จันทบุรีล่าชื่อค้านเหมืองทอง สวนปาล์มจี้รัฐโรงสกัดรับซื้อไม่เป็นธรรม

จันทบุรีค้านทำเหมืองทอง

“จันทบุรี”ล่ารายชื่อคัดค้านการขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำของบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง ในท้องที่ อ.แก่งหางแมว หวั่นแหล่งต้นน้ำ เมืองเกษตรกรรม-ท่องเที่ยวเสียหาย ฟากสวนปาล์มจี้รัฐ โวยโรงสกัดรับซื้อปาล์มไม่เป็นธรรม

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานจากจังหวัดจันทบุรีเข้ามาว่า วันที่ 9 กันยายนเป็นวันแรก กลุ่มคนไม่เอาเหมืองทองคำนัดรวมพลกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดจันทบุรี เพื่อคัดค้านการขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำของบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง ในท้องที่ อ.แก่งหางแมว โดยนางอินทรา มานะสกุล รองประธานอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) จันทบุรี คาดว่าจะรวบรวมรายชื่อผู้คัดค้านในวันนี้ได้ไม่ต่ำกว่า 100,000 คน จากประชากรทั้งหมด 10 อำเภอ จากที่คณะทำงานตั้งเป้ากันไว้ประมาณ 200,000 คน

“ใน อ.แก่งหางแมวตอนนี้ นอกเหนือจากบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง ที่ขอเข้าสำรวจแหล่งแร่ทองคำ 2 แปลง พื้นที่ 14,650 ไร่ แล้วก็ยังมีอีก 3 บริษัท ที่เตรียมยื่นขออาชญาบัตรสำรวจแร่อีก ดังนั้นเราจึงมีฉันทานุมัติในที่ประชุม ทสม. เมื่อวันที่ 3 กันยายน คัดค้านการขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำที่ยื่นขอมาทั้งหมด รวมถึงพื้นที่อื่น ๆ ในจังหวัดด้วย และให้ถอนจังหวัดจันทบุรีออกจากจังหวัดที่เป็นแหล่งแร่ทันที” นางอินทรากล่าว

ขณะที่ นายธนภณ กิจกาญจน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า เครือข่ายภายใต้รัฐธรรมนูญ องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เครื่อข่ายภาคประชาสังคม เอกชนองค์กรต่าง ๆ ได้รวมตัวกันเพื่อยื่นรายชื่อผู้คัดค้านการดำเนินการขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำของบริษัท รัชภูมิ ไมนิ่ง ในเครืออัครา เพื่อไม่ให้ดำเนินการไปสู่การขอสำรวจและขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำต่อไป โดยจะทำการยื่นรายชื่อคัดค้านกับรักษาการผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี และยื่นผ่านไปสำนักนายกรัฐมนตรีอีกฉบับ

ทั้งนี้ ประเด็นคัดค้านก็คือ 1) เป็นแหล่งต้นน้ำ 2) เป็นเมืองเกษตรกรรม-ท่องเที่ยว3) คดีเหมืองทองอัคราสร้างความหวั่นวิตกให้กับชาวจันทบุรี

Advertisment

ด้านนายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า คำขอของบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง เป็นการขออนุญาตเข้าสำรวจแร่และการสำรวจแร่เพื่อหาพื้นที่แร่ที่มีศักยภาพสูงและมีความคุ้มค่าเชิงพาณิชย์ ทำในพื้นที่เล็กน้อยเพื่อเก็บข้อมูลภาพรวมโดยการเจาะสำรวจหรือธรณีฟิสิกส์ ซึ่งเมื่อได้รับอนุญาตให้ทำการสำรวจแร่แล้ว ก่อนเข้าไปดำเนินการสำรวจต้องได้รับอนุญาตจาก “เจ้าของพื้นที่ก่อน” เมื่อดำเนินการเสร็จต้องฝังกลบ ทำสภาพพื้นที่ให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิม จึงไม่ทำให้เกิดความเสียหายและส่งผลกระทบต่อพื้นที่สำรวจ

“การได้รับอนุญาตอาชญาบัตรไม่ผูกพันถึงสิทธิในการได้รับประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จะกำกับดูแลการดำเนินงานของผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิดทั้งความปลอดภัยและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการฟื้นฟูพื้นที่การสำรวจ โดยผู้ขอต้องปฏิบัติตามหลักวิชาการและรายละเอียดเงื่อนไขตามแผนงานที่ได้รับอนุญาต หากตรวจสอบพบว่าไม่เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดสามารถเพิกถอนอาชญาบัตรได้”

นางสาวกาญจนา ทัพป้อม อุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ กล่าวว่า ปัจจุบันมีบริษัทที่เคยยื่นขอสำรวจเหมืองแร่ทองคำในคราวเดียวกันที่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.แร่ ปี พ.ศ. 2560 ในจังหวัดจันทบุรีมี 4 บริษัท คือ บริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง, บริษัท เอราวัณ ไมนิ่ง, บริษัท พารอน ไมนิ่ง และบริษัท ซันเนยี่ ไมนิ่ง

นอกเหนือไปจากการล่ารายชื่อเพื่อคัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำแล้ว ด้านชาวสวนปาล์มน้ำมันก็มีความเคลื่อนไหว โดยนายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วันที่ 11 กันยายนนี้ กลุ่มเกษตรกรปาล์มน้ำมันภาคกลาง จะไปยื่นหนังสือต่อกรรมาธิการวิสามัญปาล์มน้ำมัน ที่สภาผู้แทนราษฎร เรื่องการซื้อปาล์มที่ไม่เป็นธรรม มีส่วนต่างของราคา กก.ละ 60-80 สตางค์ ซึ่งเป็นเหตุให้สมาพันธ์ต้องรวบรวมรายชื่อสมาชิกกลุ่มปาล์มน้ำมันภาคกลาง ในนามของสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย เพื่อจะไปยื่นหนังสือในครั้งนี้ด้วย

Advertisment

“ตอนนี้การรับซื้อปาล์มของกลุ่มโรงสกัดน้ำมันปาล์ม ในแต่ละจังหวัดกำหนดราคาแตกต่างกันมาก กระบี่ ราคา 4.80 บาท ชุมพร 4.40 บาท กลุ่มภาคกลางประมาณ 4 บาท อย่างกลุ่มหนองเสือ สระบุรี นครนายก พระนครศรีอยุธยา ราคารับซื้อที่ลานเทประมาณ 3.40 บาทเท่านั้น”