โควิดทำเศรษฐกิจใต้ Q2 วูบหนัก ราคาสินค้าเกษตรดิ่ง-ยอดใช้สิทธิประกันสูง

Photo by SAEED KHAN / AFP

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ (ธปท.) รายงานภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ ไตรมาสที่ 2 ปี 2563 หดตัวมากขึ้นจากไตรมาส 1 โดยเฉพาะช่วงต้นไตรมาส ซึ่งหลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดลงชั่วคราว จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่หดตัวสูง ทำให้กระทบต่อกำลังซื้อ ส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชนหดตัวสูงในทุกหมวดการใช้จ่าย แม้ภาครัฐจะมีมาตรการออกมาช่วยเหลือได้บ้าง ส่วนด้านการส่งออกหดตัวมากขึ้นตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอ

นอกจากการผลิตและส่งออกถุงมือยางและอาหารทะเลกระป๋องขยายตัวดี เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ด้านการลงทุนภาคเอกชนหดตัวมากขึ้นจากไตรมาสก่อน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากรายจ่ายประจำเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เริ่มปรับดีขึ้นเล็กน้อยในช่วงปลายไตรมาส

หลังการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้นจากราคาพลังงานและอาหารสด ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนการว่างงานในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นสูง

สำหรับด้านภาคการท่องเที่ยวมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัวสูงถึง -98.1 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในภาคใต้ได้ ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้า (ไม่รวมหมวดอากาศยาน เรือ แท่น และรถไฟ) หดตัวมากขึ้นถึง -11.8% จากไตรมาส 1 ตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ลดลงในหลายหมวดสินค้า

ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง -0.3 จากไตรมาส 1 ตามการผลิตและส่งออกถุงมือยางที่ขยายตัวมากขึ้น รวมถึงอาหารทะเลกระป๋องที่ยังขยายตัวดี ด้านการผลิตยางพาราแปรรูปขยายตัวใกล้เคียงกับไตรมาส 1 ส่วนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบหดตัวน้อยลง ตามปริมาณวัตถุดิบที่เข้าโรงงาน

ด้านการผลิตอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งยังคงหดตัวสูงต่อเนื่องตามคำสั่งซื้อลดลง ขณะที่ผลผลิตเกษตรกลับมาขยายตัวในทุกสินค้าหลัก โดยเฉพาะปาล์มน้ำมันและผลไม้ ขยายตัวสูงจากพื้นที่ปลูกใหม่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ประกอบกับปริมาณน้ำฝนเพิ่มมากขึ้น

ด้านราคาสินค้าเกษตรกลับมาหดตัวตามราคายางพารา ผลจากอุปสงค์ที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจคู่ค้า และราคาน้ำมัน ในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งราคาปาล์มน้ำมันชะลอลงมากจากไตรมาส 1 ตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้เกษตรกรกลับมาหดตัวจากไตรมาสก่อน

ขณะที่การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัวสูงถึง -43.4 จากไตรมาส 1 ที่มีปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนอ่อนแอลงมากทั้งด้านการจ้างงาน รายได้และความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยการใช้จ่ายหดตัวสูงในทุกหมวด โดยเฉพาะการใช้จ่ายภาคบริการของนักท่องเที่ยวชาวไทย หดตัวถึง -91.4 ด้านการใช้จ่ายสินค้าหมวดยานยนต์หดตัวสูง -37.0 ตามยอดจดทะเบียนรถยนต์ทุกประเภท

เช่นเดียวกับการใช้จ่ายสินค้าในชีวิตประจำวัน และสินค้ากึ่งคงทนที่หดตัว -25.4 แม้มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐมาช่วยพยุงกำลังซื้อได้บ้าง ส่วนการลงทุนภาคเอกชนหดตัวมากขึ้นถึง -5.7 จากไตรมาส 1 ตามการลงทุนในภาคก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ และมูลค่าการจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศที่หดตัวมากขึ้นในหมวด และผลจากผู้ประกอบการบางส่วนชะลอการลงทุนจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวม

สำหรับการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ แม้ยังมีการก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่อยู่บ้าง เพื่อเร่งส่งมอบให้กลุ่มลูกค้าที่จองไว้ แต่เริ่มเห็นสัญญาณชะลอก่อสร้างทั้งโครงการใหม่ และโครงการต่อเนื่อง สอดคล้องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ที่หดตัว 2.0 จากทั้งบ้านแนวราบและอาคารชุด การใช้จ่ายภาครัฐ ขยายตัวจากไตรมาส 1 โดยรายจ่ายประจำขยายตัวสูง 22.1 ตามการเบิกจ่ายที่เพิ่มขึ้นในหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่ออกนอกระบบ ขณะที่รายจ่ายลงทุนหดตัวน้อย -10.3 ลงตามการเบิกจ่ายในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของกรมชลประทาน กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท

ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ติดลบมากขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 3.35 จากราคาพลังงานหดตัวสูงตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก รวมถึงราคาอาหารสดลดลง

สำหรับตลาดแรงงานเปราะบางมีมากขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนการว่างงานในระบบประกันสังคมเพิ่มขึ้นสูง ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2563 เงินฝากคงค้างของสถาบันการเงินขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาส 1 ทั้งเงินฝากของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเงินโอนตามมาตรการเยียวยาของภาครัฐ ด้านสินเชื่อคงค้างขยายตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งมาจากสินเชื่อธุรกิจเพื่อเสริมสภาพคล่องเป็นสำคัญ