เกษตรกรเมืองตรังเลี้ยง “ปูม้า-ปูนิ่ม” เพิ่มทางเลือกอาชีพเชื่อมโยงท่องเที่ยว

หลายปีที่ผ่านมาพืชผลทางการเกษตรสำคัญของภาคใต้อย่างยางพาราและปาล์มน้ำมันมีราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่อง แม้รัฐบาลพยายามกระตุ้นการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าหลายช่องทาง แต่ไม่มีทีท่าว่าจะประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เกษตรกรหลายรายเริ่มหันไปปลูกพืชอื่นทดแทน เช่น ทุเรียน กาแฟ ทำสวนผสม และการทำประมง โดยเกษตรกรในจังหวัดตรังเลือกที่จะหันมาเลี้ยง “ปูม้า-ปูนิ่ม” มากขึ้น เพราะเป็นที่ต้องการของร้านอาหาร รีสอร์ต โรงแรม รวมไปถึงตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“ประพจน์ ศรีไตรรัตน์” เกษตรกรผู้เลี้ยงปูนิ่ม ตำบลบ้านนา อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง บอกว่า จังหวัดตรังเป็นจังหวัดที่มีประชากรทำอาชีพการเกษตรโดยเฉพาะการปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันเป็นส่วนใหญ่ แต่ที่ผ่านมาทั้งยางพาราและปาล์มน้ำมันจะประสบปัญหาเรื่องความไม่มีเสถียรภาพของราคา เกษตรกรขาดทุนจนแทบจะอยู่กันไม่ได้จึงต้องหันไปทำอาชีพอื่นเสริม และตนได้เลือกมาทำการเลี้ยงปูนิ่มขาย ปรับเปลี่ยนพื้นที่สวนมาเลี้ยงปูนิ่มแทน ซึ่งตลาดมีความต้องการมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“ผมเริ่มเลี้ยงปูนิ่มตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมามี 2 บ่อ ในเนื้อที่ประมาณ 9 ไร่ โดยมีกล่องสำหรับเลี้ยงโดยเฉพาะ ซึ่งการเลี้ยงแต่ละรอบประมาณ 7,000 กล่อง ซึ่งในขณะนี้ผมมีกล่องเลี้ยงปูนิ่มอยู่ 20,000 กล่อง เมื่อเลี้ยงเต็มพื้นที่ ทุกอย่างพร้อมจะได้รอบละ 20,000 กล่อง โดยแต่ละกล่องจะเลี้ยงได้ 1 ตัว ส่วนอาหารที่เลี้ยงจะเป็นอาหารสด เช่น ปลาหลังเขียว ปลาทูแขก กิโลละไม่เกิน 20 บาท เมื่ออยู่ในช่วงปูลอกคราบจะไม่ให้อาหาร ถ้าให้อาหารปูจะหยุดลอกคราบ เมื่อปูลอกคราบก็เก็บปูนิ่มขึ้นไปแช่ในน้ำจืดทันที หากปล่อยไว้ในกล่องนานจะแข็งตัวไม่เป็นปูนิ่มต่อไป เมื่อเก็บปูที่ลอกคราบทั้งหมดแช่ในน้ำจืดแล้ว ใช้เวลา 1 ชั่วโมง จึงนำไปวางเก็บไว้โดยไม่ใส่น้ำ อยู่ได้วันหรือสองวันก็ยังไม่ตาย”

ส่วนราคาจำหน่ายปูนิ่มอยู่ที่กิโลละ 300-400 บาท มีผู้มารับซื้อถึงที่ ยิ่งในเมืองท่องเที่ยวจะขายได้ดี เช่น ภูเก็ต พัทยา เพราะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเยอะ อาหารชนิดนี้เมื่อขึ้นโต๊ะในโรงแรม ในภัตตาคาร ราคาจะแพงขึ้น และต้องคิดต่อว่าจะทำอย่างไรให้สามารถมีตลาดรองรับผลผลิตที่เลี้ยงออกมาได้ โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอปะเหลียน อำเภอหาดสำราญ อำเภอกันตัง อำเภอสิเกา จังหวัดตรังในพื้นที่ติดทะเลส่วนใหญ่ที่เริ่มทำการเลี้ยงปูนิ่มกันมากขึ้นเกือบทุกพื้นที่ ซึ่งในขณะนี้จะมีพวกยี่ปั๊ว ซาปั๊ว คอยรับซื้ออยู่ ผลกำไรจึงแบ่งกันเป็นทอด ๆ ส่วนผู้เลี้ยงต้องทำให้ปูนิ่มมีอัตราการตายไม่เกิน 20-30% จึงจะมีกำไร

ขณะเดียวกันในพื้นที่เกาะลิบง “นายอะบีดีน จิเหลา (บังดีน)” เกษตรกรเจ้าของฟาร์มปูม้าขุน เล่าว่า ตนเป็นประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะลิบง ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง และเป็นเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ Young Smart Farmer ปี 2563 ของจังหวัดตรัง มีแนวคิดอยากพัฒนาคุณภาพปูม้าทั่วไปที่ชาวประมงตำบลเกาะลิบงหาได้ตามท้องทะเลตามธรรมชาติ เพื่อที่จะให้ได้ปูม้าขุนคุณภาพอีกเกรดหนึ่ง เมื่อนำมาขุนในกระชังแล้วจะได้ปูม้าที่ตัวใหญ่ขึ้น น้ำหนักมากขึ้น เนื้อแน่น และรสชาติหวาน

โดยเริ่มจากการรับซื้อปูม้าของชาวประมงในพื้นที่ แล้วนำมาขุนในกระชัง เลี้ยงปูในกล่องพลาสติกกล่องละ 1 ตัว ให้ลูกปลาเล็ก ๆ เป็นอาหาร ประมาณ 7 วันก็จะได้ปูม้าขุนไซซ์ใหญ่กว่าปูทั่วไป ปูที่นำมาขุนในอายุ 7 วัน จะได้น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น 10-15% จากน้ำหนักเดิม และยังขายได้ราคาที่สูงขึ้นอีกด้วย โดยจะสามารถอัพราคาขายได้สูงถึง 400-500 บาท/กก. และเน้นทำตลาดตามร้านอาหาร รีสอร์ต โรงแรม ที่ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ

ด้าน “มานพ แก้วอัมพร” เกษตรจังหวัดตรัง บอกว่า การเลี้ยงปูม้าเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ซึ่งทีมเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง และเกษตรอำเภอกันตัง ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนฟาร์มเลี้ยงปูม้าขุน ของเกษตรกร Young Smart Farmer ปี 2563 ที่ตำบลเกาะลิบง พร้อมแนะแนวทางการจัดการกระชังปูม้าขุน ทั้งด้านคุณภาพ ราคา การตลาด และการเชื่อมโยงธุรกิจสู่การท่องเที่ยวเกาะลิบง โดยวางแผนไว้ว่าจะใช้ธุรกิจนี้ในการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ ให้นักท่องเที่ยวได้มากินปูสด ๆ ถึงกระชัง ภายใต้ชื่อ “วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะลิบง” ที่เกษตรกรได้จดทะเบียนกับสำนักงานเกษตรอำเภอกันตังไว้แล้ว

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากกรมประมงระบุว่า ความต้องการบริโภคปูของผู้บริโภคยังคงมีสูงตลอดปี ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลและฤดูกาลท่องเที่ยว สำหรับตลาดต่างประเทศ มีการส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ เป็นต้น ปัจจุบันราคาปูที่จำหน่ายโดยเฉลี่ยในท้องตลาด มีดังนี้ ปูเนื้อ ขนาด 300-400 กรัม/ตัว ราคา 150-190 บาท/กก. ขนาด 400-500 กรัม/ตัว ราคา 190-250 บาท/กก. ปูไข่ขนาด 200-300 กรัม/ตัว ราคา 200-250 บาท/กก. ขนาด 300 กรัมขึ้นไป ราคา 300 บาทขึ้นไป