โควิดทำ ศก.ใต้ไตรมาส1หดตัวสูง เกษตร-ท่องเที่ยวติดลบ-เอกชนยุติลงทุน

การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบภาพรวมเศรษฐกิจ ล่าสุดทางธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ (ธปท.) โดยนายสันติ รังสิยาภรณ์รัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ได้เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ ไตรมาสที่ 1 ปี 2563 หดตัวมากขึ้นกว่าไตรมาสที่ 4 ปี 2562 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยเฉพาะช่วงปลายไตรมาส ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทําให้กําลังซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศลดลง สะท้อนจากจํานวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง ทำให้ภาคการท่องเที่ยวหดตัวสูง ขณะที่การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัวเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะการใช้จ่ายภาคบริการของนักท่องเที่ยวไทย

ด้านการลงทุนภาครัฐหดตัวน้อยลงตามการเร่งเบิกจ่ายหลังประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจําปี 2563 ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนทรงตัวในระดับต่ำใน ภาคเกษตร ผลผลิตหดตัวตามผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ลดลงจากปริมาณน้ำฝนที่น้อยกว่าค่าเฉลี่ย ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมมีการหดตัวน้อยลงจากไตรมาสก่อน ตามคําสั่งซื้อยางพาราแปรรูปจากต่างประเทศขยายตัวในช่วงต้นไตรมาส ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ จากราคาอาหารสดที่ชะลอลงมาก ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงจากไตรมาสก่อน

สำหรับผลผลิตเกษตร หดตัวติดลบ 8.1% เนื่องจากปาล์มน้ำมันหดตัวต่อเนื่อง เพราะปริมาณน้ำฝนที่ไม่เพียงพอ รวมถึงกุ้งขาวหดตัวมากขึ้นติดลบ 10% เพราะการบริโภคลดลงและราคาต่ำกว่าปีก่อน ขณะที่ผลผลิตยางพาราขยายตัวเล็กน้อยติดลบ 10.1% ด้านราคาสินค้าเกษตรขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน เพราะปาล์มน้ำมันขึ้นราคาตามความต้องการใช้ผลิตไบโอดีเซล B10 ทำให้รายได้เกษตรกรขยายตัวจากไตรมาสก่อน

ภาคการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงติดลบ 35.5% จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายประเทศจํากัดการเดินทางระหว่างประเทศ โดยเฉพาะช่วงปลายไตรมาส ส่งผลให้นักท่องเที่ยวหดตัวในทุกสัญชาติ โดยเฉพาะจีนที่หดตัวกว่าร้อยละ 60 แต่ได้รับอานิสงส์จากช่วงต้นไตรมาส ที่ชาวรัสเซียเดินทางเข้ามาเป็นจํานวนมาก

การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง เพราะมีการผลิตยางพาราแปรรูป และไม้ยางพาราแปรรูปและผลิตภัณฑ์ ที่ขยายตัวสอดคล้องกับการส่งออกในช่วงต้นไตรมาส ที่มีการสั่งซื้อเข้ามาช่วงปลายปี 2562 นอกจากนี้มีการเร่งผลิตถุงมือยางมากขึ้นตามความต้องการจากต่างประเทศเพื่อใช้ในการป้องกันโรค ด้านการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน กลับหดตัวสูงติดลบ 9.5% ตามกำลังการใช้จ่ายที่ลดลง โดยเฉพาะในเดือนมีนาคม กําลังซื้อและความเชื่อมั่นในการบริโภคของภาคครัวเรือนลดลง โดยเฉพาะการใช้จ่ายในภาคบริการของนักท่องเที่ยวไทยที่หดตัวสูงในหลายจังหวัด นอกจากนี้การใช้จ่ายหมวดยานยนต์หดตัวมากขึ้นตามยอดจดทะเบียนรถทุกประเภท อย่างไรก็ตาม การอุปโภคบริโภคกลุ่มสินค้าในชีวิตประจําวันปรับดีขึ้นเล็กน้อย จากปัจจัยชั่วคราวจากการเร่งซื้ออาหารเพื่อกักตุนสินค้า

ด้านการลงทุนภาคเอกชน ยังคงทรงตัวในระดับต่ำติดลบ 0.7% โดยมูลค่าการนําเข้าสินค้าทุนหดตัวต่อเนื่องติดลบ 16.5% ตามการนําเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ลดลงในอุตสาหกรรมไม้ยางพาราแปรรูปและผลิตภัณฑ์ ด้านยอดจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลกลับมาหดตัวติดลบ 20.7% อย่างไรก็ตาม การลงทุนในภาคก่อสร้างกลับขยายตัว 11.2% ของพื้นที่อนุญาตก่อสร้าง สอดคล้องกับการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังมีการขยายตัวเพื่อที่อยู่อาศัย ทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และอาคารชุด

สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐ หดตัวน้อยลงตามการเบิกจ่ายรายจ่ายประจําปี 2563 ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ โดยการเบิกจ่ายรายจ่ายประจํากลับมาขยายตัว 4.8% จากการเบิกจ่ายในหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปของมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบการกํากับของรัฐบาล นอกจากนี้ การเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนหดตัวน้อยลง ติดลบ 33.9%

เสถียรภาพเศรษฐกิจอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ติดลบ 0.31% ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก รวมถึงราคาอาหารสดชะลอตัวลงมาก สําหรับอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.5% ลดลงจาก 1.8% ในไตรมาสก่อน ตามการจ้างงานภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแรงงานยางพารา สอดคล้องกับผลผลิตยางพาราที่กลับมาขยายตัวในไตรมาสนี้