คนเหนือสูญ 2 แสนล้าน ฝุ่นพิษทำปอดพัง-มะเร็งพุ่ง

pm2.5

ปี 2567 นับเป็นรอบ 2 ทศวรรษที่ปัญหาฝุ่นควันไฟป่า และฝุ่นพิษ PM 2.5 ยังโอบล้อมครอบงำพื้นที่ภาคเหนือตอนบน อย่างรุนแรง

โดยเฉพาะเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจอย่างจังหวัด “เชียงใหม่” ที่มีประชากรกว่า 1.7 ล้านคน และประชากรแฝงอีก 1.5 ล้านคน รวมทั้งหมดกว่า 3.2 ล้านคน ต้องจมฝุ่นพิษอยู่ภายในแอ่งกระทะเป็นเวลาร่วม 3-4 เดือนต่อปี ซึ่งนับวันวิกฤตนี้จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น กับตัวเลขคุณภาพอากาศแย่ติดอันดับต้น ๆ ของโลกถี่ขึ้น และขึ้นสู่อันดับ 1 ของโลกในบางวัน

ขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยในภาคเหนือทะยานสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ ขณะที่การสะสมต่อเนื่องของฝุ่นพิษที่ฝังตัวในร่างของประชาชนในพื้นที่จะแสดงอาการในอนาคต กับปรากฏการณ์ในระยะ 5 ปี มี “อาจารย์” ใน “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” เสียชีวิตจาก “โรคมะเร็งปอด” ถึง 4 คน เป็นดัชนีที่อันตรายในระยะยาว

หากปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อเช่นนี้ ทว่าปัญหายังทวีความหนักหน่วงและส่งผลกระทบต่อประชาชนมวลรวมทั้ง 9 จังหวัดภาคเหนือ ทั้งมิติด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และภาพลักษณ์เมือง

pm2.5

สุขภาพพัง เสียหาย 2.1 แสนล้าน

รองศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นควัน PM 2.5 สร้างความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์ต่อครัวเรือนไทย

ซึ่งได้ทำการประเมินในส่วนของต้นทุนทางสังคมที่เกิดขึ้นกับครัวเรือน สะท้อนออกมาจากความพึงพอใจของคน เป็นการศึกษาในมุมมองเศรษฐศาสตร์เพื่อศึกษามูลค่าทางเศรษฐกิจจากผลกระทบของฝุ่นควัน PM 2.5 ที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพ โดยวัดจากหลักการมูลค่าความเต็มใจจ่าย (Willingness to Pay : WTP)

ทั้งนี้ พบว่าในปี 2562 “ต้นทุนมูลค่าความเสียหายด้านสุขภาพ” ของประชาชน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน จากผลกระทบของ PM 2.5 อยู่ที่ราว 219,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนข้อมูลปี 2566 อยู่ระหว่างประเมินความเสียหาย ซึ่งคาดว่าจะมีข้อมูลสูงกว่าช่วงปี 2562

ข้อมูลปี 2562 อันดับ 1 คือ จังหวัดเชียงใหม่ มีมูลค่าความเสียหายสูงถึง 68,600 ล้านบาทต่อปี มีสัดส่วนทั้งป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและป่วยแอบแฝงมากที่สุด อันดับ 2 จังหวัดเชียงราย 46,000 ล้านบาทต่อปี และอันดับ 3 จังหวัดลำปาง 23,000 ล้านบาทต่อปี

กราฟฟิก อัตราการตาย กราฟฟิก อัตราป่วยใหม่มะเร็ง กราฟฟิก การตายเชียงใหม่

ซึ่งเป็นการสูญเสียค่าใช้จ่ายจากการรักษาอาการป่วย สูญเสียโอกาสในการทำงานทั้งคนป่วย/คนดูแล สูญเสียร่างกายที่แข็งแรงจากการสะสมมลพิษ สูญเสียค่าใช้จ่ายซื้อหน้ากากอนามัย/เครื่องฟอกอากาศ และสูญเสียความสุข

โดยยังไม่รวมผลกระทบด้านอื่นที่เกิดมูลค่าความเสียหาย โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวอาจชะลอการเดินทางหรือยกเลิกการเดินทางมาท่องเที่ยวยังเชียงใหม่และภาคเหนือตอนบน ซึ่งทำให้เสียโอกาสที่จะได้รับรายได้จากการท่องเที่ยวอีกจำนวนมาก

รวมถึงการที่ผู้คนอาจอพยพไปที่อื่น หรือย้ายถิ่นฐานเพื่อหลีกหนี PM 2.5 จะส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ของจังหวัดเชียงใหม่ในฐานะเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจที่ควรมีมูลค่าที่ดินราคาแพง กลับมีมูลค่าราคาลดลง เพราะคนไม่อยากปักหลักใน “เมืองที่มีมลพิษ”

รองศาสตราจารย์ ดร.วิษณุกล่าวต่อว่า ผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ในมิติสังคมจะเกิดปัญหาตามมา เช่น คนไม่มีรายได้จากการท่องเที่ยว ความยากจนจะตามมา การศึกษาเข้าไม่ถึง สุดท้ายคนจะมีการศึกษาน้อยลง ทำให้จังหวัดเชียงใหม่หรือภาคเหนือ “เสื่อมถอยลง”

โดยเฉพะในแง่ของทุนมนุษย์ จะเกิดการเจ็บป่วยตั้งแต่เด็ก ทำให้สมองการเรียนรู้ต่าง ๆ ด้อยกว่าคนที่อยู่ในอากาศสะอาด ซึ่งในระยะยาวขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยจะด้อยลง เพราะทุนมนุษย์เกิดการเจ็บป่วย

ในระยะยาวผลกระทบที่มีต่อจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือตอนบน หากมองในมิติครัวเรือน หากค่าฝุ่นควัน PM 2.5 ยังคงอยู่ หรือมีระดับสูงขึ้น มูลค่าความสูญเสียหายและค่าเสียโอกาสจะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยว รวมถึงราคาอสังหาริมทรัพย์ที่อาจจะทรงตัว หรือเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยลง หรืออนาคตอาจเกิดการย้ายถิ่นฐานของผู้คนไปอยู่ในที่อากาศสะอาดเพิ่มมากขึ้น

ผ่าปัญหาโครงสร้าง แก้ฝุ่นพิษ

รองศาสตราจารย์ ดร.วิษณุกล่าวว่า การแก้ปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ต้องเร่งแก้เชิงโครงสร้าง กล่าวคือ

1.เร่งผลักดันให้หน่วยงานที่ดูแลงานด้านการจัดการฝุ่นพิษและมลพิษทางอากาศมีอำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการแก้ปัญหา และมีทรัพยากรบุคคลพร้อมงบประมาณที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหา

2.เร่งนำมาตรการแรงจูงใจเชิงเศรษฐศาสตร์มาใช้ให้มากขึ้น ด้วยการใช้นโยบายให้การช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไข และนำหลักการ “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” (Polluter Pays Principle : PPP) ควบคู่กับการจัดตั้ง “กองทุนอากาศสะอาด” ขึ้น เพื่อทำให้การแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษมีความเพียงพอ ต่อเนื่อง และทันเหตุการณ์

3.เร่งทบทวนนโยบายที่ใช้ในปัจจุบันที่ขัดแย้งกับการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ โดยในภาคเกษตรควรพิจารณาปรับใช้นโยบายการช่วยเหลือเกษตรกรให้เป็นแบบมีเงื่อนไขแทนการเยียวยาให้เปล่า โดยเฉพาะ “การไม่เผา” เพื่อเก็บเกี่ยวและจัดการแปลง และควรเร่งหาตลาดให้กับเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อทำให้เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมีราคาและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร

4.เร่งติดตั้งระบบตรวจสอบย้อนกลับการผลิตสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการเผา โดยเฉพาะข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อยโรงงาน ตลอดห่วงโซ่คุณค่าที่มีความโปร่งใส โดยร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม

ทั้งนี้ การนำเข้าข้าวโพดของไทยจากเมียนมาช่วยสนับสนุนการเผาให้เกิดขึ้นในเมียนมา คนไทยและคนเมียนมาที่ไม่เกี่ยวข้องก็ต้องสูดฝุ่นพิษจากเมียนมาที่ข้ามพรมแดนมา จึงควรเร่งติดตั้งระบบตรวจสอบย้อนกลับการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านโดยด่วน

5.การมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อากาศสะอาด ฉบับแรกของประเทศไทย เพื่อให้คนไทยทุกคนได้สูดอากาศสะอาดและมีสุขภาพที่ดีกันถ้วนหน้า อันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่คนไทยแต่ละคนพึงมี

ทั้งนี้ ปัญหาสำคัญหลายประการที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งปัจจุบันเน้นใช้การบังคับให้ปฏิบัติตาม ขณะที่มีการใช้มาตรการแรงจูงใจเชิงเศรษฐศาสตร์น้อยมาก งบประมาณที่ใช้แก้ปัญหาฝุ่นพิษมีน้อย ขาดความต่อเนื่อง และไม่ทันการณ์

หลายนโยบายที่ใช้ในปัจจุบันมีความขัดแย้งกันเอง อาทิ นโยบายให้การช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรแบบให้เปล่าที่ไม่มีเงื่อนไขใด ๆ เช่น การช่วยเหลือปัจจัยการผลิต การประกันราคาสินค้าเกษตร หรือการประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งไม่มีหน่วยงานที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการจัดการกับปัญหา ตอกย้ำการดูแลเรื่องมลพิษทางอากาศและกฎหมายที่เป็นแท่ง ๆ ไม่บูรณาการ ทำให้มาตรการต่าง ๆ ไม่สามารถบังคับใช้ได้จริงแม้จะมีแผนที่ดี

PM 2.5 กระตุ้นมะเร็งปอดพุ่ง

ศาสตราจารย์ (เชี่ยวชาญพิเศษ) นายแพทย์บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภูมิคุ้มกัน และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม เพราะ PM 2.5 ทำเกิดการอักเสบทั่วร่างกายได้ ซึ่งการเพิ่มขึ้นของ PM 2.5 ทุก 10 ไมโครกรัม ส่งผลให้อัตราการตายของผู้ป่วยโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 10% รวมถึงโรคอื่น ๆ ที่ตามมา

ทั้งนี้ จากข้อมูลปี 2566 และปี 2567 พบว่าผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง หอบหืด ภูมิแพ้ เลือดกำเดา โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เยื่อบุตาอักเสบ เพิ่มขึ้น 1.5 เท่าในปีนี้ เมื่อเทียบกับ 2566 ขณะที่เตียงผู้ป่วยของศูนย์หัวใจและเตียงของศูนย์สมองของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ขณะนี้เกือบจะเต็มศักยภาพแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมจำนวนเตียงของจังหวัดเชียงใหม่ทั้งหมดน่าจะเพียงพอรองรับผู้ป่วยได้อยู่

ขณะที่ข้อมูลผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดพบว่า อัตราของผู้ป่วยมะเร็งปอดในภาคเหนือยังคงสูงกว่าภาคอื่น ๆ ซึ่งอาจมีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค ด้วยอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นของ PM 2.5 ในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา เป็นปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดมากขึ้น และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของยีน

สอดคล้องกับ นายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ที่ระบุว่า PM 2.5 มีผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว เป็นปัจจัยเสี่ยงที่คุกคามสุขภาพของประชาชน ซึ่งโรคที่จะมีผลในระยะสั้นมีอยู่ด้วยกัน 4 กลุ่มโรค ได้แก่ 1.กลุ่มโรคทางเดินหายใจ 2.กลุ่มโรคตาอักเสบ 3.กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ 4.กลุ่มโรคหัวใจหลอดเลือด

ขณะที่ในระยะยาว จะมีผลให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงโรคมะเร็งในอวัยวะต่าง ๆ ด้วย โดยเฉพาะมะเร็งปอด หากไม่สามารถที่จะปกป้องตนเองได้

โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ รวบรวมข้อมูลจากผู้มารับบริการโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ (1 มกราคม 2567-6 เมษายน 2567) เปรียบเทียบผู้ป่วย ปี 2566 และปี 2567 พบว่า กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด มีผู้ป่วยมารับบริการ 57,714 ครั้ง ลดลงจากปีที่ผ่านมา 19,182 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 24.95

โรคผิวหนังอักเสบ 2,195 ครั้ง เพิ่มขึ้น 109 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 5.23 โรคตาอักเสบ 2,502 ครั้ง เพิ่มขึ้น 107 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 4.47 และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังชนิดเฉียบพลัน 2,691 ครั้ง ลดลง 409 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 13.19

สำหรับมาตรการจัดการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้ดำเนินการเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง โดยมีจำนวนกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ กลุ่มเด็ก (0-5 ปี) 101,837 ราย หญิงตั้งครรภ์ 3,339 ราย ผู้สูงอายุ 249,363 ราย กลุ่มผู้ป่วย (โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังชนิดเฉียบพลัน โรคหอบหืด โรคหัวใจขาดเลือด และผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง) 16,143 ราย

วงจรปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ยังวนเวียนกัดกร่อนร่างกาย และจิตใจประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือไปเช่นนี้จนจบฤดูกาล เพื่อรอลุ้นการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาปีต่อไป ขณะที่การสูญเสียคุณภาพชีวิต สุขภาพของประชาชนที่ถูกเกาะกินจากมลพิษในน้ำมือมนุษย์ด้วยกัน ส่งผลมหาศาลทวีคูณ หากประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์

ตอนนี้ประชาชนทั้งภาคเหนือกำลังเฝ้ารอแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ “เด็ดขาด ครบวงจร ยั่งยืน” และผู้บริหารประเทศที่เฉียบคมในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนตามสิทธิอากาศสะอาดในอนาคต ภายใต้กฎหมายอากาศสะอาดที่มีผลบังคับใช้และมีพลังการเปลี่ยนแปลง