“สนามบินพัทลุง” 1,400 ไร่ รอลุ้นผลศึกษา 9 เดือน

สนามบินพัทลุง
เติบโต - จังหวัดพัทลุงคาดหวังว่าหากผลศึกษามีความเหมาะสมในการก่อสร้างสนามบินจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดให้ขยายตัวเติบโตขึ้น

“ผู้ว่าฯ พัทลุง” ลุ้นอีก 9 เดือน ผลศึกษาความเป็นไปได้การก่อสร้าง “สนามบินพัทลุง” บนที่ดิน 1,400 ไร่ ของกรมธนารักษ์ บริเวณ ต.ควนมะพร้าว อ.เมืองคลอด หวังบูมเศรษฐกิจพัทลุง จังหวัดใกล้เคียงทั้งด้านเศรษฐกิจ ท่องเที่ยวเมืองรองที่กำลังขยายตัว

รายงานข่าวจากจังหวัดพัทลุงเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมท่าอากาศยาน (ทย.) กระทรวงคมนาคม ได้มีการลงนามสัญญาว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา คือ บริษัท ดีไว พลัส จำกัด บริษัท ออมนิ โซลูชั่น จำกัด มาศึกษาความเป็นไปได้โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานพัทลุง จ.พัทลุง ตามแผนจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2564 รวมระยะเวลาประมาณ 9 เดือน

นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า จ.พัทลุง เป็นกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย เป็นเมืองประวัติศาสตร์ต้นกำเนิดศิลปะการแสดงที่ขึ้นชื่อหนังตะลุงมโนราห์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติทะเลน้อย อุทยานนกน้ำ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำแรมซาร์ไซต์แห่งแรกของประเทศไทย และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยม

โดยแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศขยายตัวเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลให้จังหวัดมีอัตราการขยายตัวเติบโตด้านการท่องเที่ยวเมืองรองมาเป็นอันดับ 1 ของประเทศ

ดังนั้น หากจังหวัดพัทลุงได้รับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อสนับสนุน โดยเฉพาะการเดินทางด้วยเครื่องบิน ซึ่งสามารถอำนวยความสะดวกในการให้บริการแก่นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ รวมทั้งประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพการพัฒนาได้หลายด้าน ทั้งการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ วัฒนธรรม วิถีชีวิต จะสามารถเพิ่มงาน เพิ่มรายได้ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจพัทลุง กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ภาคใต้ และประเทศไทยโดยรวม”

ผศ.ดร.กุณฑล ทองศรี คณะกรรมการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานและสนามบินพัทลุง เปิดเผยว่า สำหรับสนามบินพัทลุงได้มีการขับเคลื่อนร่วมกับนายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม คณะกรรมการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานและสนามบินพัทลุงและผู้เกี่ยวข้องได้ดำเนินการจนกระทั่งมาสู่สัญญาจัดซื้อจัดจ้าง บริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้โครงการก่อสร้างสนามบินพัทลุง เป็นที่เรียบร้อย

สำหรับเป้าหมายสนามบินพัทลุง จะเป็นสนามบินพาณิชย์ทั่วไป สามารถร่นระยะการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ อ.ชะอวด อ.จุฬาภรณ์ อ.หัวไทร และ อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช อ.ระโนด อ.กระแสสินธุ์ และ อ.สทิงพระ จ.สงขลา ได้ดี

อีกทั้งได้สนับสนุนให้ประชาชนชาว จ.พัทลุงที่อยู่ต่างจังหวัด ได้เดินทางกลับภูมิลำเนาได้อย่างสะดวก และยังเป็นประโยชน์ทางการค้าโลจิสติกส์การขนส่งที่รวดเร็วที่สุด สามารถนัดรับสินค้าปลายทางได้อย่างแม่นยำในเรื่องของระยะเวลา และรวมถึงสินค้ามีความปลอดภัยก็มีมาตรฐานในการขนส่ง จะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและสามารถยกระดับทางเศรษฐกิจได้ดี” ดร.กุณฑลกล่าว

ผศ.ดร.กุณฑลกล่าวต่อไปว่า อีกประการสำคัญ สนามบินพัทลุงจะช่วยลดความแออัด ความหนาแน่นการจราจรทางอากาศของสนามบินจังหวัดใกล้เคียง และเป็นการเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานรองรับการขยายตัวเจริญเติบโตของธุรกิจการบิน ซึ่งในอนาคตการจะจัดหาสถานที่ก่อสร้างสนามบินนั้นเป็นสิ่งที่ดำเนินการได้ยาก

คาดใช้งบไม่ต่ำกว่า 1 พันล้าน

ทั้งนี้ ตามขั้นตอนเมื่อศึกษาแล้วเสร็จจะเสนอของบประมาณจากรัฐบาล คาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท การลงทุนโดยภาครัฐจะสะดวกกว่า แต่หากการลงทุนโดยภาคเอกชนจะมีการศึกษาเรื่องจุดคุ้มทุน

“หากมีสนามบินที่จังหวัดพัทลุงจะเป็นการตอบโจทย์ต่อธุรกิจเศรษฐกิจในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงโดยรวมที่จะติดตามมา ซึ่งภาคเอกชนจะทำการผลักดันส่วนอื่น ๆ ทั้งภาคธุรกิจการท่องเที่ยว การค้าการลงทุน สิ่งที่ตามมาคือนักท่องเที่ยวก็จะเดินทางเข้ามา จะก่อให้เกิดรายได้ เกิดแรงงานในที่สุด”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านั้น สนามบินพัทลุงได้มีพื้นที่เป้าหมาย 3 แห่ง แต่คณะขับเคลื่อนฯเห็นว่าพื้นที่เหมาะสมที่สุด เพราะมีความพร้อมเรื่องที่ดินไม่ต้องใช้งบประมาณเวนคืนที่ดินบริเวณพื้นที่ ต.ควนมะพร้าว อ.เมือง จ.พัทลุง ของกรมธนารักษ์ มีประมาณเกือบ 1,400 ไร่ และไม่เป็นอุปสรรคต่อสิ่งแวดล้อม