ตลาดพลอย 5 หมื่นล้านหงอย ‘โรงเจียระไน’ ขาดสภาพคล่องปิดระนาว

ตลาดพลอยมูลค่า 5 หมื่นล้านเหงา เหตุตลาดหลักลูกค้าต่างประเทศ กระทบสภาพคล่อง “โรงงานเจียระไน” สต๊อกล้น ขาดสภาพคล่องหนัก ภาวะหนี้สินพุ่ง เข้าไม่ถึงเงินซอฟต์โลนดอกเบี้ย 2% ของรัฐบาลถึงขั้นปิดโรงงานไปแล้วกว่า 50% คาดไตรมาส 2 มูลค่าส่งออกร่วงหนักกว่า 50%

นายชายพงษ์ นิยมกิจ ประธานหอการค้าจังหวัดจันทบุรี อุปนายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรีและผู้จัดการ บริษัท เอสเอสเอ็น เซล แอนด์ ดิสทริบิวชั่น จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ตลาดพลอยซบเซาอย่างมาก หลังรัฐบาลปลดล็อก ตลาดในประเทศดีขึ้นเล็กน้อย เพราะตลาดหลักอยู่ในต่างประเทศต้องรอให้ปลดล็อกการเดินทางเข้า-ออก

แต่ขณะเดียวกันประเทศคู่ค้าหลัก เช่น ฮ่องกง จีน อินเดีย ยุโรป อเมริกา เผชิญโควิด-19 เช่นกัน กว่าที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นจะดีขึ้น มีกำลังซื้อฟื้นกลับมาเหมือนเดิมคิดว่าต้องใช้ระยะเวลายาว เห็นได้จากตัวเลขภาพรวมการส่งออกไตรมาสแรกการส่งออกพลอยเนื้อแข็งลดลง 44.13% คาดว่าไตรมาส 2 มูลค่าการส่งออกพลอยเนื้อแข็งน่าจะลดลงถึง 50% และไตรมาส 3-4 อาจจะฟื้นตัวได้ หากช่วงปลายปีรัฐบาลเปิดการเดินทางเข้า-ออก ทั้งนี้ ภาครัฐควรทำประชาสัมพันธ์จัดอีเวนต์กระตุ้นตลาดทั้งภายในและต่างประเทศอย่างจริงจัง เพื่อระบายสต๊อก และเกิดการจ้างงาน

“การปลดล็อกตลาดในประเทศทำให้โรงงานเจียระไนรายย่อยปล่อยสต๊อกพลอยที่ค้างตั้งแต่ต้นปีได้บ้าง และคนเดินพลอยได้มีรายได้หมุนเวียนเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น ปัญหาสำคัญโรงงานเจียระไนเข้าไม่ถึงเงินกู้ดอกเบี้ย 2% ของรัฐ และสถาบันการเงินยังไม่ยอมรับให้ใช้อัญมณีเป็นหลักค้ำประกัน จึงพยายามผลักดันผ่านสมาคมให้รัฐตั้งกองทุนพิเศษเฉพาะช่วยอุดหนุนเอสเอ็มอีไม่ต้องผ่านเกณฑ์ธนาคาร เพื่อให้ผู้ประกอบการผ่านปี 2563 ไปได้ เพราะมีผลต่อการเลิกจ้าง และการสูญเสียแรงงานที่มีทักษะเฉพาะอย่างการเจียระไนพลอย อาจจะต้องเสียตลาดให้ตลาดศรีลังกา ฮ่องกง จีน อินเดียในอนาคต” นายชายพงษ์กล่าว

นายอดิศักดิ์ ถาวรวิริยะนันท์ นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี กล่าวว่า การเปิดตลาดพลอยคาดว่าระยะแรกตลาดภายในประเทศน่าจะกลับมาไม่เกิน 10% พ่อค้ายังไม่มีออร์เดอร์ ส่วนใหญ่พ่อค้ารายใหญ่ ๆ จะมาซื้อพลอยร่วงที่โรงงานไปผลิตจิวเวลรี่มากกว่า 50% ทั้งนี้คาดว่าปลายปี 2563 ตลาดพลอยยังไม่น่าจะฟื้นตัว ต้องรอให้เปิดสายการบินตามปกติตลาดจะค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้น แต่ปัญหาใหญ่ขณะนี้คือโรงงานเจียระไนขนาดใหญ่ ขนาดย่อมขาดเงินทุนหมุนเวียนมีภาระหนี้สิน และไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ซอฟต์โลน อัตราดอกเบี้ย 2% ของรัฐบาลที่มาช่วยสภาพคล่องและผ่อนคลายภาวะหนี้สิน ทำให้ต้องปิดโรงงานไปมากกว่า 50%

นางสุภาพร นิยมกิจ ประธานกลุ่มคลัสเตอร์เมืองอัญมณีและประธานกลุ่มเครือข่ายจังหวัด OTOP กล่าวว่า ตลาดที่มีการแข่งขันกันน้อย ประกอบกับโรงงานเจียระไนพลอยต้องการระบายสต๊อกพลอยเพื่อนำเงินมาหมุนเวียนอาจจะทำให้ถูกกดราคา ทั้งนี้ช่วงที่ผ่านมาปิดตลาดพลอยมีการทำตลาดออนไลน์ภายในประเทศได้ แต่ยอดสั่งซื้อน้อยมาก เนื่องจากการซื้อขายต้องมีการสัมผัส ตรวจสอบดูความพึงพอใจ พลอยสีที่มีมูลค่าสูงพ่อค้าต้องตรวจสอบจับต้องด้วยตัวเอง

รายงานข่าวจากสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (GIT) เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจอัญมณี สร้างรายได้ปีละประมาณ 200,000 ล้านบาท ไตรมาสแรกปี 2563 มูลค่าการส่งออก 47,357.71 ล้านบาท ลดลง 23.38% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2562 เนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ต่างประเทศล็อกดาวน์และชะลอการนำเข้า พลอยสีส่งออกเป็นอันดับ 3 คิดเป็นสัดส่วน 4.89% ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทย หดตัวลง 33.68% สินค้าส่งออกหมวดพลอยเนื้อแข็งเจียระไน (ทับทิม แซปไฟร์ มรกต) ลดลง 44.13% โดยตลาดส่งออกหลักคือ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง อิตาลี อินเดีย สวิตเซอร์แลนด์ และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ปรับตัวลดลง 28.42% ตลาดส่งออกคือ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง อิตาลี