เชียงใหม่ปลุกกระแส LocalFood ใช้สินค้าเกษตรชุมชน

หนุนสินค้าเกษตร - หอการค้าเชียงใหม่นำร่องส่งเสริมให้ธุรกิจต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ทั้งท่องเที่ยว โรงแรม โรงพยาบาล ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ฯลฯซื้อวัตถุดิบสินค้าเกษตรในพื้นที่มาใช้ เพื่อให้เม็ดเงินหมุนเวียนในชุมชน

หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ปลุกกระแสบริโภคสินค้าเกษตรในท้องถิ่น ป้อนภาคการท่องเที่ยวบริการ โรงแรม-โรงพยาบาล ให้ใช้สินค้าเกษตรในพื้นที่เสิร์ฟลูกค้าและนักท่องเที่ยว เพื่อสนับสนุนสินค้าการเกษตรในพื้นที่ให้มีรายได้หมุนเวียนทั้งปี พร้อมปั้นแบรนด์สินค้าเกษตรคุณภาพของจังหวัดที่มีความโดดเด่น ผ่านกลไกสหกรณ์การเกษตร ล่าสุด จับมือสหกรณ์การเกษตรสะเมิง หนุนสตรอว์เบอรี่-มันฝรั่ง พร้อมเตรียมขยายไลน์ปั้นไข่ไก่-นมสด เป็นดาวรุ่ง หวังขยาย GPP ของเกษตร 6 หมื่นล้านบาทภายในปี 2564

นายวโรดม ปิฎกานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ได้ริเริ่มดำเนินโครงการเชียงใหม่ Local Food เพื่อเป็นการส่งเสริมช่วยเหลือสินค้าการเกษตรในพื้นที่ให้มีการซื้อขาย เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจ โดยการสนับสนุนของภาคเอกชนในการใช้สินค้าเกษตร ได้แก่ โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร โรงแรม ตลาดสินค้า ฯลฯ เป็นการกระตุ้นการบริโภคของนักท่องเที่ยว และคนในพื้นที่ได้หันมาให้ความสนใจบริโภคสินค้าเกษตรที่ผลิตในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นการเอื้อซึ่งกันและกันจะทำให้ปัญหาสินค้าล้นตลาดหมดไป

ทั้งนี้ หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ จะเป็นแกนกลางที่จะประสานต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เพื่อให้เกิดกระบวนการทางเศรษฐกิจการเกษตร โดยจะทำให้เกิดการรักษามาตรฐาน คุณภาพ การยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่เชื่อมโยงตลาดการท่องเที่ยว โดยมีสินค้าเกษตรที่มีความปลอดภัย อันจะเป็นการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจในพื้นที่สูงขึ้นในอนาคต

ล่าสุด หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ได้ลงนาม MOU กับ 2 สหกรณ์ คือ สหกรณ์การเกษตรสะเมิง จำกัด และสหกรณ์ผู้ปลูกมันฝรั่งเชียงใหม่ จำกัด โดยก่อนหน้านี้ได้ร่วมมือกับสหกรณ์ไข่ไก่และนมโคคุณภาพแล้ว โดยหอการค้ามุ่งเน้นสินค้าการเกษตรในพื้นที่มีความโดดเด่น ก้าวสู่การเป็น brand local food ที่สำคัญในอนาคต ที่หอการค้าจะรับรองคุณภาพมาตรฐาน และประชาสัมพันธ์เชื่อมโยง

“เรามุ่งสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพสินค้าและการแปรรูปผลผลิต เช่น การพัฒนาสินค้าให้ผ่านมาตรฐาน GAP, GMP, เกษตรอินทรีย์, สินค้ามาตรฐานสหกรณ์, เลขทะเบียนสินค้าจากสำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา, มาตรฐานอุตสาหกรรม รวมถึงการลดต้นทุนการผลิต รวมด้านการพัฒนาช่องทางการตลาดสินค้า เช่น การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายเข้าสู่ช่องทางตลาดออนไลน์ โมเดิร์นเทรด ตลาดต่างประเทศ รวมถึงการจัดเวที business matching เพื่อศึกษาและประเมินความเป็นไปได้ของความต้องการต่อไป”

ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่มีตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด หรือ GPP ประมาณ 2.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นภาคเกษตร ร้อยละ 23 ภาคบริการการท่องเที่ยวกว่าร้อยละ 60 ที่เหลือเป็นภาคอุตสาหกรรมและอื่น ๆ มีพื้นที่ทำการเกษตรประมาณกว่า 1,830,291 ไร่ จำนวนครัวเรือนเกษตรกรกว่า 169,000 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรของจังหวัดส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปี 431,910 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 624 กิโลกรัมต่อไร่ พื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 79,830 ไร่ ได้ผลผลิต 650 กิโลกรัมต่อไร่ พืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัด เช่น ลำไย มีพื้นที่ปลูก 313,391 ไร่ ลิ้นจี่ มีพื้นที่ปลูก 58,046 ไร่ เป็นต้น ซึ่งหากดำเนินโครงการ Local Food ได้ คาดว่าจะทำให้มูลค่าสินค้าเกษตรของเชียงใหม่สร้างมูลค่าเป็น 50,000-60,000 ล้านบาทต่อปีได้ภายในปี 2564

โดยโครงสร้างทางการเกษตรจังหวัดเชียงใหม่นั้นส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย ที่มีพื้นที่ถือครองขนาดเล็กและเป็นการผลิตที่เป็นลักษณะต่างคนต่างทำ จึงทำให้ต้องเผชิญปัญหา และข้อจำกัดต่าง ๆ ซึ่งส่งผลต่อรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกร เช่น ปัญหาต้นทุนการผลิต ค่าจ้างแรงงาน ขาดอำนาจต่อรองทางการตลาด

โดยภาพรวมจังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่การส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เช่น ข้าว ลำไย ลิ้นจี่ กล้วยหอม กาแฟ ถั่วเหลือง เป็นต้น ตามที่หอการค้า ได้ติดตามสถานการณ์พืชเศรษฐกิจในจังหวัดเชียงใหม่ ล่าสุด พบว่า ลิ้นจี่ ลำไย และมะม่วง มีแนวโน้มให้ผลผลิตลดลงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากสภาวะภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมที่ไม่อำนวย ประกอบกับสภาวะแล้งในช่วงที่ผ่านมา จากการประมาณการผลผลิตลิ้นจี่ มีปริมาณออกสู่ตลาดประมาณ 13,604 ตัน ลำไยจะให้ผลผลิตประมาณ 261,225 ตัน ส่วนมะม่วง เก็บเกี่ยวแล้วร้อยละ 90 หรือประมาณ 36,670 ตัน ทำให้ปีนี้ราคาดีแต่ผลผลิตลดลง

ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ จำนวน 4,849.91 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.26 ของพื้นที่ทางการเกษตร และได้สร้างกรอบความร่วมมือในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนว่าจะเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ของจังหวัดภาคเหนือตอนบนไม่น้อยกว่า 20,000 ไร่ ภายในปี 2564 รวมทั้งมีการเพิ่มผู้บริโภคเกษตรอินทรีย์ให้มากขึ้น โดยเฉพาะในโรงพยาบาล สถานศึกษา ร้านอาหาร และในครัวเรือนเอง เน้นให้เกษตรกรทำเกษตรแบบผสมผสานที่มีคุณภาพ ไร้สารพิษ สารเคมี ซึ่งจะมีการนำผลผลิตไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มลูกค้าที่รักสุขภาพ ทำให้ผลผลิตมีมาตรฐานสูงขึ้น มีช่องทางการสร้างรายได้พร้อมทั้งเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ทำให้เกษตรอินทรีย์เป็นแหล่งอาหารที่เต็มไปด้วยความปลอดภัยและคุณภาพ