ตราดดัน “ผลิตภัณฑ์สปา” ชุมชน ต่อยอดสร้างรายได้สู่ชุมชน

เมื่อกระแสท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นที่นิยมทั่วโลก นโยบายภาครัฐสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (medical hub) โดยกำหนด 4 จังหวัดภาคตะวันออก ชลบุรี-ระยอง-จันทบุรี-ตราด เป็นพื้นที่เป้าหมายที่ภาครัฐส่งเสริมพัฒนานวัตกรรม เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดตราดได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสวนดุสิต จัดอบรม “หลักสูตรนวดฝ่าเท้าเพื่อสุขภาพ 60 ชั่วโมง” เพื่อยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชน และนำงานวิจัยผลิตภัณฑ์นวัตกรรมครีมสกัดจากสมุนไพรในท้องถิ่นไปทดลองใช้นวด งานวิจัยผลิตภัณฑ์นี้เป็นอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้

มุ่งฮับท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

รศ.ดร.พรรณี สวนเพลง อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และหัวหน้าคณะแผนงานวิจัย “การพัฒนานวัตกรรมเรื่องสุขภาพในกลุ่ม active beach (ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด)” เพื่อการสร้างมูลค่าสูงและยกระดับให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวสุขภาพของเอเชีย (wellness hub of asia) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสวนดุสิตทำงานวิจัยร่วมกับภาคเอกชน ภาครัฐและชุมชน พัฒนา “นวัตกรรม” เชิงสุขภาพในกลุ่ม active beach เพื่อยกระดับให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่สำคัญของประเทศและระดับเอเชีย โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การพัฒนานวัตกรรมและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ คาดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และสามารถพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs และสนับสนุน startup ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

รศ.ดร.พรรณี สวนเพลง

“จังหวัดตราดได้ยกระดับฝีมือแรงงานด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้มีมาตรฐานสูงขึ้น ด้วยการพัฒนาศักยภาพผู้ให้บริการนวดฝ่าเท้า อบรมหลักสูตรนวดฝ่าเท้า 60 ชั่วโมง และเพื่อแข่งขันด้านการตลาด ได้ทำวิจัยนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สปาจากสมุนไพรเด่น ๆ ของจังหวัดตราด ใช้นักวิจัยจากห้องทดลองวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางที่ได้รับมาตรฐาน GMP เช่น ครีมสาหร่ายพวงองุ่น เจลระเบิดขี้ไคลคอลลาเจนจากแมงกะพรุน เจลนวดผิวพริกไทแดงกำปอต และสูตรสมุนไพรแช่เท้า แบรนด์เฮิร์บบุรี (HERBURI) ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเฮิร์บบุรี หมู่ 4 ต.ห้วงน้ำขาว อ.เมืองตราด ซึ่งอยู่ในระยะทดลอง คาดว่าจะใช้เวลาพัฒนาผลิตภัณฑ์ 1 ปี จากนั้นจะยื่นให้กระทรวงสาธารณสุขรับรอง การจดอนุสิทธิบัตร และมหาวิทยาลัยจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับชุมชนทำผลิตภัณฑ์เป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่น ที่นักท่องเที่ยวต้องมาใช้บริการหรือซื้อในท้องถิ่นเท่านั้น”

ผลิตภัณฑ์สปาสร้างรายได้ชุมชน

“วิยะดา ซวง” นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดตราด และเจ้าของและผู้จัดการโรงแรมทะเลภู รีสอร์ท อ.คลองใหญ่ จ.ตราด กล่าวว่า จังหวัดตราดอยู่ชายแดนมีโอกาสเติบโตและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้อย่างยั่งยืน ด้วยปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ 1) แผนการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และแผนพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันออก (Active Beach) 2) เส้นทางการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกลุ่มประเทศ CLMV มีการพัฒนาเส้นทางทั้งทางบก ทางน้ำ และ 3) เกาะกง กัมพูชา ติดกับจังหวัดตราด มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ “ดาราซากอร์” สร้างเมืองท่องเที่ยวและศูนย์สุขภาพ มีทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติ นักธุรกิจจีนที่เข้ามาลงทุน มีกำลังซื้อสูง นักท่องเที่ยวธรรมชาติเหล่านี้จะชื่นชอบรักการดูแลสุขภาพ การยกระดับการนวดฝ่าเท้าให้มีมาตรฐาน ช่วยกระจายรายได้ให้กับชุมชน ส่วนผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนสามารถจัดทำผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยที่ใช้สมุนไพรในท้องถิ่น จำหน่ายให้กับผู้ประกอบการใช้นวด หรือจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวอีกด้วย

“พื้นที่ชุมชนมีโรงแรมระดับ 2 ดาว-3 ดาว ยังขาดแคลนบริการเหล่านี้ เมื่อมีการอบรมยกระดับฝีมือแรงงานให้ได้มาตรฐาน โรงแรม รีสอร์ตจะช่วยกันสนับสนุนแบบธุรกิจแบ่งปันในชุมชน จัดระบบการบริหารจัดการให้ชาวบ้านทำอาชีพหลักใช้เวลาว่างนวดวันละ 1-2 ชั่วโมง มีรายได้ 250-500 บาท หรือบางคนอาจยึดเป็นอาชีพหลัก นอกจากนี้ วิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็งสามารถทำผลิตภัณฑ์ครีมนวดจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวได้”

เรียนรู้พัฒนาตัวเองสร้างรายได้

ทางด้านนางดำ เจริญสุข อายุ 74 ปี หมู่ 9 ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด หนึ่งในผู้เข้ารับการอบรมนวดฝ่าเท้า เล่าว่า เรียนรู้การนวดแผนโบราณมาจากแม่ที่มีอาชีพเป็นหมอนวดแผนโบราณ ปกตินวดตัวชั่วโมงละ 200 บาท เมื่อมาอบรมนวดฝ่าเท้า มีการกดจุดเชื่อมโยงไปถึงระบบต่าง ๆ ของร่างกาย จึงทำให้มีความรู้เพิ่มขึ้น ต่อไปจะรับทั้งนวดตัวและนวดฝ่าเท้า ส่วนนางจำลอง เจริญสุข อายุ 55 ปี หมู่ 2 ต.คลองใหญ่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด มีอาชีพรับซักผ้า มีรายได้ 3,000 บาท/เดือน เมื่อมาฝึกอบรมนวดเท้า คิดว่าจะหันมาทำอาชีพนี้น่าจะมีรายได้ดีกว่า และนางสาววราภรณ์ ม่วงศรีไพ อายุ 16 ปี กำลังเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอเกาะช้าง จ.ตราด เห็นว่าแม่มีรีสอร์ตเล็ก ๆ อยู่เกาะช้าง สมัครเรียนนวดฝ่าเท้า คิดว่าจะทำเป็นอาชีพ เพราะที่รีสอร์ตมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ มีรายได้ชั่วโมงละ 200 บาท

“ตราดเมืองท่องเที่ยวสุขภาพ”…รายได้จากการท่องเที่ยวเข้าถึงชุมชน หมุนเวียนอยู่ในประเทศ สิ่งสำคัญคือความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชนในท้องถิ่น ที่จะร่วมมือกันสร้างความเข้มแข็งเมืองท่องเที่ยวต่อยอดงานวิจัยนวัตกรรมตามที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิตเริ่มไว้อย่างจริงจังต่อเนื่องได้อย่างไร ให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน…