กรมชลฯลุยแก้แล้ง “แม่น้ำยม” ลุ้นตั้ง “อาคารบังคับน้ำ” แพร่-สุโขทัย

“แม่น้ำยม” แม่น้ำสายสำคัญที่ไหลพาดผ่านหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของผู้คนตั้งแต่จังหวัดแพร่ สุโขทัย พิษณุโลก ไปจนถึงจังหวัดพิจิตร ในช่วงฤดูฝนมักประสบกับปัญหาปริมาณน้ำหลากล้นตลิ่ง ส่วนในฤดูแล้งขาดแคลนจนไม่เพียงพอต่อการนำไปใช้เพื่ออุปโภคหรือบริโภคได้

โดยเฉพาะในเขต อ.ลอง อ.วังชิ้น จ.แพร่ และ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย กรมชลประทานจึงได้ศึกษาและติดผลการดำเนินงาน “โครงการสร้างอาคารบังคับน้ำเพื่อวิเคราะห์ความเหมาะสม ผลกระทบสิ่งแวดล้อม” ซึ่งเป็นหนึ่งขั้นตอนของการดำเนินการก่อสร้าง ที่คาดว่าจะสิ้นสุดลงภายในเดือนกรกฎาคม 2562

“เฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์” รองอธิบดีกรมชลประทานฝ่ายวิชาการ กล่าวว่า โครงการสร้างอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำยมมี 4 งานหลัก คือ 1.ทบทวนแผนหลักการบริหารจัดการน้ำและการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบในลุ่มน้ำยม 2.ศึกษาความเหมาะสม (FS) โครงการอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำยม อย่างน้อย 4 โครงการ 3.ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการประชาสัมพันธ์ มวลชนสัมพันธ์ และการมีส่วนรวมของประชาชน และงานสนับสนุนการศึกษา 4.เมื่อได้ผลการศึกษาเสร็จสิ้นแล้ว จะต้องส่งไปให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สพ.) พิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ จะดำเนินการก่อสร้างรวม 4 แห่ง ประกอบด้วย อาคารบังคับน้ำบ้านวังน้ำเย็น (ปตร.พระธาตุแหลมลี่) หมู่ที่ 9 บ้านหาดทรายคำ ตำบลปากกาง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ อาคารบังคับน้ำบ้านหาดอ้อม (ปตร.วังขอนแดง) หมู่ที่ 2 บ้านวังชิ้น ตำบลวังชิ้น อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ อาคารบังคับน้ำบ้านบานชื่น (ปตร.เวียงเชี่ยงชื่น) หมู่ที่ 4 บ้านดอนระเบียง ตำบลแม่สำ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย อาคารบังคับน้ำบ้านเกาะน้อย (ปตร.หาดเสี้ยว) หมู่ที่ 4 บ้านใหม่ ตำบลหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

โดยโครงการอาคารบังคับน้ำทั้ง 4 แห่งนี้ จะช่วยเป็นแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับการเพาะปลูกในพื้นที่ของทั้ง 2 จังหวัด ที่เดิมจะขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และใช้สำหรับอุปโภคบริโภค และช่วยบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัย โดยพื้นที่รับประโยชน์จากโครงการรวมทั้งสิ้น 162,000 ไร่ การก่อสร้างในแต่ละจุดจะใช้พื้นที่เฉลี่ย-100 ไร่ สำหรับประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างก็จะได้รับเงินชดเชยต่อไป เพราะอาคารแต่ละตัวจะเป็นการลงทุนโดยภาครัฐที่จะสร้างความยั่งยืนให้ประชาชน

Advertisment

“ปัจจุบันปัญหาแม่น้ำยมของจังหวัดสุโขทัย แพร่ และอุตรดิตถ์ ในฤดูฝนจะมีมวลน้ำปริมาณมาก เกิดอาชีพประมง ประชาชนก็หาปลาสร้างรายได้ให้กับครอบครัว แต่พอฝนทิ้งช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวจนถึงเดือนเมษายนน้ำแห้ง ท้องน้ำของแม่น้ำยมสามารถเตะฟุตบอลได้เลย ประชาชนเดือนร้อนหนัก ขาดน้ำอุปโภคบริโภค ไม่สามารถทำการเกษตรได้ หากโครงการดังกล่าวสำเร็จจะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้หลายพันครัวเรือน เป็นพื้นที่การเกษตรได้นับหมื่นไร่ เราจะสามารถเก็บน้ำไว้ได้ 8-9 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้พื้นที่ประมาณ 100 ไร่ ระบบนี้ยั่งยืนแน่นอน ตอนนี้ต้องดูผลกระทบก่อน”

“เฉลิมเกียรติ” กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้สภาพความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นจะสามารถดึงน้ำจากอ่างเก็บน้ำมาใช้ในแม่น้ำยมได้บ้าง หรือบางพื้นที่มีระบบน้ำใต้ดินที่ยังพอทดแทนให้ประชาชนใช้อุปโภคบริโภคอยู่ก็ตาม แต่หากแม่น้ำยมมีอาคารบังคับน้ำจะสร้างการเกษตรให้เกิดขึ้นหลายทาง ส่วนการแก้ปัญหาอุทกภัยสำหรับแม่น้ำยมต้องมีประตูน้ำไหลสะดวก ไม่ขวางทางน้ำ โดยเฉพาะจุดบริเวณวัดพระธาตุแหลมลี่

อย่างไรก็ตาม “สุรัช ธนูศิลป์” ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ เปิดเผยว่า การก่อสร้างอาคารบังคับในลำน้ำหลักจะต้องศึกษาให้ดี และมีแผนในการแก้ไขจากการก่อสร้าง เป็นอาคารบังคับน้ำ 4 แห่ง ฝายอีก 2 แห่ง โดยมีงบประมาณในการศึกษาครั้งนี้จำนวน 44 ล้านบาท ระยะเวลาการศึกษา 480 วัน

โดยบริษัท ฟลัดเวย์ จำกัด บริษัท เมกก้าเทค คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท สามารถ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนส์ จำกัด ในสัญญาจะสิ้นสุดการศึกษาภายในเดือนกรกฎาคม 2562 แต่ปัจจุบันยังคงติดปัญหาการศึกษาพื้นที่ป่าไม้ที่ยังไม่ได้รับอนุญาต ฉะนั้นอาจจะต้องขยายอายุสัญญาออกไป ส่วนงบประมาณโครงการก่อนสร้างในขั้นตอนต่อไปยังไม่มีกำหนดที่ชัดเจน

Advertisment