เอกชนใหญ่หารือจุฬาฯ ร่วมพัฒนาพื้นที่สระบุรี 5 พันไร่ สร้างนวัตกรรมเกษตร

จุฬาฯ ปรับแผนพัฒนาพื้นที่ 4,711 ไร่  ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เปิดรับฟังความคิดเห็นบริษัท “สระบุรีพัฒนาเมือง” เสนอแผนพัฒนาศูนย์ “knowledge outlet” บนพื้นที่ 60ไร่  ดึงนักวิจัยทั่วโลกชุมนุมต่อยอดเกษตรกรอัจฉริยะ
นายนพดล ธรรมวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นอร์ธแลนด์ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ใน จ.สระบุรี ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด และประธานกรรมการกฎบัตรสระบุรี เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางบริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง ได้เข้าหารือกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ 60 ไร่ ด้านติดถนนเส้นบ้านนา-แก่งคอย ของศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริเวณอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมด 4,711 ไร่ เพื่อพัฒนาตามแผนแม่บทสระบุรี ที่ต้องการสร้างให้เป็นเมืองศูนย์กลางนวัตกรรมอาหาร และเมืองไมซ์อัจฉริยะ ตามที่คณะกรรมการกฎบัตรสระบุรีได้ศึกษาและเห็นชอบร่วมกัน

ในข้อหารือมีความสนใจพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ให้เป็น “knowage outlet” ซึ่งโครงการดังกล่าวคงต้องมีการศึกษาบิสสิเนสโมเดลและความเป็นไปได้ของโครงการอย่างละเอียดรอบคอบก่อน โดยบริษัทสระบุรีพัฒนาเมืองจะรับหน้าที่มาดำเนินการศึกษาต่อไป

ที่ผ่านมาคณะกรรมการกฎบัตรสระบุรี ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน มีแนวคิดจะพัฒนายุทธศาสตร์ของจังหวัดสระบุรีให้เป็นเมืองศูนย์กลางนวัตกรรมอาหาร ผลิตภัณฑ์นม และเมืองไมซ์อัจฉริยะ เศรษฐกิจสีเขียวในจังหวัดขึ้น จึงได้ร่วมกับสมาคมการผังเมืองไทย ซึ่งได้งบประมาณสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) มาทำการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาขึ้น โดยหัวใจของแผนพัฒนาจะทำพื้นที่ 60 ไร่ ให้เป็น innovation center เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากผลผลิตทางการเกษตร โดยใช้นวัตกรรมที่ทันสมัยและเทคโนโลยีที่ทันสมัยทั้งห่วงโซ่คุณค่า (value chain)ที่เกิดขึ้นในกระบวนการสามารถไปใช้พื้นที่บริเวณศูนย์แห่งนี้เพื่อเรียนรู้และต่อยอดผลิตภัณฑ์ของตัวเองเป็นครั้งแรกที่มีการจับมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันอันเก่าแก่ที่มีองค์ความรู้ทุกด้านจะเข้ามาสนับสนุน อันนี้เป็นไฮไลต์ของตัวโครงการ

“การพัฒนาที่ดิน 60 ไร่จะสร้างความแตกต่างจากศูนย์นวัตกรรม หรือการจำหน่ายสินค้าโอท็อปที่จังหวัดต่าง ๆ ทำ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้คนมาเช็กอินซื้อสินค้า แต่เราจะพัฒนาโดยสร้างศูนย์การเรียนรู้ที่ทุกคน ทุกภาคส่วนสามารถเข้ามาพัฒนานวัตกรรมต่อยอดวิจัยองค์ความรู้ได้ จะมีการจัดสร้างห้องวิจัยที่ได้มาตรฐานระดับโลก และในอนาคตจะมีนักวิชาการ นักวิจัยจากทั่วโลก ต้องมาพูดคุยสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้”

สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่น่าจะเข้ามาใช้พื้นที่ตลอดห่วงโซ่คุณค่า เริ่มจากส่วนปลายน้ำ คือบุคคลทั่วไปที่สนใจซื้อผลิตภัณฑ์แปรรูปนวัตกรรมต่าง ๆ ไปสู่ระดับธุรกิจ นักท่องเที่ยว โรงเรียน นักศึกษา กลุ่มท้องถิ่นที่อยากศึกษาดูงานเรียนรู้ทางด้านนวัตกรรมอาหารและการเกษตร ด้านกลางน้ำ จะเป็นองค์กรธุรกิจตั้งแต่ระดับ SMEs ถึงองค์กรขนาดใหญ่ มีการเจรจาความร่วมมือทางธุรกิจการลงทุนในรูปแบบที่ต่างกันไป เช่น การซื้อวัตถุดิบ โนว์ฮาว การร่วมทุน มาเจรจาจับคู่ธุรกิจ และหวังจะเป็นศูนย์บ่มเพาะ startup ทางด้านเกษตรและอาหาร

รศ.ดร.ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า โครงการขอใช้พื้นที่ของจุฬาฯ ก็มีความเป็นไปได้ และสอดรับกับทางจุฬาฯกำลังจะปรับแผนบริหารจัดการการใช้พื้นที่ 4,711 ไร่ ที่จังหวัดสระบุรี ในปี 2563 ทั้งนี้ ทางจุฬาฯจะได้นำโครงการดังกล่าวของบริษัทสระบุรีพัฒนาเมือง มาพิจารณาในแผนใหญ่ด้วย แต่ส่วนที่จุฬาฯจะร่วมลงทุนด้วยหรือไม่ คงต้องรอพิจารณา business model ที่เหมาะสมที่จะทำกันออกมาอีกที ซึ่งคงมีหลายแนวทาง

“เดิมที่ดินแห่งนี้เป็นทรัพย์สินของกรมอุทยานฯ เป็นพื้นที่เสื่อมโทรม กรมอุทยานฯให้จุฬาฯมาดูแลเพื่อจะทำประโยชน์ ไม่ให้คนเข้ามารุกล้ำ ซึ่งตอนนี้เราก็มีปัญหาชาวบ้านรุกล้ำอยู่ แต่ต้องค่อย ๆให้ชาวบ้านออกไปจากพื้นที่ แต่ถ้ามีแผนพัฒนาโครงการเกิดขึ้นมาได้จริง ก็น่าจะมีอัตราการจ้างงานหลายร้อยคน สามารถจ้างชาวบ้านเหล่านี้มาทำงานในศูนย์ ปัจจุบันพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ตั้งโรงงานของคณะวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วยโรงงานแปรรูปอาหาร บรรจุภัณฑ์ พลังงาน และโรงงานทำพลาสติกชีวภาพ โดยโรงงานทั้งหมดตั้งมา 7 ปีแล้ว เพื่อช่วยผู้ประกอบการสินค้าโอท็อป และผู้ประกอบการรายเล็กในการวิจัยพัฒนาสินค้า และผลิตบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ หากในอนาคตเมื่อเอกชนสร้างศูนย์นวัตกรรมด้านอาหารสามารถต่อยอดมาให้โรงงานแปรรูปอาหารที่มีอยู่มาช่วยวิจัยพัฒนาต่อเนื่องกัน เพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรได้”

ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จุฬาฯ เล็งเห็นความสำคัญต่อการร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาชุมชน สังคมและประเทศสู่เส้นทางแห่งนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าและคุณค่า

แต่สำหรับพื้นที่เครือข่ายการเรียนรู้ภูมิภาคที่สระบุรี ยังคงต้องหารือและมีข้อมูลโครงการความร่วมมือที่ชัดเจนกว่านี้อีกมาก และต้องผ่านการพิจารณาอีกหลายขั้น รวมถึงสภามหาวิทยาลัยด้วย