กว่า 2 ปีที่รัฐบาล โดยคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ได้ประกาศให้ 5 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย กาญจนบุรี หนองคาย นครพนม และนราธิวาส เป็นพื้นที่จัดตั้งเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ระยะสอง ถึงวันนี้การเปิดประมูลเพื่อสรรหาเอกชนเข้าพัฒนา หลายจังหวัดยังรอลุ้นกันอีกหลายยกทีเดียว
“กาญจน์” เปิดยื่นซอง 15 พ.ค.นี้
เริ่มจากจังหวัดกาญจนบุรี หลังจากมีการยกที่ดินบริเวณบ้านพุน้ำร้อนจากกองทัพบก คืนให้กรมธนารักษ์ เพื่อนำไปพัฒนาและจัดสรรงบประมาณเพื่อก่อสร้างด่านศุลกากร แต่หลังจากนั้นไม่มีความคืบหน้า
นายสมภพ ธีระสานต์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมภาคกลาง บอกว่า ภาคเอกชนได้เสนอนายกรัฐมนตรีว่า หากไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปพัฒนา ทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมกับหอการค้าจังหวัดกาญจนบุรี จะขออนุญาตพัฒนา SEZ บนเนื้อที่ 500 ไร่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นชอบ แต่กระทรวงการคลังเห็นว่า ตามระเบียบควรให้กรมธนารักษ์เปิดประมูลหาเอกชนเข้าลงทุน
รายงานข่าวระบุว่า ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 กรมธนารักษ์ได้ให้ผู้สนใจลงทุนพัฒนาที่ดินราชพัสดุ ในพื้นที่ SEZ ระยะที่ 2 จังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ 2,979 ไร่ มายื่นซองประมูล โดยจะให้สิทธิแก่ผู้ลงทุนเช่าที่ดินราชพัสดุเป็นเวลา 50 ปี เสนอผลประโยชน์ตอบแทนไม่ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อไร่ รวมเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 59,583,600 บาท
นายปัญญา วุฒิประจักษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า ส่วนเสริมที่จะทำให้จังหวัดกาญจนบุรีมีศักยภาพมากขึ้นในทางการค้าคือการประกาศให้เป็นเขต SEZ เฟส 2 ความคืบหน้า กรมธนารักษ์ได้รับมอบพื้นที่จากกองทัพบก จำนวน 2,979 ไร่
และได้ประกาศเชิญชวนนักพัฒนาและนักลงทุนมายื่นซอง โดยมีผู้สนใจประมาณ 14 ราย ประกอบด้วยบริษัทใหญ่ ๆ เช่น บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทคอน โลจิสติกส์ พาร์ค จำกัด, บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด, บริษัท เคเทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท แม่สอดยืนยง เป็นต้น และในช่วงเดือนมิถุนายน 2561 จะประกาศผลการคัดเลือก ทำให้เห็นความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
“นครพนม” เปิดยื่นซอง 20 พ.ค.
ขณะที่เขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม ซึ่งถือเป็นชัยภูมิที่เหมาะสม เนื่องจากมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 การคมนาคมสะดวก มีศักยภาพสามารถส่งสินค้าไปสู่เวียดนามและจีนตอนใต้ได้
นายสุรัตน์ ก้องเกียรติกมล ประธานหอการค้าจังหวัดนครพนม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2561 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้เปิดให้เอกชนมายื่นเอกสารเสนอแผนพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครพนม บนพื้นที่ 1,400 ไร่ หลังเปิดให้มาซื้อซองตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561 ปรากฏว่า มีผู้มาซื้อซองทั้งหมด 10 ราย
มีทั้งทุนท้องถิ่นและเครือของรายใหญ่ ส่วนมากสนใจลงทุนด้านโลจิสติกส์ เช่น บริษัท ไทคอน โลจิสติกส์ พาร์ค จำกัด ในเครือของกลุ่มนายเจริญ สิริวัฒนภักดี, บริษัท คิว เอเชีย เอ็นเนอร์จี จำกัด, บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล พาร์ท ดิสตรีบิวเตอร์ จำกัด, บริษัท สมาร์ท สวีท จำกัด, กิจการร่วมค้า วีดู-เอ็มไอดี และบริษัท พันปี กรุ๊ป (ไทย ลาว กัมพูชา) จำกัด ขณะที่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมาซื้อซอง 4 ราย ได้แก่ บริษัท ทริปเปิล มิลเลี่ยน คอนส์ จำกัด, บริษัท สามัคคีที่ดินและการเคหะ จำกัด, บริษัท จตุรมาศ จำกัด และบริษัท นำสมัยนครพนม จำกัด ทั้งนี้ ภาครัฐจะพิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอที่ดีที่สุดให้เพียงรายเดียว
“ที่ผ่านมาหอการค้าจังหวัดนครพนมเสนออยากให้สนามบินนครพนมเป็นสถานีเติมน้ำมันเครื่องบิน จะทำให้เกิดการขนส่งทางอากาศ เป็นเขตการนำเข้า-ส่งออกสินค้า ระหว่างไทย-สปป.ลาว-เวียดนาม และจีนตอนใต้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมูลค่านำเข้าและส่งออกของจังหวัดอยู่ที่ประมาณแสนล้านบาท หากเขตเศรษฐกิจพิเศษเกิด จะทำให้มีโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาลงทุน นักธุรกิจท้องถิ่นสามารถเข้าไปร่วมทุนหรือเข้าไปลงทุนได้ จะส่งผลให้มูลค่าการค้าข้ามแดนจะสูงถึง 2 แสนล้านบาท”
“หนองคาย” อัดP.R. ดึงนักลงทุน
สำหรับจังหวัดหนองคาย หลังจาก กนพ.ได้ประกาศให้พื้นที่ 13 ตำบล 2 อำเภอ คือ อำเภอเมือง จำนวน 12 ตำบล และอำเภอสระใคร จำนวน 1 ตำบล เป็นพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 2 แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการเดินหน้าโครงการ
นายสมหวัง อารีย์เอื้อ ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัด เปิดเผยว่า กรมธนารักษ์ได้ดำเนินการเปิดประมูลเพื่อสรรหาผู้ลงทุนพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย จำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรก วันที่ 11-17 เมษายน 2559 มีผู้สนใจซื้อซอง 11 ราย แต่ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอ และครั้งที่ 2 วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560-21 มีนาคม 2560 มีผู้ยื่นซองประมูล 1 ราย แต่ไม่ผ่านหลักเกณฑ์การประเมิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้กรมธนารักษ์ยังไม่ได้กำหนดการเปิดประมูลรอบที่ 3 แต่ทางจังหวัดและ กนพ.ได้จัดงบประมาณเพื่อทำแผนประชาสัมพันธ์ให้นักลงทุนทั้งไทย ลาว และเวียดนาม ทราบถึงนโยบายดังกล่าว
“SEZ เฟส 2 นราธิวาส” ไม่คืบ
ด้านจังหวัดนราธิวาส ตามแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เฟส 2 กำหนดให้มีนิคมอุตสาหกรรมนราธิวาส และมีการปรับปรุงด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก และขยายด่านศุลกากรบูเก๊ะตา ระยะ 3
นายกิตติ หวังธรรมมั่ง ประธานสภาหอการค้าจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ในส่วนเศรษฐกิจพิเศษ เฟส 2 จังหวัดนราธิวาสนั้น เบื้องต้นยังไม่มีความคืบหน้าจากเขตเศรษฐกิจพิเศษ เฟส 1 มากนัก โดยมีโครงการต่าง ๆ ที่เตรียมจัดทำเพิ่มเติม เช่น โครงการศูนย์โอท็อป และร้าน Duty Free เพื่อดึงการท่องเที่ยว และการกระจายสินค้า แต่ขึ้นกับงบประมาณที่ภาครัฐจะจัดเตรียมและพิจารณาให้ในปี 2562 จึงจะสามารถดำเนินงานต่อได้
“เชียงราย”ทำผังเมืองใหม่
เชียงรายถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ยังไม่มีความชัดเจน แม้รัฐบาลจะประกาศที่ตั้งเขต SEZ เฟส 2 ในพื้นที่ 21 ตำบล 3 อำเภอ ได้แก่ แม่สาย เชียงแสน และเชียงของ รวม 952,266.46 ไร่ ล้วนมีปัญหาทั้งสิ้น โดยที่ อ.แม่สาย เป็นที่ราชพัสดุดูแลทางโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลังเข้าไปใช้ประโยชน์ โดยมีประชาชนจำนวนมากปลูกใบยาสูบเป็นพืชเศรษฐกิจ ทำให้มีกลุ่มชาวบ้านต่อต้านหลายครั้ง ส่วน อ.เชียงแสน มีผู้ใช้ประโยชน์เรียกร้องค่าชดเชยสูงกว่าไร่ละ 1 ล้านบาท ขณะที่ อ.เชียงของ กลุ่มองค์กรเอ็นจีโอและเครือข่ายชาวบ้านต่อต้าน เพราะมีสภาพเป็นป่าชุมชน ส่งผลให้ยังไม่อาจระบุพื้นที่ชัดเจนในการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษได้
นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร อดีตผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย กล่าวว่า หากมองในภาพรวมอาจดูเหมือนการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษไม่มีการขับเคลื่อน แต่ในความเป็นจริงทางจังหวัดกำลังเสนอขอแก้ไขปรับปรุงเรื่องผังเมือง เนื่องจากมีข้อจำกัดในการดำเนินการ โดยเฉพาะการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมบางประเภท ซึ่งติดปัญหามาตั้งแต่ปี 2557 ขณะเดียวกันเมื่อรัฐบาลได้ปลดล็อกอุตสาหกรรมบางประเภทที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสามารถจัดตั้งได้ในเกือบทุกพื้นที่ ดังนั้นจะมีการผลักดันการจัดทำผังเมืองใหม่ให้สอดคล้องกัน