เปิดมุมมอง “สมชาติ พงคพนาไกร” ดันตั้ง “ระเบียงเศรษฐกิจอีสานใต้”

สัมภาษณ์

องค์กรภาคเอกชนอย่างหอการค้าไทย ถือเป็นกำลังหลักสำคัญส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เป็นสถาบันพัฒนาบุคลากร ให้ข้อมูลความรู้ มีเครือข่ายที่เข้มแข็งกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ดังที่ “อีสานใต้” ซึ่ง “ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “สมชาติ พงคพนาไกร” ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานหอการค้าอุบลราชธานีมานานกว่า 4 ปีเต็ม จนสิ้นสุดวาระ กระทั่งปี 2562 ทางหอการค้าจึงเชิญให้ร่วมเป็นคณะกรรมการหอการค้าไทย วาระปี 2562-2563 พร้อมกับขึ้นดำรงตำแหน่งประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 (อุบลราชธานี, ศรีสะเกษ, ยโสธร, อำนาจเจริญ) ในปัจจุบัน

“สมชาติ” บอกว่า พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างหลายจังหวัดมีศักยภาพ ทั้งด้านการท่องเที่ยว เกษตร การค้าชายแดน โครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์ รวมไปถึงมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง โดยจังหวัดอีสานตอนล่าง 2 ถือเป็นพื้นที่ซึ่งสามารถเชื่อมต่อโครงการกับภาครัฐและภาคเอกชนได้หลายด้าน แบ่งออกเป็น 3 เรื่องใหญ่ คือ การค้าและการลงทุน เกษตรและอาหาร และการท่องเที่ยว ตอบโจทย์วิสัยทัศน์ของหอการค้าไทย สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตรงกับยุทธศาสตร์ชาติได้

ด้านการท่องเที่ยว ได้มีการขับเคลื่อนการท่องเที่ยว “ทัวร์ริมโขง” ที่เป็นอีกหนึ่งโครงการเร่งด่วนต้องรีบเตรียมพร้อมเพื่อรอรัฐบาลชุดใหม่ เพราะสามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชนในระดับฐานรากได้ โดยทางหอการค้าได้ตั้งคณะทำงาน โดยให้ประธานภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นประธานดูแลการขับเคลื่อนโครงการรวมกับ 7 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง

ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกันและทำรูปแบบออกมาแล้วในระดับหนึ่ง แต่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะมีการศึกษาและออกแบบอย่างไร เพราะหากทำจริงน่าจะใช้งบประมาณมากพอสมควร ทั้งสถานที่ท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยวสายวัฒนธรรม ร้านอาหาร ที่พัก เชื่อมโยงไปยังเส้นทางการท่องเที่ยวแบบอารยธรรมขอมในอีสานตอนล่าง 1 (นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีษะเกษ) โดยเฉพาะการเจรจาเปิด “เขาพระวิหาร” หากสามารถทำได้จะเกิดเงินสะพัดทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่าหลายพันล้านบาท

ด้านการค้าชายแดนของอีสานตอนล่าง 2 ในช่วงที่ผ่านมา ตัวเลขในเดือนกรกฎาคมระบุว่า ลดลงจากปี 2561 ประมาณ 10% เฉลี่ยรวมการนำเข้า-ส่งออก ที่ด่านชายแดนผ่านจังหวัดอุบลราชธานีอยู่ที่ 1.7 พันล้านบาท ปัจจัยที่ทำให้ตัวเลขลดลงไม่เพียงแต่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว แต่มาจากประเทศเพื่อนบ้านด้วยที่ค่อนข้างชะลอตัว

คาดว่าอนาคตจนถึงปี 2563 จะยังทรงตัวในระดับเดิม แม้มีแนวโน้มลดลงแต่ยังมีราคาข้าวเข้ามาพยุงไว้ ทั้งนี้ยังมีการขับเคลื่อนการเปิด “ด่านชายแดนช่องอานม้า” ที่ยังติดปัญหาเขตแดนกับกัมพูชา หากสำเร็จคาดว่าจะสามารถทำให้การค้าชายแดนเติบโตขึ้นกว่า 100%

และด้านการลงทุน มีโครงการรถโดยสารเชื่อมการท่องเที่ยวที่ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ ติดอยู่ที่กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม โดยโครงการดังกล่าวได้ผ่านเข้าสู่ที่ประชุม กรอ.ของจังหวัดแล้ว คือรถโดยสารเชื่อมการท่องเที่ยวอุบลฯ- เสียมเรียบ (อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ช่องสะงำ เสียบเรียบ) นอกจากนี้จะมีการส่งเสริมหนังสือผ่านแดน (border pass) เพื่อรองรับการใช้บริการรักษาพยาบาลสำหรับประเทศเพื่อนบ้านที่ยังขาดแคลนเรื่องสาธารณสุข เป็นแนวทางที่จะพัฒนาการเติบโตของโรงพยาบาลที่ติดเขตชายแดนได้

นอกจากนี้ยังมีการสานต่อโครงการระเบียงเศรษฐกิจอีสานใต้ เป็นแนวคิดต้นแบบมาจากเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แต่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คือ EEC ที่ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคต หรือ new S-curve ส่วนอีสานล่างมีแนวคิดว่าจะต้องเน้นไปที่การแปรรูปในภาคการเกษตร เป็นอุตสาหกรรมการเกษตร เพราะเป็นแหล่งการผลิตที่สำคัญ แต่ต้องพัฒนาการปลูกพืชให้หลากหลายมากขึ้นเพื่อนำมาแปรรูปในระดับชุมชนจนถึงมหภาค มีการทำเรื่องของโรงงานต้นแบบ (pilot plant) หรือเป็นการเพิ่มการลงทุนผลักดันให้มีระเบียงเศรษฐกิจเกิดขึ้น

“เรามีแนวคิดว่าระเบียงเศรษฐกิจไม่ได้หมายถึงอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว แต่จะรวมถึงการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวด้วย และสปอร์ตทัวริซึ่ม เป็นต้น ส่วนใหญ่จะเน้นการแปรรูปด้านอาหารเป็นหลัก ซึ่งภาคเอกชนในจังหวัดอุบลฯคิดจะตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรม เรามองว่าหากตั้งนิคมเกิดขึ้น ส่งเสริมให้ภาคเอกชนเราเข้มแข็ง และน่าจะเป็นประตูขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตร จะต้องมีการจัดวางผังเมือง โลจิสติกส์ที่จะเชื่อมโยงทั้งทางบก อากาศ และระบบราง ซึ่งจะเอื้อให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือขาดการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม”

ส่วนด้านการเกษตรและอาหาร ตามนโยบายหอการค้าไทยร่วมกับกลุ่มจังหวัดรวบรวมเกษตรกรเพื่อทำแปลงใหญ่ เพื่อจัดสรรที่ดินปลูกพืชหลากหลาย เกษตรกรสามารถร่วมกันขายเป็นสหกรณ์ หนุนการปลูกข้าวโพดหลังนา ซึ่งสร้างเงินสะพัดในช่วงครึ่งปี 2562 มากกว่า 700 กว่าล้านบาท แต่สิ่งที่รัฐจะต้องสนับสนุนให้ความช่วยเหลือเป็นสิ่งสำคัญคือ แหล่งน้ำหรือพื้นที่กักเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ในหน้าแล้ง โดยไม่จำเป็นต้องไปลงทุนสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่

อย่างไรก็ตาม “สมชาติ” ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันอีสานล่าง 2 ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจมากพอสมควร ภาวะเศรษฐกิจหดตัวลงเกือบ 20% ในหลายธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs หรือกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก แม้รัฐบาลจะสนับสนุน แต่ผู้ประกอบการบางรายก็ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคล เป็นเพียงผู้ประกอบการพาณิชย์ธรรมดาเท่านั้น แต่โชคดีที่ราคาข้าวกำลังพุ่งสูงและประชาชนอยู่ในภาคเกษตรเกือบ 50% จึงไม่ถึงกับทรุดตัวมากนัก

“ที่ผ่านมาความล่าช้าของการจัดตั้งรัฐบาลมีผลต่อความล่าช้าในการดำเนินงานพอสมควร แต่เมื่อสถานการณ์นิ่งและได้รัฐบาลแล้ว อยากฝากถึงรัฐบาลให้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนกลุ่มเกษตรกร โดยไม่หนุนกลุ่มคนฐานรากเพียงอย่างเดียว เพราะกลุ่มเกษตรกรสามารถนำเงินที่รัฐบาลให้มาต่อยอดในอาชีพและพัฒนาศักยภาพได้ ไม่อยากให้รัฐมาอุดหนุนเงินในรูปแบบของการประกันราคาพืชผล เพราะการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรสุดท้ายจะเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ มากกว่าเงินที่ใช้จ่ายไปกับโครงการใหญ่ที่กระจายไปไม่ทั่วถึง และที่สำคัญอยากฝากประเด็นเรื่องค่าแรง หากขึ้นค่าแรงในช่วงนี้จะทำให้เศรษฐกิจมีปัญหา”