ชี้จุดเปลี่ยนเกษตรไทยยุคใหม่สู่อนาคต สร้าง “นวัตกรรม” ตอบโจทย์ความสำเร็จ

ในยุคที่อุตสาหกรรมอาหารเริ่มมีความหลากหลาย ผู้ประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกร หรือผู้ผลิตอาหารในระดับขั้นต้น เริ่มก้าวไปสู่การใช้นวัตกรรมใหม่เพื่อพัฒนาการผลิตอาหารมากขึ้น ตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคให้มากที่สุด แต่ทว่าเกษตรกรหลายรายอาจเข้าไม่ถึงนวัตกรรมดังกล่าว เพราะยังอยู่ในกระบวนการผลิตแบบเดิม ทำให้การผลิตยังคงมีต้นทุนสูง สวนทางกับรายได้ที่น้อยลง ฉะนั้นการใช้สื่อในปัจจุบันถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้รับรู้ถึงแนวคิดใหม่ ๆ ได้

ในงานสัมมนาประจำปี 2563 นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน จัดขึ้นในโอกาสครบรอบ 33 ปี เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ในหัวข้อ “นวัตกรรมใหม่ เพื่อเกษตรไทยยุค 5G” Innovation for new normal ในหลายเรื่องโดยมีผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ความรู้อย่างมากมาย

“อลงกรณ์ พลบุตร” ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ประเทศไทยสามารถปลูกหรือผลิตพืชผลทางการเกษตรได้ทั่วทุกภาคของประเทศ นอกจากผลิตเพื่อบริโภคในประเทศแล้ว ยังเป็นศูนย์รวมการส่งออกสินค้าเกษตรระดับโลก สร้างงานสร้างเงินให้กับเกษตรกรได้อย่างต่อเนื่อง เช่น ข้าว ยางพารา ที่ยังเป็นปัญหาคือการพัฒนาด้านนวัตกรรมและการตลาด พืชบางชนิดยังคงจำเป็นต้องอาศัยการแปรรูปเพื่อช่วยเพิ่มให้ผลผลิตมีมูลค่าสูงขึ้น

“ประเทศไทยเป็นแชมป์การส่งออกสินค้าเกษตรติดระดับโลก แต่ถูกจัดว่าเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เราติดหล่มอยู่ตรงนี้มาอย่างยาวนาน เพราะขาดเทคโนโลยีและนวัตกรรม ดังนั้น โมเดลเศรษฐกิจเดิมที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวใช้ไม่ได้แล้ว รวมถึงไม่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งที่มีต้นทุนต่ำกว่าได้ จำต้องออกแบบโมเดลใหม่ 1.bio economy เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจเกษตร 2.creative economy เศรษฐกิจสร้างสรรค์ 3.social economy เศรษฐกิจเพื่อสังคม และ 4.digital economy เศรษฐกิจดิจิทัล และเราไม่สามารถพึ่งทุนนิยมที่ผูกขาดได้อีกต่อไป เราต้องร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการ และเกษตรกร ที่จะต้องดูต้นน้ำยังปลายน้ำ”

ปรับปรุงพันธุ์-คุมการปลูก

“สุภัทร เมฆิยานนท์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักวิจัยและพัฒนา บริษัท เจียไต๋ จำกัด กล่าวว่า จากประสบการณ์ของเจียไต๋ ซึ่งเป็นองค์กรค้าขายต้องก้าวผ่านคำว่าค้าขายก่อนจึงเกิดนวัตกรรมการพัฒนา

โดยสนใจปรับปรุงพันธุ์ผักเป็นหลัก เพราะภาครัฐให้ความสนใจพืชประเภทข้าว มันสำปะหลัง อ้อย อยู่แล้ว สำหรับเจียไต๋มีเงื่อนไขการปรับปรุงพันธุศาสตร์ที่จะต้องทนทานแข็งแรง ต้องก้าวข้ามสภาพอากาศ อยู่ได้ตามสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

“สิ่งที่เราให้ความสนใจตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันคือ พืชตระกูลแตง และพริกมะเขือเทศ ซึ่งทั้งสองเป็นพืชที่ปลูกมาอย่างช้านานและใช้ในครัวเรือนสูง เราปรับปรุงพันธุ์ด้วยการสร้างโมเดลให้เปลี่ยนไปตามยุคสมัย เพื่อรองรับกับความต้องการของตลาด ตั้งเป้าหมายไว้คือ ต้องตอบโจทย์ 3 ส่วนคือ เกษตรกร ลูกค้า-ตลาด และผู้บริโภค เกษตรกรต้องชอบผลิตผลที่ปลูกได้ ลูกค้าตามท้องตลาดต้องอยากซื้อขาย สุดท้ายคือต้องถูกใจผู้บริโภค”

ด้าน “เกรียงไกร โมสาลียานนท์” นักวิจัยห้องปฏิบัติการสรีรวิทยาและชีวเคมีด้านพืช ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ BIOTEC กล่าวว่า

plant factory หรือการปลูกพืชในตึก ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมทางรอดของเกษตรกร เป็นการปลูกพืชในสภาพควบคุมหรือปลูกในห้องในตึก ต้องเข้าใจการเติบโตของพืชนั้น ๆ เพื่อนำมาปลูก และทำให้เจริญเติบโตได้ดี รวดเร็ว โดยมีการควบคุมในระบบปิด สามารถสร้างเทคนิคปลูกพืชได้ทุกชนิด แต่กว่า 95% ที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นผักกินใบ

ข้อดีของ plant factory คือ สามารถควบคุมพืชที่ปลูกได้ ไม่มีแมลงมีความสะอาดสูง ข้อเสียคือ เรื่องต้นทุนสูง ไม่คุ้มทุน เพราะไม่ได้เกิดด้วยกระบวนการธรรมชาติ ปัจจุบันยังคงเป็นยุคเริ่มแรกที่ยังคงใช้พันธุ์พืชปกติในการปลูกอยู่

ความสำเร็จจากนวัตกรรม

“อรนุช ทัพพสารดำรง” รองกรรมการผู้จัดการและผู้บริหาร ศูนย์วิจัย-พัฒนาซีพีเอฟ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด กล่าวว่า ในซีพีเอฟมีนักวิทยาศาสตร์ทำงานอยู่ 100 กว่าคน เพื่อพัฒนาอาหารให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค โดยใช้การตัดสินของผู้บริโภคจากการทดลองเป็นหลักไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงตลอด ต้องอัพเดตตลอดเวลา สินค้าบางอย่างขายได้ และอาจจะยังถูกใจผู้บริโภค แต่บางอย่างเมื่อเวลาผ่านไปก็ต้องคิดค้นสูตรใหม่

นอกจากนี้แพ็กเกจจิ้งบรรจุอาหารก็ถือว่าเป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่ง อาหารบางตัวต้องมีบรรจุภัณฑ์เฉพาะ หรือวัตถุดิบเฉพาะ รวมถึงคุณภาพซึ่งต้องคงที่ตลอด ก็ต้องอาศัยนวัตกรรมเข้ามาช่วย เช่น อกไก่นิ่ม ระดับความนิ่มจะไม่ใช้คนตัดสิน ใช้การตัดสินของเครื่องจักรทำงานแทนเพื่อให้ได้คุณภาพสม่ำเสมอ ให้สามารถเก็บได้นานขึ้น ขายได้ไกลขึ้น

“วุฒิชัย ชะนะมา” เจ้าของผลิตภัณฑ์ “บานาน่าโซไซตี้” จากพิษณุโลกกล่าวว่า บานาน่าโซไซตี้แบรนด์กล้วยตากก็เริ่มจากอุตสาหกรรมใต้ถุนบ้าน ใช้การผลิตจากความรู้ในท้องถิ่นจากรุ่นสู่รุ่นกระทั่งได้เริ่มศึกษาการใช้นวัตกรรมเพื่อการผลิตอาหารอย่างจริงจัง

จากกล้วยตากธรรมดาสู่การเป็นกล้วยตากอินเตอร์ จากราคา 4 กล่อง 100 บาทเป็น 100 บาท/กล่อง โดยใช้พาราโบล่าโดมที่ถูกพัฒนามาใช้ในการทำกล้วยตากแห่งแรกของประเทศไทย

“นวัตกรรมการผลิตนี้มีส่วนสำคัญมากในชีวิตผม พอมีพาราโบล่าโดมเข้ามาในชีวิต ทำให้การค้าขายและธุรกิจของผมเปลี่ยนไป มีความสำคัญทุกด้าน และผมอยู่กับชุมชน ทุกอย่างจึงเชื่อมโยงไปถึงชุมชนหมด จากอุตสาหกรรมใต้ถุนบ้านมาเป็นวิสาหกิจชุมชน มาเป็นบริษัทจนถึงส่งออกไปโซนยุโรป”

“วีรพงศ์ สุโอสถ” เจ้าของฟาร์มลุงแดง ฟาร์มเมล่อน&ผักสลัด จังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ในเชิงเกษตรกรมีปัญหาหลักที่น่าจะเจอกันแทบทุกคน คือราคาผลผลิตต่ำ ก่อนฟาร์มลุงแดงจะมาทำเมล่อนก็ปลูกฝรั่งมาก่อน พอมีปัญหาเรื่องราคาจึงเริ่มศึกษาพืชชนิดอื่น และเห็นว่าเมล่อนทำยาก เกษตรกรปลูกน้อย ใช้แรงงานน้อย คู่แข่งก็น่าจะน้อยด้วย ลองปลูกอยู่นานนับปี ร่วมกับการใช้นวัตกรรมต่าง ๆ จนประสบความสำเร็จ เช่น เก็บข้อมูลดินและสภาพอากาศด้วยเครื่องมือตรวจวัดอัตโนมัติ สามารถแจ้งผลผ่านมือถือได้ ตั้งเวลารดน้ำโดยไม่ต้องใช้คน เป็นต้น

ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนอาชีพเกษตรกรที่แสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ สามารถผลักดันอาชีพเกษตรกรในประเทศไทยนำไปสู่การปฏิบัติจริง พร้อมก้าวไปสู่การแข่งขันในตลาดโลก