“ไทยสงวน” รีโนเวต บขส.2 ทุ่ม 800 ล. ขึ้นตึกใหม่ 30 ไร่

โฉมใหม่ - บริษัท ไทยสงวนบริการ จำกัด อยู่ระหว่างออกแบบอาคารสถานี บขส.โคราชแห่งที่ 2 แห่งใหม่ให้มีรูปแบบคล้ายอาคารสนามบินดอนเมือง

“ไทยสงวนฯ” เตรียมทุ่ม 800 ล. รีโนเวต บขส.2 โคราช เผยรูปแบบคล้ายสนามบินดอนเมือง รองรับรถไฟทางคู่-ไฮสปีดเทรน หลังเปิดมานานถึง 31 ปี พลิกโฉมใหม่สร้างข้างอาคารเก่า บนที่ดิน 30 ไร่ เริ่มสร้างปี 2564 คาดจะเปิดให้บริการได้ในปี 2566

นายศรรบ หล่อธราประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยสงวนบริการ จำกัด และผู้บริหารสถานีขนส่งผู้โดยสาร จ.นครราชสีมา แห่งที่ 2 (บขส.2) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัทไทยสงวนฯอยู่ระหว่างพัฒนาปรับปรุงสถานี บขส.โคราชแห่งที่ 2 ซึ่งได้เปิดให้บริการมาแล้วกว่า 31 ปีเพื่อรองรับการคมนาคมโครงสร้างพื้นฐานในอนาคตอีกประมาณ 5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะมีการเปิดให้บริการมอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง จะทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางมากยิ่งขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการออกแบบ เพื่อนำเสนอให้กับคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกของจังหวัดนครราชสีมาพิจารณา ก่อนจะเสนอขออนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกอีกครั้ง ทั้งนี้ ตามแผนคาดว่าการออกแบบจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2563 หลังจากนั้นจะทำเรื่องขอกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในการก่อสร้าง ประมาณ 700-800 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงปี 2564 และจะเปิดให้บริการได้ในปี 2566

“ปัจจุบันอาคารสถานีมีสภาพเก่า ถึงเวลาต้องปรับปรุงโฉมใหม่ทั้งหมด โดยจะเพิ่มความทันสมัยและความสะดวกกับผู้ที่มาใช้บริการมากขึ้น ยิ่งช่วงนี้มีผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการลดลง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดี รวมถึงการแข่งขันของสายการบินโลว์คอสต์ ทำให้ผู้โดยสารจากที่ต้องการเดินทางในเส้นทางระยะไกลหันไปใช้สายการบินราคาถูก และระบบจำหน่ายตั๋วที่ต่างกัน สายการบินโลว์คอสต์สามารถลดราคาต่ำลงได้ แต่รถโดยสารทำไม่ได้เพราะผิดระเบียบการควบคุมของรถบัสโดยสาร”

แต่เพื่อไม่ให้การรีโนเวตกระทบการให้บริการ จะเปิดให้บริการสถานี บขส.ตามปกติ โดยจะไปก่อสร้างอาคารแห่งใหม่ บนพื้นที่ 30 ไร่ที่อยู่ภายในบริเวณเดียวกัน จากพื้นที่ทั้งหมด 80 ไร่ เมื่อก่อสร้างอาคารใหม่แล้วเสร็จ จึงจะทุบอาคารเดิมทิ้ง ทั้งนี้ อาคารแห่งใหม่จะก่อสร้างสูง 4 ชั้น บนที่ดิน 30 ไร่ที่เหลืออยู่ ประกอบด้วยชั้น 1 เป็นชานชาลา และร้านอาหารเชิงพาณิชย์ ชั้น 2 จะเป็นจุดจำหน่ายตั๋วโดยสาร และห้องรับรองผู้โดยสาร (เลานจ์) ของบริษัทเดินรถต่าง ๆ ที่จะมาใช้บริการอาหารเครื่องดื่ม ซึ่งบริษัทจัดเตรียมไว้คล้ายกับเลานจ์ ของสายการบินที่อยู่ในสนามบินชั้น 3 เป็นกล่องนอน (สลีปบอกซ์) เหมือนกับที่สนามบินดอนเมือง และชั้น 4 เป็นออฟฟิศของบริษัท ส่วนบริเวณรอบ ๆ อาจใช้เป็นพื้นที่สำหรับจอดรถที่สะดวกและเข้าถึงง่ายขึ้น เพราะปัจจุบันลานจอดรถทั่วไปที่มารอรับ-ส่งผู้โดยสารสามารถจอดรถได้ประมาณ 100 คัน ยังไม่เพียงพอต่อการเข้ามาใช้บริการ

“อาคารแห่งใหม่มีจุดเด่นคือ จะดีไซน์ในคอนเซ็ปต์คล้ายสนามบิน เพื่อง่ายต่อการบริหารจัดการ รูปแบบการบริหารจัดการช่องจอดรถโดยสาร จะนำเทคโนโลยีระบบซอฟต์แวร์มาใช้ และจะแยกประเภทรถอย่างชัดเจน ทั้งรถทัวร์และรถตู้ พร้อมลดจำนวนช่องจอดรถโดยสารเดิมจาก 110 ช่อง เหลือ 70 ช่อง ไม่ให้รถโดยสารมาจอดรอรับผู้โดยสารนาน แต่เมื่อผู้โดยสารครบแล้วรถโดยสารจึงเข้ามารับและออกเดินทางได้ คล้ายการระบบของสายการบินต่าง ๆ”