่อน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูง 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ สงขลา พังงา ประจวบคีรีขันธ์ และระยอง เพราะเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงาน ยังเตรียมจะเสนอข้อสรุปดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 2 หรือ 9 เม.ย. 2567 เพื่อรับทราบและประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย. 2567 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปรับค่าจ้างแรงงานดังกล่าว อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ครั้งที่ 2 ของปี หลังจากที่ได้มีการปรับขึ้นไปแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 12) ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 มีมติให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ วันละ 2-16 บาท ทั่วประเทศ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ

เคาะแล้ว 400 บาท 10 จังหวัด

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน และประธานประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 เปิดเผยว่า คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 เห็นชอบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรม เพื่อใช้สำหรับนายจ้างและลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการประเภทกิจการโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไปและมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป โดยให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ 400 บาท และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2567

นำร่องในเขตพื้นที่จังหวัด 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เฉพาะเขตปทุมวัน และเขตวัฒนา จังหวัดกระบี่ เฉพาะเขตองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง จังหวัดชลบุรี เฉพาะเขตเมืองพัทยา จังหวัดเชียงใหม่ เฉพาะเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เฉพาะเขตเทศบาลหัวหิน จังหวัดพังงา เฉพาะเขตเทศบาลตำบลคึกคัก จังหวัดภูเก็ต จังหวัดระยอง เฉพาะเขตตำบลบ้านเพ จังหวัดสงขลา เฉพาะเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสุราษฎร์ธานีเฉพาะเขตอำเภอเกาะสมุย

โรงแรมชี้ยังไม่ควรปรับ

นายศึกษิต สุวรรณดิษฐกุล นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำในตอนนี้มองว่าไม่เหมาะสม ยังไม่ควรมีการปรับขึ้น เพราะจะกระทบโรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็ก ยิ่งถ้าปรับทีเดียวเป็น 400 บาทเลย เนื่องจากเพิ่งมีการปรับไปเมื่อต้นปี 2567 ที่ผ่านมากว่า 4% หากจะปรับตอนนี้อีก 8% มองว่าถี่เกินไป ควรปรับปีละครั้ง อัตราการปรับควรค่อย ๆ ปรับขึ้น ประมาณ 4-5% เพื่อให้โรงแรมขนาดเล็กระดับ 3 ดาวได้ฟื้นตัวก่อน ควรเห็นใจโรงแรมธุรกิจขนาดเล็กด้วย เพราะหลายแห่งธุรกิจยังไม่ฟื้นตัวเหมือนกับโรงแรมขนาดใหญ่ ที่ปกติก็จ่ายค่าแรงเกินกว่าราคาค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว รวมถึงมีเซอร์วิสชาร์จ และมีเซอร์วิสอื่น ๆ ด้วย

ขณะที่ผู้ประกอบการร้านขายของที่ระลึกในจังหวัดภูเก็ต กล่าวในเรื่องนี้ว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำจะกระทบร้านแน่นอน เพราะต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เพราะมีพนักงาน 200 คน ต้องแบกภาระเพิ่มขึ้น แต่หากรัฐบาลสามารถช่วยประคองได้ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟไม่ปรับขึ้น เมื่อลูกจ้างได้ค่าแรงที่สูงขึ้น ยังพอมีเงินเก็บได้

นายอุดม ศรีมหาโชตะ อุปนายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันตก และผู้ประกอบการเจ้าของ “บ้านทะเลดาว รีสอร์ท หัวหิน” จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทจริง เกรงว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือกลุ่ม SMEs จะได้รับผลกระทบหนัก เนื่องจากรายได้ด้านการท่องเที่ยวของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไม่ได้มากเท่ากับภูเก็ต พัทยา หรือกรุงเทพฯ

แต่หากเป็นโรงแรมขนาดใหญ่อาจจะไม่ได้รับผลกระทบ ความจริงแล้วยังไม่ควรนำประจวบคีรีขันธ์ เข้ามาเป็นหนึ่งใน 10 จังหวัดนำร่อง ซึ่งประจวบฯ กับเพชรบุรี เป็นจังหวัดที่อยู่ติดกัน หากประจวบฯปรับขึ้นค่าแรง ก็จะเกิดปัญหาแรงงานจากเพชรบุรีโยกหนีไปมาทำงานที่ประจวบฯ เพชรบุรีก็จะเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน

“หากรัฐบาลจะขึ้นค่าแรง ผู้ประกอบการขอนำค่าแรงมาหักเป็นภาษีซื้อ 7% ได้หรือไม่ เพราะโรงแรมมีแต่ภาษีขาย เมื่อขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาท เดือนละ 12,000 บาท ภาษี 7% คือ 840 บาท รัฐบาลต้องช่วยทั้งแรงงานและผู้ประกอบการด้วย อย่าให้ผู้ประกอบการแบกรับภาระแต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะหากไปไม่รอดระยะยาวอาจต้องปิดตัวลง แต่หากสามารถนำค่าแรงมาหักเป็นภาษีซื้อได้ ทุกฝ่ายจะแฮปบี้” นายอุดมกล่าว

กระทบรายเล็ก-แรงงานขาด

นายไพศาล สุขเจริญ นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ (ตอนบน) แสดงความเห็นว่า การปรับขึ้นค่าแรงจากเดิมวันละ 350 บาท เป็น 400 บาท หากมองเฉพาะธุรกิจโรงแรมถือว่าได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจโรงแรมในเชียงใหม่ ส่วนใหญ่จ่ายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400-450 บาทอยู่แล้ว และพนักงานยังมีเซอร์วิสชาร์จอีกจำนวนหนึ่ง

แต่การปรับขึ้นดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวสาขาอื่นที่ใช้แรงงานจำนวนมาก อาทิ ภัตตาคาร ร้านอาหาร ฯลฯ โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะสูง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันภาพรวมของธุรกิจโรงแรมของเชียงใหม่ยังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน หลังโควิดคลี่คลาย แรงงานบางส่วนยังไม่กลับมาทำงาน และหันไปประกอบอาชีพอื่น และทำให้มีการแข่งขันแย่งตัวพนักงานกัน

ดร.สิทธิพงศ์ สิทธิภัทรประภา นายกสมาคมโรงแรมหาดใหญ่ สงขลา แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า ไม่เห็นด้วยที่ปรับค่าจ้างแรงงานขึ้นพร้อมกัน 10 จังหวัดเมืองท่องเที่ยว และราคาเดียวกัน แต่ควรปรับขึ้นให้เป็นไปตามกลไกการตลาดที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดสงขลา คาดว่าได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เนื่องจากโรงแรมที่พักในสงขลา มีนักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มเดียวที่เป็นชาวต่างชาติหลักคือชาวประเทศมาเลเซีย และราคาห้องพักหลักร้อยถึงหลักพันบาทต่อคืน สูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท ต่างจากเมืองท่องเที่ยวอย่าง ภูเก็ต พัทยา หรือกรุงเทพฯ ที่มีราคาหลักพันและหลักหมื่นบาทต่อคืน เพราะมีนักท่องเที่ยวจากหลายประเทศ

“เมื่อมีการปรับค่าแรงแล้วจะปรับลงไม่ได้ แต่เมื่อนักท่องเที่ยวซบเซาหรือมีเหตุ นักท่องเที่ยวไม่เดินทางเข้ามาโรงแรมก็จะแบกรับ อย่างขณะนี้เป็นเดือนรอมฎอนถือศีลอดของชาวมุสลิม นักท่องเที่ยวไม่เข้ามา โรงแรมมีผู้เข้าพักไม่ถึง 50% เป็นต้น”

นายเอกวิทย์ ภิญโญธรรมโนทัย ผู้บริหารในเครือพีชลากูน่ารีสอร์ท แอนด์ สปา จ.กระบี่ มองว่าโรงแรมขนาดกลาง-ใหญ่จะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีการจ่ายค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว ประกอบกับหลังโควิด-19 หมดไป ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวฟื้นตัว มีนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้น

แต่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อยรายเล็ก หรือเอสเอ็มอี เนื่องจากไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะจ่ายค่าแรงขั้นต่ำที่จะปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากบางรายต้องลงทุนใหม่ รายได้ยังไม่มาก ราคาห้องไม่สูง ประกอบกับขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่มุ่งไปทำงานในสถานประกอบการขนาดใหญ่ที่ให้ค่าแรงสูงกว่า จึงจำเป็นต้องจ้างพนักงานนอกเวลามาทำงานแทน

มิติใหม่สูตรคิดค่าจ้าง

ผู้สื่อข่าวรายงาน ก่อนหน้านี้นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน และประธานประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 ได้กล่าวว่า การพิจารณาสูตรค่าจ้างครั้งนี้เป็นมิติใหม่ของการคิดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่เคยมีมาก่อน การปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างครั้งนี้จะพยายามทำให้เสร็จตามไทม์ไลน์ คือประกาศใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ในเดือนเมษายน 2567 ส่วนจังหวัดอื่นนอกเหนือจาก 10 จังหวัดนี้จะได้รับการปรับขึ้นหรือไม่ ก็อาจจะใช้สูตรคำนวณนี้ ส่วนจะได้ถึง 400 บาทต่อวันหรือไม่นั้น คณะกรรมการค่าจ้างจะพยายามทำให้ดีที่สุด

ขณะที่ นายวีรสุข แก้วบุญปัน ผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ได้ให้ข้อมูลถึงการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงเป็นรายพื้นที่ว่า จะมีลักษณะดังนี้ เช่น อาจเป็นขึ้นค่าจ้างที่กรุงเทพฯชั้นใน หรือถ้าชั้นนอก มีการปรับขึ้นก็ในอัตราที่ต่ำกว่า ส่วนต่างจังหวัด เช่น จ.พังงา อาจเป็นพื้นที่ อ.เขาหลัก (เทศบาล ต.คึกคัก) ที่ได้รับค่าแรงเพิ่ม เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือ จ.สงขลา เฉพาะเทศบาลนครหาดใหญ่ จ.ชลบุรี เฉพาะเขตเมืองพัทยา ซึ่งรูปแบบของกิจการท่องเที่ยว รวมถึงโรงแรม ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยวและบริการที่ดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ