ชาวสวนจี้รัฐเร่งสร้างเสถียรภาพราคายาง

ยางพารา

เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางชี้ “ประกันรายได้ยางรอบ 2” แค่โครงการแก้ปัญหาระยะสั้น ประคองชาวสวนฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ โควิด-19 แนะรัฐวางแผนระยะยาว สร้างเสถียรภาพราคายางอย่างยั่งยืน ขณะที่ตลาดโลกความต้องการยางพาราพุ่งสูง เผยสวนยางพาราที่ไม่มีเอกสารสิทธิ บัตรสีชมพู 6 ล้านไร่ “วืด” เข้าโครงการ

นายประยูรสิทธิ์ คณานุรักษ์ ประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง การยางแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้เสนอโครงการประกันรายได้ยางพาราระยะที่ 2 เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายน-กันยายน 2563 โดยจะเริ่มจ่ายตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ต่อไปอีก 6 เดือน ถือว่าสอดรับกับฤดูกาลเปิดหน้ากรีดยางพาราพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป ซึ่งนโยบายประกันรายได้ยางพารารอบที่ 2 ได้ผ่านคณะกรรมการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) และต้องนำเสนอคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (บอร์ด กนย.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กนย. แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติต่อไป

ทั้งนี้ การประกันรายได้ถือเป็นโครงการระยะสั้น สามารถประคับประคองให้ชาวสวนยางดำเนินการแก้ปัญหาไปได้ ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่รัฐบาลควรมีโครงการระยะยาวไว้รองรับด้วย คือทำให้ราคายางพารามีเสถียรภาพและโครงการที่ยั่งยืน

“ตอนนี้ตลาดโลกยังมีความต้องการยางพาราสูงมาก และยังผลิตกันได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เพราะในปี 2563 จะเกิดยางพาราหดหายไปมาก เพราะเกิดภัยแล้งและโรคยางพาราใบร่วงไปปริมาณมาก ทำให้ได้ผลผลิตปริมาณน้อย ทิศทางราคาขยับ แต่จะไม่กระโดด เพราะเศรษฐกิจโลกท่ามกลางไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั้งโลก”

นายประยูรสิทธิ์กล่าวต่อไปว่า กรณีสวนยางพาราที่ไม่มีเอกสารสิทธิหรือบัตรสีชมพูยังไม่ได้รับเงินประกันรายได้ และที่มีเอกสารสิทธิจะได้รับเงินประกันรายได้ทุกรายไป

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ กรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การนำนโยบายประกันรายได้ต่อเนื่องจากรอบแรก 6 เดือน มาเป็นรอบที่ 2 ต่อเนื่องจากเดือนเมษายน 2563 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กันยายน เป็นเวลา 6 เดือน โดยกำหนดราคายางแผ่นดิบ 60 บาท/กก./ไร่ น้ำยางสด 57 บาท/กก./ไร่ และยางก้อนถ้วย 46 บาท/กก./ไร่ (100 เปอร์เซ็นต์) ถือว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะชาวสวนยางพาราไม่ได้เงินเยียวยาจำนวน 5,000 บาท จำนวน 3 เดือน จากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 อีกทั้งชาวสวนขายยางได้ราคาที่ต้นทุน

“เงินประกันรายได้ในการชดเชย น่าจะมีมาตรฐานเดียวกัน ระหว่างยางแผ่นดิบ ยางก้อนถ้วย และน้ำยางสด จะต้องชดเชยโดยราคาเดียวกันทั้งหมด คือราคา 60 บาท/กก./ไร่ เท่ากัน ไม่ใช่ยางแผ่นดิบ 60 บาท น้ำยางสด 57 บาทและยางก้อนถ้วย 46 บาท/กก./ไร่”

นายอุทัยกล่าวอีกว่า ส่วนในประเด็นเรื่องชาวสวนยางพารา บัตรสีเขียวคือผู้มีสวนยางพาราที่มีเอกสารสิทธิ และบัตรสีชมพู สวนยางพาราที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ซึ่งขณะนี้ได้เงินประกันรายได้เฉพาะผู้มีบัตรสีเขียว ส่วนบัตรสีชมพูอยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งจะต้องผ่านการเห็นชอบของ กนย.ต่อไป ทั้งนี้ได้ผ่านบอร์ด กยท.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 63 ที่ผ่านมา ซึ่งส่วนนี้มีประมาณ 6 ล้านไร่ หรือ 1 ใน 3 จากยางพาราที่มีเอกสารสิทธิบัตรสีเขียว จำนวนกว่า 1.7 ล้านราย ประมาณ 19.4 ล้านไร่

“กลุ่มบัตรสีชมพู ยังไม่ได้รับเงินประกันรายได้ และสวนยางพาราที่ไม่มีเอกสารสิทธิ โดยไม่ได้มาขึ้นทะเบียนรับบัตรสีชมพู ก็ยังมีอีกจำนวนหนึ่ง และขณะนี้หมดเขตไปแล้วเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 63 ที่ผ่านมา สำหรับสวนยางพาราที่ไม่มีเอกสารสิทธิบัตรสีชมพู จะผ่านความเห็นชอบของ กนย.เมื่อไหร่นั้นยังไม่ทราบได้ เพราะว่าขณะนี้ยังไม่สามารถประชุม กนย.ได้ เพราะสถานการณ์ไวรัสโควิด-19”