นพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้ว่าการ กปภ. กู้วิกฤตแล้งยาวถึง พ.ค.-มิ.ย.

สัมภาษณ์

สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เริ่มเห็นได้ชัดจากแหล่งน้ำต่าง ๆ ทั้งยังมีข้อกังวลถึงน้ำที่จะนำไปใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค การเกษตร รวมถึงภาคอุตสาหกรรม โดยสถานการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีมาอย่างยาวนาน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในแต่ละปี ว่าจะรุนแรงเพียงใด ขณะเดียวกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการคาดการณ์ประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า ที่สำคัญมีการเตรียมรับมือไว้ในระดับหนึ่ง

เช่นเดียวกับการประปาส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้บริการน้ำแก่ประชาชนทั่วประเทศ เมื่อเร็ว ๆ นี้ “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “นพรัตน์ เมธาวีกุลชัย” ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ถึงภาพรวมสถานการณ์ภัยแล้ง และแนวทางรับมือในปี 2562

โดย “นพรัตน์ เมธาวีกุลชัย” เปิดเผยว่า กปภ.ได้เตรียมการไว้ในระดับหนึ่งแล้ว โดยศึกษาความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งจากจำนวนประชากร สถานการณ์ใช้น้ำปัจจุบันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อุณหภูมิที่สูงขึ้น รวมถึงประสานการทำงานกับหน่วยงานรัฐอื่น ๆ ประชุมร่วมกันทุกเดือน และวางแผนล่วงหน้า 3 เดือน โดยมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งปี 2562 ฝนเริ่มทิ้งช่วงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ทำให้มีความกังวลว่าอาจเกิดสถานการณ์แล้งยาว ทำให้ กปภ.ต้องเตรียมการหากแล้งยาวถึงเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ทั่วประเทศยังอยู่ในวิสัยที่สามารถควบคุมได้

ช่วงหน้าร้อนของแต่ละปีนั้น กปภ.สามารถผลิตน้ำเพื่อจำหน่ายได้ราว 1,300 ลูกบาศก์เมตร โดยช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมเป็นช่วงที่มีการใช้น้ำสูงที่สุดของปี โดยอาจมากกว่าช่วงเวลาปกติประมาณ 20% ขณะที่ช่วงฤดูหนาวมีการใช้น้ำลดลงจากปกติราว 10% โดยแหล่งน้ำหลักที่นำมาใช้ ได้แก่ แม่น้ำ สระเก็บน้ำ คลองชลประทาน

ปัญหาภัยแล้งเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข ระยะยาว ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) มีการจัดทำแผนระยะยาวเพื่อรับมือสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ที่มีแนวโน้มเกิดความแห้งแล้ง เช่น การขุดสระน้ำดิบเพิ่มเติม โดย กปภ.ประสานงานและสนับสนุนข้อมูล รวมถึงประสานกรมชลประทานเรื่องเส้นทางน้ำที่จะไหลสู่ที่กักเก็บ ซึ่งภูเก็ตเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ได้รับความนิยมในการท่องเที่ยว แต่ไม่มีแม่น้ำหรือแหล่งน้ำหลักเพื่อการอุปโภคบริโภคได้เพียงพอ ทว่า ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตมีเหมืองเก่าซึ่งมีน้ำสะสมในช่วงฤดูฝนจำนวนมาก ทำให้มีแหล่งน้ำดิบสำรองมากพอสมควร

นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่เฝ้าระวังราว 15 แห่งทั่วประเทศ โดยยังเพียงพอสำหรับการใช้เพื่ออุปโภคบริโภค แต่อาจไม่พอสำหรับทำกิจการอื่น ทั้งนี้ ยังสามารถควบคุมได้ อีกทั้งยังมี 4 พื้นที่ใกล้ชายทะเลที่มีเรื่องน้ำทะเลหนุน อาจกระทบแหล่งน้ำจืด

และส่วนการใช้น้ำและการบริหารจัดการน้ำในภูมิภาคต่าง ๆ อีก 5 ปีข้างหน้าเป็นอย่างไร “นพรัตน์” กล่าวว่า วิธีคิดง่าย ๆ คือ ที่ใดมีคนจำนวนมาก จะมีการใช้น้ำมาก กปภ.ต้องรีบพยายามจัดสรรน้ำ เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่รัฐบาลพูดถึง เมื่อมีคนมาอยู่อาศัยและลงทุนมาก จะมีการใช้น้ำมากขึ้น ซึ่งคาดการณ์ว่าอาจจะเป็นกรุงเทพฯ 2 ซึ่งต้องเตรียมให้พร้อม ขณะนี้ กปภ.ลงทุนไปค่อนข้างมากแล้ว รวมถึงพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น อ.แม่สอด จ.ตาก, อ.สะเดา จ.สงขลา ฯลฯ ประกอบกับบางพื้นที่ที่ถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น จ.เชียงใหม่, เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี, พัทยา จ.ชลบุรี, จ.ภูเก็ต, อ.ชะอำ และหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

“ปีงบประมาณ 2563 กปภ.ได้เสนอของบประมาณราวหมื่นล้านบาท โดยโครงการหลักเป็นไปตามแผนระยะยาวของ กปภ. คือมุ่งเน้นพื้นที่ที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โครงการที่สำคัญอย่างอีอีซี เมืองเศรษฐกิจชายแดน อีกส่วนหนึ่งคือเมืองที่มีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ก็จะกลับไปตอบโจทย์เมืองที่มีคนเยอะ จะต้องทำน้ำประปาเข้าไปเยอะหน่อย ซึ่งแม้จะเสนอขอไปราวหมื่นล้านบาท แต่เมื่อรัฐบาลพิจารณาตามความสำคัญแล้ว อาจจะได้มาราว 4-5 พันล้านบาท”