ร้านเคมีเร่งล้างสต๊อก “พาราควอต” ก่อนกฎหมายมีผล 1 มิ.ย.63

วัตถุอันตราย - เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2อ563 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกำศกระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศแบนสารเคมี"พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส" ขึ้นบัญชีวัตถุอันตราย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มิ.ย. 63 เป็นต้นไป

ร้านเคมีเกษตรต่างจังหวัดเร่งเคลียร์สต๊อก “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” ขานรับประกาศแบน ลงราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ 1 มิ.ย. 63 เอเย่นต์รายใหญ่เผยหวั่นร้านค้าปลีกเคมีสต๊อกบวม เกษตรกรนำสินค้ามาคืน พร้อมชี้สารทดแทน “กลูโฟซิเนต” เกษตรกรไม่นิยมใช้ เหตุแพงกว่าพาราควอต 5 เท่า ประสิทธิภาพสู้พาราควอตไม่ได้ หวั่นถึงมีกฎหมายห้ามขาย แต่คาดจะมีลักลอบขายใต้ดิน เหมือนหลายสารเคมีที่ถูกแบน แต่ยังมีขายเกลื่อนอยู่

นับเป็นเวลากว่า 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. 60 ที่คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง “มีมติให้ยกเลิก” การใช้ “พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส” และเตรียมกำหนดการใช้ “ไกลโฟเซต” เนื่องจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุเป็นสารที่อาจก่อมะเร็ง แต่เรื่องดังกล่าวถูกดึงยืดเยื้อกันมาอย่างยาวนาน ผ่านมาหลายรัฐมนตรี จนในที่สุด เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2563 ลงนามโดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศแบน “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” ขึ้นบัญชีวัตถุอันตราย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มิ.ย. 63 เป็นต้นไป ส่วนไกลโฟเซตนั้นมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่นายสุริยะเป็นประธานได้ลงมติยกเลิกการแบนและเปลี่ยนมาเป็นมาตรการจำกัดการใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 62

นายวิสุทธิ์ นพพันธ์ ผู้จัดการ บริษัท จันทบุรีคลังเกษตร จำกัด อ.มะขาม จ.จันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางร้านยังมีสต๊อกของพาราควอต คลอไพริฟอส ที่จะถูกห้ามจำหน่ายและมีไว้ในครอบครอง ตามวัตถุอัตรายประเภทที่ 4 คาดว่าจะระบายออกไม่ทันเพราะเหลือระยะเวลาไม่ถึง 10 วัน ปกติเดือนมีนาคม-เมษายนจะมีฝนตกแล้ว ชาวสวนจะเริ่มพ่นยาฆ่าหญ้า แต่ปีนี้เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งยาวนานถึงเดือนพฤษภาคม บางแห่งยังมีภัยแล้งอยู่ทำให้การจำหน่ายให้เกษตรกรต้องยืดระยะเวลาการใช้ออกไป

ส่วนสารทดแทนพาราควอตคือ กลูโฟซิเนต เกษตรกรใช้อยู่แล้วเพียงแต่ยังมีปริมาณน้อย ขายไม่ดีเพราะเทียบราคา ปริมาณที่ใช้ต้นทุนแพงกว่าถึง 5 เท่า หากต้องเคลียร์สต๊อกจริง ๆ ก่อนกฎหมายบังคับใช้วันที่ 1 มิถุนายน 2563 จะต้องปรึกษากับบริษัทแม่เพื่อส่งไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้านกัมพูชา ซึ่งไม่มีกฎหมายห้ามนำเข้าเพราะร้านจำหน่ายกับชาวสวนคงไม่กล้าเสี่ยงเก็บสต๊อกไว้แน่นอน เพราะบทลงโทษรุนแรง

แหล่งข่าวจากร้านจำหน่ายเคมีภัณฑ์แห่งหนึ่งใน ต.เนินสูง จ.จันทบุรี เปิดเผยว่า ทางร้านเหลือสารเคมีพาราควอต และคลอร์ไพริฟอสอยู่ปริมาณน้อยมาก มั่นใจว่าสามารถเคลียร์สต๊อกได้หมดก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้แน่นอน เพราะส่วนใหญ่จะใช้ในพืชไร่เป็นจำนวนมาก จันทบุรีส่วนใหญ่เป็นพืชสวน เพราะตอนนี้ชาวสวนส่วนใหญ่หันมาใช้วิธีตัดหญ้า ยกเว้นที่สูง มีหิน เนินเขา ส่วนสารกลูโฟตซิเนตที่จะทดแทนพาราควอตนั้น เกษตรกรยังไม่นิยมเนื่องจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ คุณภาพการกำจัดหญ้าพาราควอตใช้ดีกว่า ส่วนกลูโฟซิเนตใช้แล้วหากฝนตกต้องเว้นระยะ 6-8 ชั่วโมง มิฉะนั้นยาจะไม่ได้ผล แต่พาราควอตแม้มีฝนตกชุกพ่นได้ ใบหญ้าจะแห้งตาย และต้นทุนกลูโฟซิเนตสูงถึงลิตรละ300 บาท อัตราการใช้ยา 1 ลิตรครึ่งต่อน้ำ 200 ลิตร และการพ่นต้องพ่นอาบใบที่ต้องใช้ปริมาณสิ้นเปลืองมากกว่า เปรียบเทียบกับการใช้พาราควอตลิตรละ 150 บาท อัตราการใช้ยา 1 ลิตรต่อน้ำ 200 ลิตร ดังนั้น การทำตลาดด้วยการลดราคาคงยากเพราะพาราควอตอยู่ในความนิยมแล้ว มีคุณภาพกำจัดหญ้าได้ดีกว่า ส่วนคลอร์ไพริฟอสมีสารทดแทนได้ดีกว่าจำนวนมากและราคาใกล้เคียงกันไม่มีปัญหา

“ต่อไปพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสจะมีการนำมาจำหน่ายใต้ดินได้หรือไม่ มีตัวอย่างหลาย ๆ สารที่ถูกแบนไปแล้ว ยังพบว่ามีการลักลอบนำเข้ามาขายอยู่ แต่สารเคมีพาราควอตน่าจะยุ่งยากกว่าเพราะเป็นน้ำต่างจากสารเคมีบางชนิดเป็นผง”

ด้านนายจักรพงศ์ ลิ่มศิวิไล เจ้าของร้านกระบี่การเกษตร จังหวัดกระบี่กล่าวว่า ขณะนี้ได้ส่งคืนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสไปยังบริษัทแม่ทั้งหมดแล้ว เนื่องจากกฎหมายให้จำหน่ายได้ถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 และเชื่อว่าหลายร้านขายสินค้าทางการเกษตรของจังหวัดกระบี่คงจะมีการคืนสารทั้ง 2 ชนิดทั้งหมดแล้วเช่นกัน โดยมีสารกลูโฟซิเนตมาจำหน่ายแทน ไม่ใช่ของไบเออร์ แต่เป็นสินค้าจากประเทศจีนที่มีราคาถูกกว่า ราคาอยู่ที่ 250 บาทต่อลิตร

ด้านนายปราโมทย์ นิลมน เจ้าของร้านดินแดงการเกษตร อ.ลำทับ จ.กระบี่กล่าวว่า ทางร้านได้คืนสารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสไปทั้งหมดแล้วก่อนหน้านี้ เนื่องจากขายไม่ค่อยได้เนื่องจากปีนี้มีภาวะฝนทิ้งช่วงมายาวนาน ขณะนี้กำลังรอสารตัวใหม่เข้ามาจำหน่ายแทน เพราะเชื่อว่าหลังจากฝนตกลงมาแล้ววัชพืชเริ่มขึ้น สารฆ่าหญ้าเหล่านี้จะขายดี

แหล่งข่าวจากเอเย่นต์ขายส่งเคมีเกษตรรายใหญ่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันทางบริษัทมีเครือข่ายร้านสารเคมีรายใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือประมาณ 80% กระจายตามจังหวัดต่าง ๆ รวมประมาณ 200 ราย เป็นผู้ประกอบการรายเล็กประมาณ 20% ที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้เตรียมตัวรับนโยบายดังกล่าวมานานแล้ว ไม่น่าจะมีปัญหาเพราะมีการส่งรายงานสต๊อกสินค้าให้กับกรมวิชาการเกษตรทุกวันที่ 15 และวันที่ 30 ของทุกเดือนอยู่แล้ว โดยผู้ประกอบการทั้งหมดเหลือสต๊อกอยู่ประมาณ 10-20% เท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบกับทางร้านค้าและเกษตรกร เนื่องจากเป็นสินค้าที่ใช้ตามฤดูกาล ทั้งนี้ ได้มีการหารือถึงแนวทางการช่วยเหลือร้านค้า โดยจะไม่โยนภาระให้เกษตรกรหากเกษตรกรนำสินค้ามาคืน ทางร้านต้องดูว่าสต๊อกเหลือมากน้อยจะสามารถช่วยได้อย่างไร ผลกระทบรุนแรงมากเพียงใด เพราะปกติซื้อแบบขายขาด แต่การจะให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบที่เหลือทั้งหมดก็คงไม่ไหว

ตอนนี้ปลายทางยังไม่เกิดเราก็ยังมองภาพไม่ออก หากร้านค้าคืนสินค้ามาเยอะทางผู้ประกอบการก็ต้องเข้าไปคุยกับกรมวิชาการเกษตรให้เห็นใจ ขอผ่อนผันการใช้ออกไปอีก 1 ฤดูกาลปลูกประมาณ 3-6 เดือน ถ้าทำแบบนี้ผู้ประกอบการ ร้านค้า เกษตรกรจะไม่ได้รับผลกระทบมาก อีกทั้งเราก็จะไม่ได้เสียเงินกับการนำเงินหมื่นกว่าล้านมากำจัดสารเหล่านี้ อีกทั้งยังเป็นมลพิษทางอากาศ คิดว่าควรนำสินค้าที่เหลือเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพราะตอนนี้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว เกษตรกรจะได้นำไปใช้ในการกำจัดหญ้า คิดว่าน่าจะเป็นทางออกที่ดี”

ปัจจุบันราคาสินค้าไม่สามารถควบคุมได้ ยิ่งมีกระแสการแบนทางร้านค้าก็คงจะขายขาดทุนดีกว่าเสียเงินค่าใช้จ่ายในการครอบครอง ส่วนสารที่จะมีทดแทนตอนนี้คือ กลูโฟติเนต แต่ยังไม่ตอบโจทย์ 100% ซึ่งสารเคมีชนิดนี้ใช้งานไม่ได้กับพืชบางชนิด เช่น มันสำปะหลัง เป็นต้น โดยเกษตรกรยังมีความจำเป็นที่ต้องใช้สารพาราควอต อีกทั้งสินค้ายังราคาสูงประมาณ 250-350 ต่อลิตร เกษตรกรมองว่าไม่คุ้มต่อการลงทุน