กรมชลฯลุยแหล่งน้ำต้นทุน รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษตาก

จากนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตากของรัฐบาล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคและลดความเหลื่อมล้ำ “กรมชลประทาน” ได้จัดเตรียมแผนศึกษาการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษตาก โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้พาคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดตาก เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการ

“นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์” รองอธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พื้นที่ที่จะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตากนั้น ประกอบด้วย อำเภอแม่สอด อำเภอพบพระ และอำเภอแม่ระมาด ซึ่งมีการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรเป็นหลัก ทั้งข้าวโพด และพืชเมืองหนาว ดังนั้นการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษของกรมชลประทาน จึงเน้นหลักที่การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรที่อาจต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมการแปรรูปทางการเกษตร แตกต่างจากพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเน้นหลักไปที่การจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และอุตสาหกรรม

 

3 อ่างนำร่อง 5 พันล้านบาท

ในระยะแรก กรมชลประทานมีแผนงานในการศึกษาการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 พื้นที่ คาดการณ์งบประมาณก่อสร้างรวม 7,300 ล้านบาท ได้แก่ 1.อ่างเก็บน้ำแม่กึ๊ดหลวงตอนบน อ.แม่สอด ค่าก่อสร้างประมาณ 397 ล้านบาท ความจุเก็บกัก 2.37 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการชลประทานกว่า 3,000 ไร่ 2.อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ละเมาตอนกลาง-บ้านใหม่พัฒนา 

อ.แม่สอด ค่าก่อสร้างประมาณ 1,543 ล้านบาท ความจุกักเก็บ 85 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำส่วนใหญ่จะใช้ผันไปเพิ่มเติมในพื้นที่ชลประทานเขื่อนน้ำโกกโก่จากเดิม 16,800 ไร่ เป็น 70,000 ไร่ และ 3.อ่างเก็บน้ำห้วยอุ้มเปี้ยมตอนบน อ.พบพระ ค่าก่อสร้างประมาณ 5,379 ล้านบาท ความจุเก็บกัก 84.07 ล้าน ลบ.ม. จะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการชลประทาน 38,000ไร่ ทั้ง 3 โครงการดังกล่าวจะจัดทำการศึกษาให้เสร็จสิ้นภายในปี 2561 และนำเสนอเข้าสู่รัฐบาลปี 2562 หากได้รับการอนุมัติ คาดว่าภายใน 3-4 ปีจะสร้างแล้วเสร็จ

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำทั้ง 3 พื้นที่ดังกล่าวของกรมชลประทาน เป็นเพียงแผนงานนำร่องเท่านั้น โดยมีการจัดทำแผนระยะยาว 20 ปี 4 ระยะ เพื่อการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตากอีกกว่า 153 โครงการ แบ่งเป็นโครงการพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 21 โครงการ และพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กอีก 132 โครงการ งบประมาณรวม 24,690.93 ล้านบาท มีพื้นที่ชลประทานรับประโยชน์เพิ่มขึ้น 384,629 ไร่ และมีความจุน้ำเก็บกักรวมกว่า 366.17 ล้าน ลบ.ม.

ในระยะแรก พ.ศ. 2560-2564 จำนวน 3,115 ล้านบาท เป็นโครงการแหล่งน้ำขนาดกลาง 4 โครงการ มูลค่า 2,128.39 ล้านบาท โครงการแหล่งน้ำขนาดเล็ก 70 โครงการ มูลค่า 986.72 ล้านบาท มีพื้นที่ชลประทานรับประโยชน์เพิ่มขึ้น 104,195 ไร่ ระยะที่ 2 พ.ศ. 2565-2569 จำนวน 9,244 ล้านบาท เป็นโครงการแหล่งน้ำขนาดกลาง 7 โครงการ มูลค่า 8,816.14 ล้านบาท และโครงการแหล่งน้ำขนาดเล็ก 62 โครงการ มูลค่า 597.43 ล้านบาท มีพื้นที่ชลประทานรับประโยชน์เพิ่มขึ้น 157,534 ไร่ ระยะที่ 3 พ.ศ. 2570-2574 จำนวน 2,520.66 ล้านบาท เป็นโครงการแหล่งน้ำขนาดกลางทั้งหมด 4 โครงการ มีพื้นที่ชลประทานรับประโยชน์เพิ่มขึ้น 16,700 ไร่ และระยะที่ 4 พ.ศ. 2575-2579 อีกจำนวน 9,641.59 ล้านบาท เป็นโครงการแหล่งน้ำขนาดกลางทั้งหมด 6 โครงการ มีพื้นที่ชลประทานรับประโยชน์เพิ่มขึ้น 106,200 ไร่ 

 

คาดอ่างป้องกันแล้ง-ท่วม

ขณะที่ “นายยิ่งปลิว ศุภกิตติวงศ์” ผู้จัดการโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อรองรับเขตเศรษกิจพิเศษตาก บริษัท วายพี คอนซัลแตนท์ จำกัด กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดตากทั้ง 3 อำเภอ ได้แก่ พบพระ แม่สอด และแม่ระมาด ที่ผ่านมามีปัญหาน้ำไม่พอต่อการทำเกษตรกรรมในฤดูแล้ง หรือในช่วงเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนเมษายน ซึ่งจะมีน้ำเพียง 20% ของปริมาณน้ำรวมทั้งปี ในขณะที่อีก 80% เป็นปริมาณน้ำในช่วงเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนตุลาคม 

ทั้งนี้ ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยของทั้ง 3 พื้นที่ อยู่ที่ราว 400 ลบ.ม./ปี แต่ไม่มีการกักเก็บในฤดูน้ำหลากมาสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้ง อีกทั้งการสูบน้ำสำหรับการเกษตรและผลิตน้ำประปาจากแม่น้ำเมยยังทำได้ยาก เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ชายแดนรอยต่อไทย-เมียนมา และมีการขนส่งสินค้าทางเรือผ่านทางแม่น้ำ ทำให้การสูบน้ำจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังเพราะอาจเกิดเหตุพิพาทจากการสร้างความเสียหายในการขนส่งสินค้าได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างอ่างเก็บน้ำ เพื่อให้เกษตรกรสามารถมีน้ำใช้สำหรับการเกษตรโดยไม่ขาดแคลน รวมไปถึงยังสามารถกักเก็บน้ำในฤดูน้ำหลากเพื่อป้องกันน้ำหลากท่วมตัวอำเภอได้อีกด้วย

แม้แผนระยะยาวอัดฉีดงบประมาณหนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำในเขตเศรษฐกิจพิเศษจะชัดเจน แต่เขตเศรษฐกิจพิเศษจะไปถึงฝันของรัฐบาลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับนักลงทุนที่ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการเป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษ”