น้ำพริกแม่การุณ สุรินทร์ เล็งโกอินเตอร์ ดันขึ้นห้าง ลาว-กัมพูชา

ท่ามกลางวิกฤตการเกิดโรคระบาด ผู้ประกอบการสินค้า OTOP หลายรายยกธงขาวชะลอกิจการ บ้างก็ล้มพับปิดตัวเองเพราะทนแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว แต่ “น้ำพริกแม่การุณ” จากจังหวัดสุรินทร์ กลับเป็นหนึ่งในสินค้า OTOP ที่สวนกระแส ทำสถิติยอดขายแซงคู่แข่ง

และกำลังขยับขยายตัวเองเตรียมบุกตลาดต่างประเทศ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “บงก์วรัฐ งามพร้อม” เจ้าของแบรนด์ “น้ำพริกแม่การุณ” ถึงการเติบโตของธุรกิจ จากการทำน้ำพริกปลาย่างสู่สินค้า OTOP 4 ดาว ผลิตขายในไทยและต่างประเทศ มีรายได้กว่า 400,000 บาท/เดือน

“บงก์วรัฐ” เล่าว่า แบรนด์ “น้ำพริกแม่การุณ” ได้มาจากชื่อคุณแม่ เพราะสมัยก่อนท่านจะทำน้ำพริกปลาย่างเป็นของฝากให้ตอนที่ไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งเราก็ได้แบ่งให้เพื่อนบ้านที่เป็นคนไทยไปชิมด้วย เขาชอบและได้รับการตอบรับที่ดีมาก หลายคนสนใจสั่งซื้อเพิ่ม

เมื่อเดินทางกลับมาอยู่เมืองไทย จึงมองเห็นโอกาสและได้เริ่มมองหาตลาด โดยเริ่มจากตลาดประชารัฐในจังหวัดสุรินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2560 ด้วยงบฯลงทุน 1,700 บาท ซึ่งได้ผลตอบรับดีมาก โดยเฉพาะน้ำพริกปลาย่างสูตรดั้งเดิม หลังจากนั้นมีรายการทีวีติดต่อให้เราไปออกรายการปากท้องต้องรู้ และรายการทุกทิศทั่วไทย

Advertisment

ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้น้ำพริกแม่การุณเป็นที่รู้จักในประเทศไทย ตอนนี้กำลังขยายกิจการเป็นโรงงานเครื่องจักรที่ทันสมัย ตั้งอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ อำเภอเขวาสินรินทร์ห่างจากตัวเมือง 14 กิโลเมตร คาดว่าจะเดินเครื่องได้ไม่เกินเดือนมีนาคมปี 2564 สามารถผลิตน้ำพริกได้ครั้งละ 30 กิโลกรัม

“ปัจจุบันยังคงใช้วิธีตำด้วยครกยักษ์แบบโบราณที่สามารถผลิตได้ในอัตราเฉลี่ยประมาณ 10 ลัง/เดือน รายได้เฉลี่ย 3-4 แสนบาท/เดือน คาดว่าโรงงานน่าจะพร้อมดำเนินกิจการไม่เกินเดือนมีนาคม พร้อมกับการได้รับมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ก่อนนี้เกิดปัญหาล่าช้าเพราะว่ารูปแบบของโรงงานไม่ตรงตามมาตรฐานสินค้าส่งออก”

ทั้งนี้ เราได้คิดค้นหาวิธีรักษาอายุน้ำพริกไว้ให้ได้นานขึ้น เพราะผลิตภัณฑ์ของเราไม่ได้ใส่สารกันบูด แต่เป็นการนำเอาสมุนไพรใส่ลงไปแทน ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 4 ตัว คือ 1.น้ำพริกปลาย่างสูตรดั้งเดิม 2.กลางดงกุ้ง 3.ปลาย่างหย็อง และ 4.น้ำพริกกากหมู

ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายดีที่สุด แต่เก็บได้ไม่นานเพราะจะขึ้นรา ส่วนกลางดงกุ้งและปลาย่างหย็องสามารถรับประทานได้ 15 วัน แช่ตู้เย็นรับประทานได้นาน 3-6 เดือน ราคาอยู่ที่ 500 บาท/กิโลกรัม หรือกระปุกละ 35 บาท ส่วนวัตถุดิบมีการคัดสรรเป็นอย่างดี เช่น พริกและหอม รับมาจากจังหวัดศรีสะเกษ อาหารทะเลรับมาจากจังหวัดระนอง

Advertisment

ปัจจุบันเราขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า OTOP ระดับ 4 ดาว ที่ได้รับมาตรฐานอาหารปลอดภัย โดยกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) การันตีความนิยมด้วยรางวัลชนะเลิศ ในโครงการ ONIE Online Commerce Center (OOCC) ดีเด่นประจำอำเภอ โดยศูนย์ กศน.อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ประจำปี 2561-2562

สัดส่วนทางการตลาดมีทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศ โดยตลาดในประเทศมีการจัดขายผ่านหน้าร้านประมาณ 60% ได้แก่ Tops Super market ทำยอดขายได้ 10,000-12,000 บาท/สัปดาห์ และวางขายที่ร้านส้มตำพันล้าน ในจังหวัดนครราชสีมา อีกทั้งมีการรับตัวแทนจำหน่าย รวมถึงลูกค้าที่นำผลิตภัณฑ์ไปขายภายใต้แบรนด์ของตัวเอง

ซึ่งทางร้านขายให้ราคากิโลกรัมละ 300 บาท และขายออนไลน์ 40% ผ่านเพจ Facebook ชื่อ “น้ำพริกแม่การุณ” ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มลูกค้าประจำที่มาจากหลายภูมิภาค เป็นคนไทย 90% ทั้งนี้ ทางร้านได้รับจากการสนับสนุนจาก JD CENTRAL ที่เปิดตลาดจริงใจ และการจัดงานอีเวนต์ให้ผู้ประกอบการ OTOP ได้ออกบูทในเซ็นทรัล

ถือเป็นโอกาสที่ดีให้ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ด้านการส่งออกมีส่งไปยังฝรั่งเศส เบลเยียม และฮอลแลนด์ ในลักษณะรับหิ้วหรือเป็นของฝาก ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวเอเชียที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ การส่งลักษณะนี้จะส่งได้ครั้งละ 10 กิโลกรัม และมีการส่งทุกสัปดาห์ ราคาขายประมาณ 20 ยูโร/กก. นอกจากนี้มีลูกค้าจากกัมพูชามาติดต่อขอซื้อไปขายเอง ในราคากระปุกละ 50 บาท

“ในปีนี้เราจะเพิ่มการส่งออกตีตลาดอาเซียน ถ้าสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง โดยจะวางขายในห้างที่ สปป.ลาว ซึ่งเพื่อนเป็นเจ้าของอยู่ และห้างที่ประเทศกัมพูชา เชื่อว่าน้ำพริกแม่การุณจะสามารถแข่งขันกับกลุ่มน้ำพริกดัง ๆ ได้แน่นอน ในช่วงแรกเราอาจจะยังไม่ได้หวังผลในด้านกำไร

แต่เราต้องมีฐานลูกค้าไว้ก่อน ซึ่งมีการตั้งเป้ายอดให้ได้มากกว่า 3 แสนบาท/เดือน นอกจากนี้ การตลาดในประเทศ เราวางขายสินค้าทั่วประเทศไทยในเดือนมีนาคมปี’64 เพราะเราได้เซ็นสัญญากับเซ็นทรัลเรียบร้อยแล้ว ซึ่งนำพริกแม่การุณจะวางจำหน่ายในทุกสาขาของเซ็นทรัล”

อย่างไรก็ตาม จากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อยอดส่งออก100% เพราะไม่สามารถส่งของออกต่างประเทศได้ รวมถึงยอดขายในไทยที่ได้รับผลกระทบกว่า 60% เพราะว่าไม่ได้ออกบูทตามงานอีเวนต์ รวมถึงยอดขายสินค้าที่วางขายใน Tops Super Market ลดลงเหลือพันกว่าบาท/สัปดาห์ จากเดิมที่เคยขายได้ 4,000-7,000 บาท/สัปดาห์

“ช่วงในปี 2563 ที่ผ่านมา ได้ไปออกบูทที่เมืองทองธานี 10 วัน เราขาดทุนกว่า 14,000 บาท ซึ่งก็อยากให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าที่พัก เวลาที่ต้องไปออกงานโดยเฉพาะที่เป็นงานของภาครัฐ เพราะผู้ประกอบการ OTOP ไม่เคยปฏิเสธที่จะไปอบรม หรือออกบูทงานต่าง ๆ เลย เราให้ความร่วมมือทุกงาน เมื่อก่อนไม่ว่าจะต้องจ่ายเท่าไหร่ เราก็ไป แต่ตอนนี้เราไม่ไหวแล้ว”