สวนยางพัทลุงโวย อปท.ไร้งบทำถนนพาราซีเมนต์

ฤดูผลัดใบ - ขณะนี้ยางพาราพื้นที่ภาคใต้กำลังเข้าส่ฤู ดูกาลผลัดใบทำให้หลายจังหวัดทยอยหยุดกรีดยาง ปริมาณน้ำยางสดออกสู่ตลาดน้อย แต่ราคาไม่ได้ขยับขึ้นมากนัก

ชาวสวนยางพัทลุงโวยนโยบายรัฐอุ้มสวนยางไร้ผล เหตุ อปท.บางพื้นที่ ไม่มีงบประมาณลุยทำ “ถนนยางพาราซอยล์ซีเมนต์” ส่งผลราคาน้ำยางสดไม่ขยับ

นายไพรัช เจ้ยชุม ประธานกรรมการ ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดพัทลุง จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สวนยางพาราส่วนใหญ่เข้าสู่ฤดูกาลผลัดใบ ชาวสวนยางพาราจังหวัดต่าง ๆ จะเริ่มทยอยหยุดกรีด ยกเว้นที่ จ.พัทลุง ยังสามารถกรีดได้ 1-2 เดือน ส่งผลให้ปริมาณยางพาราจะเริ่มหดหายไปจากตลาด แต่ราคาน้ำยางสดกลับไม่ขยับขึ้นมากนัก โดยภาวะราคาน้ำยางสดไม่สมดุลกับยางแผ่นรมควัน เช่น ยางพารารมควัน ราคา 44 บาทเศษ/กก. ขณะที่น้ำยางสดอยู่ที่ 41 บาท/กก. ทั้งที่การผลิตยางแผ่นรมควันมีต้นทุนการผลิตประมาณ 5-7 บาท/กก.

“ปัจจัยสำคัญที่จะดันให้ราคาเคลื่อนไหวได้ คือ นโยบายโครงการถนนยางพารา 1 หมู่บ้าน 1 กม. โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำน้ำยางพาราไปสร้างถนนยางพาราซอยล์ซีเมนต์ 7.5 หมื่นหมู่บ้าน วงเงินรวม 9.23 หมื่นล้านบาทนั้น จนถึงตอนนี้ไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย เพราะ อปท. เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด บางแห่งมีงบประมาณ แต่บางแห่งไม่มีงบประมาณ ดังนั้น การจะแก้ปัญหาให้ได้ผล รัฐบาลต้องมีงบประมาณชัดเจนในการทำโครงการ เหมือนกับโครงการต่าง ๆ ที่รัฐบาลส่งตรงถึงประชาชน เช่น โครงการสร้างอาชีพ สร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชน หมู่บ้านละ 200,000-300,000 บาท เป็นต้น

นายไพรัชกล่าวอีกว่า สำหรับทิศทางยางพารา ในปี 2562 ยังไม่ชัดเจน ดังนั้น หลังการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่ต่อยอดขยายผลนโยบายนำยางพารามาทำถนนยางพาราซอยล์ซีเมนต์ 1 หมู่บ้าน ถนนยางพาราซอยล์ซีเมนต์ 1 กิโลเมตร โดยรัฐบาลจัดสรรงบประมาณโดยตรงแล้วส่งผ่าน อปท.แต่ละแห่งลงมา พร้อมระบุให้ชัดเจนว่า สร้างถนนยางพาราซอยล์ซีเมนต์ เพื่อดันราคายางพาราให้ขยับขึ้น ทั้งนี้ ราคายางพาราตามเป้าหมายอยู่ในเกณฑ์ที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี ราคาประมาณ 65 บาท/กก.

“เมื่องบประมาณถึงโดยตรง ทำถนนได้ทันที ราคายางพาราจะปรับขึ้น เพราะยางพาราจะไม่ออกตลาด มีผลต่อตลาดทันที พ่อค้าจะต้องหาซื้อแข่งขันกัน เพื่อส่งมอบตามสัญญา”

นายชำนาญ เมฆตรง ประธานกรรมการ ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสยท.) เปิดเผยว่า ในปีนี้ในกลุ่มตน ในฐานะผู้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากยางพารา ทั้งหมอน แผ่นรองพื้น ทำสนามฟุตซอล ฯลฯ โดยเฉพาะสนามฟุตซอล ได้รับการตอบรับที่ดีมาก โดยมีคำสั่งซื้อมาจากต่างจังหวัดทางภาคอื่น ๆ เป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากงานที่เข้ามาปริมาณมาก ต้องยกเลิกการแปรรูปผลิตบางยาง เช่น รองเท้าแตะจากยางพารา คู่ละ 299 บาทไว้ก่อน ทั้งที่ผลิตภัณฑ์มียอดจำหน่ายที่พอไปได้ เพราะขณะนี้รองเท้าจากยางพารารูปแบบต่าง ๆ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามลำดับ

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!