กมธ.ลุยที่ตั้งโรงไก่เซ็นทาโกสระบุรี แนะสร้างในนิคมอุตฯเลี่ยงกระทบชาวบ้าน

หลังจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณตำบลหนองยาว และตำบลปากข้าวสาร จังหวัดสระบุรี ประมาณ 1,000 คน ได้ร่วมกันลงชื่อเพื่อคัดค้าน และขอความเป็นธรรมไปยังศูนย์ดำรงธรรม จ.สระบุรี องค์การบริหารส่วนตำบลหนองยาว นายอำเภอเมือง ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ให้ช่วยตรวจสอบกรณีบริษัท สยามเซ็นทาโกฟาร์ม จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการปศุสัตว์ครบวงจรได้ยื่นขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานฆ่าและชำแหละเนื้อไก่ โรงงานผลิตอาหารแปรรูป และอื่น ๆ มูลค่าหลายพันล้านบาท บนพื้นที่รวมเกือบ 300 ไร่ บริเวณติดริมถนนพหลโยธิน ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 102-103 อยู่ห่างจากใจกลางเมืองสระบุรีเพียง 2.5 กม. กินพื้นที่ 2 ตำบล คือ หนองยาว และปากข้าวสาร โดยชาวบ้านมีความกังวลต่อผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อม การใช้น้ำอุปโภค บริโภค ปัญหาน้ำเสียและกลิ่นเหม็นรุนแรงนั้น

ล่าสุด คณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้ลงพื้นที่ไปร่วมประชุมกับชาวบ้าน และตรวจสอบพื้นที่บริเวณดังกล่าวที่ได้รับการร้องเรียน

แนะสร้าง รง.ไก่ในนิคมอุตฯ

นายประทวน สุทธิอำนวยเดช รองประธานคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวภายหลังหารือร่วมกับตัวแทนของชาวบ้าน และตัวแทนจากบริษัท สยามเซ็นทาโกฟาร์ม ว่า จากการที่ประชาชนทั้งตำบลปากข้าวสารและตำบลหนองยาว ได้ยื่นเอกสารคัดค้านการก่อสร้างโรงงานฆ่าและชำแหละเนื้อไก่ของบริษัท สยามเซ็นทาโกฟาร์ม และขอให้คณะกรรมาธิการอุตสาหกรรมลงมารับฟังและตรวจสอบพื้นที่ 287 ไร่นั้น อยากฝากเรื่องให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ให้ตระหนักถึงเรื่องนี้ว่าประชาชนไม่เห็นด้วย ซึ่งรัฐธรรมนูญได้กำหนดว่า รัฐจะทำอะไรก็ตาม ในส่วนของการออกใบอนุญาตหรือออกกฎหมาย โดยเฉพาะพระราชบัญญัติโรงงาน รัฐต้องคำนึงถึงเสียงของประชาชน ถ้าหากประชาชนคัดค้านว่าส่งผลกระทบ ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ อยากฝากให้ตัวแทนของบริษัทที่เข้ามาเข้าร่วมประชุม ให้นำข้อมูลกลับไปนำเสนอผู้บริหารบริษัท ว่าควรก่อตั้งโรงงานภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรรม เพราะจะดำเนินการได้ง่ายและไม่ติดปัญหาแต่อย่างใด หากมีการดำเนินการก่อสร้างโรงงานในพื้นที่ตามที่ระบุไว้ ในอนาคตถ้าชาวบ้านไม่เห็นด้วยอาจต้องหยุดการก่อสร้าง ดังนั้น คิดว่าผลเสียจะมีมากกว่าผลรับอย่างแน่นอน

“ทาง กมธ.ได้ทราบถึงปัญหา และทราบว่าทางบริษัท สยามเซ็นทาโกฟาร์ม ได้มีการสำรวจพื้นที่ และมีการวางมัดจำค่าที่ดินไปแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ใด ๆ ยังไม่ได้มีการดำเนินการก่อสร้างโรงงาน อีกทั้งเรื่องขออนุญาตการก่อสร้างยังไม่ได้ดำเนินการ ตอนนี้อยากให้ประชาชนรับทราบว่า เบื้องต้นการดำเนินการต่าง ๆ ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ประชาชนสามารถเจรจากับผู้ประกอบการได้ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อการขออนุญาตก่อตั้งโรงงาน มีกฎหมายบังคับใช้ โดยอุตสาหกรรมจังหวัดต้องควบคุมขั้นตอนระเบียบการขออนุญาต ด้านโยธาและผังเมืองต้องดำเนินการตามกฎหมายผังเมือง และปศุสัตว์จังหวัดมีหน้าที่ควบคุมในการดำเนินกิจการโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปไก่ ซึ่งผู้ประกอบการต้องดำเนินการตามขั้นตอนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ส่วนเรื่องการจัดการบำบัดน้ำเสียและจัดการกับปัญหา ในฐานะกรรมาธิการต้องรับฟังความเห็นทั้งส่วนที่คัดค้าน และผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม ถ้าหากทางโรงงานมีการก่อสร้างเมื่อไหร่ขอให้หน่วยงานท้องถิ่น รายงานมาทางคณะกรรมาธิการทันที ซึ่งจะมีการพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป”

รง.ต้องตั้งห่างชุมชน 100 เมตร

นายนพดล ชีวะอิสระ อุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับโรงงานที่ก่อสร้างนั้น เป็นโรงงานประเภทที่ 4 (โรงงานฆ่าสัตว์ ที่ไม่ใช่สัตว์น้ำ) ซึ่งพื้นที่ 287 ไร่ ถ้าหากพิจารณาพื้นที่ตรงนี้ถือว่าสามารถก่อสร้างได้เนื่องจากอยู่ในพื้นที่สีเขียว ประเภทชนบท และเกษตรกรรม หมายความว่าสามารถก่อสร้างโรงงานเกี่ยวกับประเภทแปรรูปจากอาหารสัตว์ เมื่อบริษัทรวบรวมพื้นที่เสร็จ ทางบริษัทต้องไปขออนุญาตปลูกสร้างอาคาร อ.1 โดยการยื่นโครงสร้างอาคาร และสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หลังจากนั้นต้องยื่นเรื่องไปยังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด โดยทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจะรวบรวมข้อมูลพิจารณาและติดประกาศรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน (ประชาพิจารณ์) ทั้งนี้ ในการก่อสร้างโรงงานนั้น ต้องดูพื้นที่ข้างเคียงด้วย ซึ่งตามกฎหมายกระทรวงอุตสาหกรรมระบุไว้ว่า หากมีการก่อสร้างโรงงานต้องมีระยะห่าง 100 เมตร จากศาสนสถาน โรงเรียน และชุมชน เป็นต้น ทั้งนี้ หากชาวบ้านคัดค้านต้องมีการพิจารณา และอาจจะต้องหยุดการก่อสร้าง

ชี้ รง.วิ่งหานายหน้าเมินชุมชน

นางสาวกัลยา รุ่งวิจิตรชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสระบุรี เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า บริษัท สยามเซ็นทาโกฟาร์ม ไม่ได้แสดงความจริงใจที่จะมาประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน สร้างเศรษฐกิจให้กับชุมชนให้กับคนในพื้นที่ตั้งแต่ต้น แต่บริษัทกลับใช้วิธีการวิ่งไปหานายหน้าหรือผู้นำเพียงบางคนในการหาซื้อที่ดินก่อตั้งโรงงาน ทั้งที่ควรไปหาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ถ้าบริษัทรอบคอบ มีความละเอียดและสร้างความน่าเชื่อถือเป็นหลักประกันให้กับประชาชน บริษัทควรจะเข้าไปพบชาวบ้านในพื้นที่รอบบริเวณพื้นที่ที่จะก่อสร้างโรงงาน ก่อนที่จะวางมัดจำซื้อที่ดินจากชาวบ้าน ควรไปทำความเข้าใจกับชาวบ้านว่าการสร้างโรงงานอตุสาหกรรมดีอย่างไร เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจอย่างไร วิธีการกำจัดในเรื่องของมลพิษบริษัทเตรียมการไว้อย่างไร ตรงนี้จะได้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจะได้ตัดสินใจเองได้

กระทบคลองสายหลัก

นางลัดดาวรรณ อุดขาว ตัวแทนชาวบ้าน ต.ปากข้าวสาร และ ต.หนองยาว กล่าวว่า บริษัท สยามเซ็นทาโกฟาร์ม จำกัด ได้เข้ามารวบรวมพื้นที่เพื่อจะก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์ ทั้งหมด 287 ไร่ ซึ่งคาบเกี่ยวทั้ง2 ตำบล แม้ว่าทางบริษัทบอกว่าจะมีการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย แต่ชาวบ้านยังหวั่นเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อชุมชน เนื่องจากบริเวณดังกล่าวรายรอบไปด้วยโรงเรียน วัด บ้านจัดสรรและประชาชนที่อยู่อาศัยดั้งเดิม รวมถึงยังมีคลองหนองยาว แหล่งน้ำเพียงแหล่งเดียวที่ชาวบ้านกว่า 2,000 ครัวเรือน ใช้ในการอุปโภค บริโภค รวมถึงใช้ในการเกษตร เป็นคลองที่ชุมชนต่างให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นคลองสายหลักที่ชาวบ้านนำน้ำมาใช้ในการอุปโภค บริโภค

“การที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ครั้งนี้ เรามีเหตุผล เราไม่ใช่ผู้ถ่วงความเจริญอย่างที่ทุกท่านเข้าใจ เรามาเพื่อปกป้องชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเรา แม้ทุกคนมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย แต่ถ้าไม่มีน้ำ จะอยู่ได้อย่างไร เราไม่ได้ปฏิเสธความเจริญ แต่ควรนำความเจริญอย่างอื่น ที่ไม่ใช่โรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาได้หรือไม่ อย่างเช่นพื้นที่ของเราเป็นแลนด์มาร์ก เป็นปอดของ จ.สระบุรี แต่ทุกวันนี้กลับนำโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาสู่พื้นที่จังหวัด จะให้เราเปลี่ยนจาก จ.สระบุรี เป็น จ.ขยะบุรี ใช่หรือไม่ ปัจจุบันทางบริษัทยังไม่ได้มีการติดต่อเข้ามาเจรจากับชาวบ้านแต่อย่างใด”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ทางตัวแทนโรงงานได้เคยมาประชุมร่วมกับชาวบ้าน และชี้แจงว่าโรงงานจะมีการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย แต่น้ำเสียที่บำบัดแล้ว ส่วนหนึ่งต้องทิ้งออกสู่คลองสาธารณะ นั่นหมายถึงคลองหนองยาว ซึ่งเป็นสายน้ำหลักที่ชาวบ้านใช้อุปโภคบริโภคเพียงแห่งเดียว ซึ่งปกติหน้าแล้งมีปริมาณน้ำลดน้อยลงอยู่แล้ว หากโรงงานมีปล่อยน้ำที่บำบัดแล้วลงมา ปริมาณน้ำที่เหลือน้อยคงไม่สามารถเจือจางน้ำทิ้งจากโรงงานได้

ด้านตัวแทนบริษัท สยามเซ็นทาโกฯ 4 คน ทีมาร่วมประชุมไม่มีใครยอมตอบข้อคำถามใด ๆ