ธ.ก.ส.ภูเก็ตปรับเกณฑ์กู้ รุกตลาดไมโครไฟแนนซ์

ธ.ก.ส.ภูเก็ตปรับเกณฑ์ใหม่ รุกเจาะตลาดสินเชื่อเกษตรกรรายเล็กกู้ลงทุนทำการค้า-ธุรกิจแฟรนไชส์ เผยยอดรวมสินเชื่อ 2 ไตรมาสโตกว่า 3 พันล้านบาท ตั้งเป้าขยายสินเชื่อให้แก่ทุกภาคการผลิต

นายพรรษิษฐ์ ช่วยพิชัย ผู้อำนวยการสำนักงาน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดภูเก็ตและสาขาในสังกัด ช่วง 2 ไตรมาสของปี 2562 (ระหว่างเดือนเมษายน-กันยายน 2562) ได้ให้บริการสินเชื่อไปประมาณ 3,040 ล้านบาท ประกอบด้วย สินเชื่อสำหรับเกษตรกร บุคคล สินเชื่อสหกรณ์ สินเชื่อองค์กร และสินเชื่อผู้ประกอบการเกษตรรายย่อย (SMEAs)

ทั้งนี้ ธ.ก.ส.ยังมีความต้องการขยายสินเชื่อให้แก่ทุกภาคการผลิต ทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ โดยธนาคารยังมีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ เช่น สินเชื่อเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตการเกษตรสู่ความยั่งยืน สินเชื่อ smart farmer สินเชื่อ SMEAs เกษตร สินเชื่อธุรกิจแฟรนไชส์ เพื่อให้บริการแก่ลูกค้า เป็นต้น

“ปัจจุบันการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินต่าง ๆ มีการแข่งขันกันสูง มีการสร้างแรงจูงใจแก่ลูกค้าด้วยการให้อัตราดอกเบี้ยต่ำ ดังนั้น ธ.ก.ส.ภูเก็ต พยายามปรับการปล่อยสินเชื่อให้มีขนาดวงเงินเล็กลง เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น เช่น สินเชื่อแฟรนไชส์ ไม่จำเป็นต้องเป็นเกษตรกร และสินเชื่ออื่นเช่นกัน เชื่อว่าทิศทางการเติบโตของสินเชื่ออยู่ในระดับที่น่าพอใจ และมั่นใจว่าทิศทางสินเชื่อในภูเก็ตมีโอกาสเติบโตขึ้น ภายใต้หลักเกณฑ์ใหม่ที่ให้เกษตรกรรายเล็กนำเงินไปลงทุนตามที่ต้องการได้มากขึ้น” นายพรรษิษฐ์กล่าว และว่า

ในด้านเงินฝาก สำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดภูเก็ต ให้บริการรับฝากเงินประเภทต่าง ๆ แก่ลูกค้าซึ่งมีปริมาณเงินฝากทุกประเภทอยู่ประมาณ 10,455 ล้านบาท และสลากออมทรัพย์ทวีสินของ ธ.ก.ส. เป็นผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าให้ความสนใจออมเป็นอย่างยิ่ง คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 35 ของเงินฝากทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ยังเปิดให้บริการฝากสลากออมทรัพย์ทั้งสลากชุดละ 20 บาท ชุดเกษตรยั่งยืน และในเร็ว ๆ นี้จะเปิดรับฝากสลากออมทรัพย์ชุดละ 100 บาท (ชุดเกษตรมั่งคั่ง) อีกครั้ง

นอกจากนี้ปี 2562 ถือเป็นปีที่ ธ.ก.ส.เพิ่มการให้บริการผ่านนวัตกรรมการเงิน (FinTech) หลายรูปแบบ ได้แก่ applicationการทำธุรกรรมทางการเงินของ ธ.ก.ส.ชื่อว่า A-mobile การให้บริการการรับชำระเงินด้วย QR code payment และการให้บริการโอนเงินแก่ลูกค้ารายใหญ่ หรือ BAAC corporate banking รวมถึงสร้าง platform การจัดจำหน่ายสินค้าการเกษตรเรียกว่า A-farmmart ซึ่งกำลังพัฒนาระบบให้มีเสถียรภาพและง่ายต่อการใช้งาน

“ที่ผ่านมาเน้นการส่งเสริมการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสู่ลูกค้าและชุมชน การสนับสนุนการพัฒนาลูกค้าให้มีศักยภาพผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น การคัดเลือกชุมชนท่องเที่ยวบ้านบางเทาเชิงทะเล พัฒนาศักยภาพเพิ่มเป็น “ชุมชนท่องเที่ยว ธ.ก.ส.ปี 2562” การมุ่งพัฒนาเกษตรกรและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้เป็น smart farmer ผ่านกระบวนการธนาคาร รวมถึงเร่งพัฒนาชุมชนอุดมสุขให้เป็นไปตามเป้าหมาย