4 จังหวัดใหญ่ฝ่าด่านภัยแล้ง กว้านหาแหล่งน้ำตุน “อุปโภค-บริโภค”

ปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยา ประเมินว่าฤดูร้อนมาเร็วและนานกว่าทุกปี ล่าสุดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 3 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ และตราด ณ วันที่ 26 มีนาคม 2562

ขณะที่น้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศมีปริมาตร 44,759 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 63% เป็นปริมาตรน้ำใช้การได้ 21,217 ล้าน ลบ.ม. หรือ 45% เมื่อเทียบกับปีก่อน พบว่า มีปริมาตรน้ำในอ่างน้อยกว่า 3,721 ล้าน ลบ.ม. โดยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 5 แห่ง จาก 35 แห่งทั่วประเทศ มีปริมาตรน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยกว่า 30% ได้แก่ เขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี, เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น, เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี

หนองคายหวั่นกระทบส่งออก

“อนุชิต สกุลคู” ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดหนองคาย และกรรมการบริหาร บริษัท เจียงอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กลุ่มทุนใหญ่ จ.หนองคาย กล่าวว่า พืชผลทางการเกษตรเป็นสิ่งที่แรกที่จะได้รับผลกระทบ โดยหนองคายมีการส่งผัก และผลไม้จำหน่ายเข้าสู่โรงงาน และส่งออก สปป.ลาว โดยเฉพาะจุดผ่อนปรนบ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ ถือเป็นจุดส่งออกผักและผลไม้ขนาดใหญ่ มูลค่ากว่า 500 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น หากมีผลผลิตน้อย จะกระทบต่อการส่งออกทันที

“สำหรับธุรกิจในเครือบริษัท เจียงอินเตอร์เนชั่นแนล อาจได้รับผลกระทบจากการจำหน่ายเครื่องยนต์และเครื่องมือทางการเกษตรได้ลดลง ในกรณีที่สถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงระยะเวลาไม่เกิน 2-3 เดือน เนื่องจากเกษตรกรอาจจะพักทำการเกษตร แต่ที่ผ่านมาหนองคายถือว่าโชคดีมีน้ำโขงและมีโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้ามากถึง 95 แห่ง สามารถแก้ปัญหาภัยแล้งได้เป็นอย่างดี”

“ภูเก็ต” ห่วงฝนทิ้งช่วง

“สมใจ สุวรรณศุภพนา” นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า เทศบาลนครภูเก็ตให้บริการน้ำประปาในเขตเทศบาลและใกล้เคียง 18,096 หลังคาเรือน เฉลี่ยวันละ 2.3 หมื่น ลบ.ม. โดยน้ำดิบที่ผลิตน้ำประปามาจากขุมน้ำเทศบาล ขุมเหมืองเอกชน และเขื่อนชลประทานบางวาด ซึ่งขณะนี้เหลือน้ำดิบราว 60% เมื่อเทียบปี 2561 ลดลงกว่า 30% แต่ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต เนื่องจากระบบผลิตน้ำประปามีอยู่ 3 สถานี สามารถเชื่อมโยงและช่วยเหลือแลกเปลี่ยนน้ำได้ ได้แก่ น้ำดิบในระบบผลิตถนนดำรง และระบบผลิตขุมน้ำเทศบาล คงเหลือ 8.94 แสน ลบ.ม. สามารถใช้ได้ 36 วัน และน้ำดิบในระบบผลิตขุมน้ำสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติฯ คงเหลือ 8.08 หมื่น ลบ.ม. สามารถใช้ได้ 54 วัน

“หากฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน อาจทำให้ขาดแคลนน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำประปา เทศบาลจึงมีแผนเตรียมรับมือและป้องกันการขาดแคลนน้ำในช่วงสถานการณ์ภัยแล้ง คือ ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด เตรียมภาชนะเก็บน้ำประปาไว้ใช้ ในกรณีน้ำประปาไหลอ่อน หรือน้ำไม่ไหล หากปริมาณน้ำดิบในแหล่งน้ำไม่เพิ่มขึ้น เทศบาลนครต้องลดแรงดันระบบจ่ายน้ำประปาในช่วงเวลา 10.00-17.00 น. และ 22.00-05.00 น. รวมถึงจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เทศบาลนครภูเก็ต และกำหนดจุดแจกจ่ายน้ำ 3 จุด” สมใจกล่าว

“เพชรบูรณ์” ขอฝนหลวงเติม

“ชาญชัย วงศ์สถาน” นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า เพชรบูรณ์มีพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทาน 20% และนอกเขต 80% ส่วนนี้อยู่ในระยะเฝ้าระวัง ซึ่งเกษตรกรมีการเตรียมความพร้อมอยู่แล้วและน่าจะไม่มีปัญหา เพราะขณะนี้อยู่ในช่วงเก็บเกี่ยว ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำ เช่น อ.หล่มสัก โซนทางเหนือ หรือริมแม่น้ำป่าสัก ขณะที่เขื่อนป่าแดง อ.เมืองเพชรบูรณ์ ตอนนี้ไม่สามารถส่งน้ำให้เกษตรกรได้ และแจ้งเตือนเกษตรกรแล้ว ว่าสามารถส่งน้ำได้เฉพาะเพื่อการอุปโภค-บริโภคเท่านั้น

“จังหวัดเพชรบูรณ์ได้ประชุมคณะกรรมการศูนย์ติดตามภัยพิบัติจังหวัดเพชรบูรณ์เดือนละครั้ง ในช่วงฤดูแล้งทางกระทรวงให้ประชุมทุกวันพฤหัสบดี และรายงานไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทุกวันศุกร์ อีกทั้งประสานสำนักงานฝนหลวงภาคเหนือ ขอเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนป่าแดงและเขื่อนป่าเลา อ.เมืองเพชรบูรณ์ ที่อยู่ติดทางเขาค้อ ซึ่งมีปัญหาเรื่องประปาวิกฤต” ชาญชัยกล่าว

คาดลุ่มน้ำปิงตอนบนรอดแล้ง

“จานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ” ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ คาดการณ์ว่าฤดูแล้งปี 2562 ลุ่มน้ำปิงตอนบนในเขตชลประทานที่ 1 ครอบคลุม 11 อำเภอในเชียงใหม่ และ 4 อำเภอในลำพูน ไม่มีปัญหาภัยแล้ง และคาดว่าสามารถบริหารจัดการน้ำจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2562 รวมถึงในวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 โครงการเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ จะมีน้ำเหลือประมาณ 45 ล้าน ลบ.ม. สำหรับเตรียมแปลงต้นกล้าฤดูฝนปี 2562 ขณะนี้มีปริมาณน้ำ 201.40 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 76.0% น้อยกว่าปี 2561 ราว 1.84%

โดยปี 2562 จัดสรรน้ำลงลำน้ำปิงตามแผน 110 ล้าน ลบ.ม. แบบรอบเวรแบ่งเป็น 25 งวด โดยล่าสุดส่งน้ำแล้ว 11 งวด รวม 38.59 ล้าน ลบ.ม. เหลือน้ำที่เตรียมจัดสรรอีก 72.16 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับความต้องการใช้น้ำช่วงฤดูแล้ง-ปลายเดือนพฤษภาคม 2562 มาจาก 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ภาคเกษตร พื้นที่ 161,901 ไร่ มีความต้องการใช้น้ำ 180 ล้าน ลบ.ม. ภาคอุปโภค-บริโภค มีความต้องการใช้น้ำ 21 ล้าน ลบ.ม. และภาคกิจกรรมประเพณี การท่องเที่ยว (สงกรานต์) มีความต้องการใช้น้ำ 1 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ มีความต้องการใช้น้ำรวม 202 ล้าน ลบ.ม. โดยใช้น้ำจากเขื่อนแม่งัดฯ 110 ล้าน ลบ.ม. และ Base Flow 92 ล้าน ลบ.ม.