มิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ จี้รัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ พยุงกำลังซื้อภูธร

สัมภาษณ์

ท่ามกลางกระแสโลกเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้ผู้ประกอบการแต่ละภาคธุรกิจต้องปรับตัวรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในธุรกิจค้าปลีกค้าส่งในภูธร ซึ่ง “มิลินทร์ วีระรัตนโรจน์” หรือ “เฮียกบ” ผู้บริหารตั้งงี่สุน จังหวัดอุดรธานี ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงภาพรวมของสถานการณ์ทางการค้าในปัจจุบัน และพฤติกรรมการบริโภคของคนที่เปลี่ยนไป

ภาพรวมการลงทุนปีนี้

ขณะที่ตั้งงี่สุ่นมีแผนสร้างโกดังเก็บสินค้าด้วยเงินลงทุนประมาณ 30 ล้านบาท บนพื้นที่ 1.2 หมื่นตารางเมตร เพื่อยกระดับให้เป็นศูนย์กระจายสินค้า (DC) ที่จะตั้งอยู่ด้านหลังของสาขานาดี ซึ่งเป็นสาขาที่ 2 ถัดจากสาขาโพศรี อยู่กลางเมืองอุดรธานี คาดว่าหลังจากหน้าฝนผ่านไปจะสามารถดำเนินการได้ ส่วนการขยายสาขาแห่งใหม่ยังมองอยู่ในจังหวัดใกล้เคียง เช่น หนองคาย เลย สกลนคร ต้องดูทิศทางของโมเดลก่อนว่าจะเป็นอย่างไร เพราะไม่ใช่สาขาเล็กแน่นอน แต่จะเป็นสาขาใหญ่ขนาด 5 ไร่ขึ้นไป

ส่วนการร่วมงานกับบริษัทซัพพลายเออร์ก็มีเพิ่มขึ้นทุกปี หลากหลายกว่า 500-600 ราย บางบริษัทเติบโตขึ้น แต่มีที่หยุดดำเนินกิจการแล้วไม่ไปต่อ ฉะนั้นภาพรวมภายในสิ้นปี 2562 หากยอดขายเติบโต 3-5% ถือว่าดีมากแล้ว ขึ้นอยู่กับแผนการค้าและเศรษฐกิจ นโยบายบริษัทซัพพลายเออร์ที่เป็นต้นน้ำ และเจ้าของธุรกิจต้องไม่ยอมแพ้ ต้องคิดอยู่ตลอดเวลา จากหลายปีก่อนตั้งงี่สุ่นเคยทำรายได้สูงสุดประมาณ 4,000 ล้านบาท เมื่อเกิดเหตุการณ์ทำให้เศรษฐกิจหดตัว รายได้ลดลงมาอยู่ที่ 3,300-3,500 ล้านบาทต่อปี ตอนนี้กำลังพยายามกลับไปให้ถึง ซึ่งต้องไปดึงซัพพลายเออร์ที่พร้อมมาทำกิจกรรมด้วยกัน มีแผนการตลาดเข้ามาเพื่อให้ไปต่อได้ ไม่ว่าบริษัทเล็กหรือใหญ่ก็ตาม

ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลชุดใหม่

ยอมรับว่าตอนนี้การเมืองไทยมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจมากถึง 60-70% เพราะเป็นเรื่องของความเชื่อมั่น ตอนนี้ดูเหมือนว่าทุกรัฐบาลจะแบ่งฝ่าย แบ่งพวก หลายคนกลัวว่ารัฐบาลจะอยู่ไม่ได้นาน เพราะต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน แย่งอำนาจกันมากเกินไป บรรยากาศเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแน่นอน แต่ถ้าดีขึ้นเป็นเชิงบวก มีคนตั้งใจทำงาน ความคิดจะเกิด วิธีการจะมา การลงทุนจะมี

สำหรับผม ประเทศไทยจะเป็นรัฐบาลไหนก็ได้ ผมดูการเมือง แต่ไม่ใส่ใจกับการเมือง แม้เศรษฐกิจจะไม่ดี ตลาดจะเงียบ แต่ไม่ใช่ตัวหลักทั้งหมดที่ขับเคลื่อนธุรกิจ เราเอาไว้เป็นทิศทาง แต่อย่าเอามาเป็นตัวชี้นำ ตราบใดก็ตามที่ซัพพลายเออร์ยังต้องการตัวเลขอยู่ เราต้องไปต่อ เพราะหากเอาปัจจัยภายนอกมาเสี่ยงจะทำให้ความเชื่อมั่นเราหายไป เราเป็นประชาชน นั่งดูการเมืองเราเครียด นโยบายต่าง ๆ มันดี แต่อย่าโกงก็พอ เพราะสุดท้ายประเทศไทยก็คือประเทศไทย การเมืองแบบไทย ๆ เศรษฐกิจมันไปได้

ถึงกระนั้น นโยบายของรัฐบาลที่ออกมาต้องใช้อย่างระมัดระวัง ยกตัวอย่าง บัตรประชารัฐ ที่ทำให้สถานการณ์ค้าปลีกในปีนี้ทรงตัว ในสภาวะที่เศรษฐกิจค่อนข้างเงียบสามารถกระโดดขึ้นมาได้ เหมือนเติมน้ำมันเพื่อให้รถวิ่งต่อ แต่เป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้น เพราะถ้าไม่มีบัตรประชารัฐ เศรษฐกิจก็ลดฮวบลงมาเหมือนเดิม ฉะนั้น ต้องมีอย่างอื่นมาควบคู่กันเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว พัฒนาเมืองรอง รัฐบาลไม่ควรทำตัวเป็นพ่อแม่ที่หาปลาให้ลูก แต่ควรสอนลูกให้หาปลากินเอง

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของผู้ประกอบการ ค้าปลีกค้าส่งทุกเจ้าสามารถไปได้หมด เราสามารถอยู่กับบิ๊กซี โลตัสได้ อยู่ที่ว่าเจ้าของร้านสู้ไม่สู้ ธุรกิจจะดีหรือไม่ดีอยู่ที่ตัวเรา ธุรกิจผมเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ ผมประสบผลสำเร็จเพราะผมมีความสุข ผมหลงใหลอยู่กับมัน ต่อให้บริษัทคุณจะยิ่งใหญ่แค่ไหน ถ้าคุณตื่นมาแล้วเครียด ไม่อยากลุกไปทำงาน แสดงว่าคุณไม่ประสบความสำเร็จ สิ่งที่ผมเรียกว่าประสบความสำเร็จคือความสุข ตื่นขึ้นมาแล้วอยากทำงาน แม้บริษัทคุณจะเล็กก็ตาม ธุรกิจบางคนเหมือนจะดี แต่บางทีมีแค่ภาพ ฉะนั้น ต้องดีทั้งภาพ งานจริงมีความสุข พนักงานต้องมีความสุข เพราะองค์กรต้องไปต่อได้

ภาวะกำลังซื้อในตลาดตอนนี้

หากมองด้านการค้า ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี ผมยิ่งดี เพราะสินค้าเรากำไรน้อย ถ้าลูกค้ามีเงินในมือน้อยจะซื้ออะไรก็ตามต้องมองหาความคุ้มค่า จากที่เคยซื้อของแพงก็หันกลับมาหาผม ทำให้ผมมีลูกค้าเพิ่มขึ้น กำไรก็เพิ่มขึ้น และซัพพลายเออร์ก็ต้องเลือกร้านที่มีศักยภาพในตลาด สามารถขายสินค้าไปได้ ผมก็ต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา สินค้าอันไหนไม่ดีเอาออก หาสินค้าใหม่เข้ามาทดลอง จากขายชิ้นใหญ่ก็ลองปรับมาขายชิ้นเล็กลง

เทรนด์การซื้อสินค้าคนยุคใหม่

ยุคปัจจุบันร้านค้าต่าง ๆ ต้องมีความอินเทรนด์มากขึ้น ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งจะแข่งขันกันอย่างดุเดือด ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนไป เด็กรุ่นใหม่กล้าลองมากขึ้น พฤติกรรมของคนไทยเริ่มใช้เงินเพราะถูกทำให้คุ้นเคย เช่น กล้าซื้อมาม่าเกาหลีห่อละ 40 บาท ซึ่งราคาต่างกันมากกับมาม่าไทยที่ขายราคาห่อละ 5 บาท สามารถตัดสินใจซื้อโทรศัพท์มือถือราคาหลักหมื่นโดยไม่เสียดายเงิน แตกต่างจากคนรุ่นก่อน ทั้งมีระบบผ่อนจ่ายสินค้าทุกอย่าง เหมือนเป็นดาบสองคม ถ้าบริหารไม่ดีก็เป็นหนี้เยอะ ถ้าบริหารดีก็ใช้ประโยชน์ได้ ที่สำคัญคือสังคมไร้เงินสดกำลังจะมาในเร็ว ๆ นี้ การแข่งขันในธุรกิจจะยิ่งรุนแรงขึ้น ดังนั้น ปีนี้ผู้ประกอบการหลายรายมีการลงทุนเพิ่ม เศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี ซัพลายเออร์ต้องไปต่อ บริษัทที่ก้าวตามเทรนด์ไม่ทัน บริษัทที่ไม่พัฒนาผลประกอบการจะเริ่มหยุด ส่วนที่ล้มหายไป แพ้ในเรื่องแบรนดิ้งมากกว่า ยกตัวอย่างการผลิตขนมของบริษัทแห่งหนึ่ง ทำรูปแบบเดียวมานานหลายปี ขณะที่บริษัทจากอินโดนีเซีย มีขนมรูปแบบเดียวกัน แต่มีหลากหลายรสชาติมากกว่า จึงถือเป็นเรื่องที่น่ากลัวสำหรับผู้ประกอบการไทยที่หยุดนิ่ง