ตลาดค้าออนไลน์รังนกคึกคัก ประมูลถ้ำอีแอ่นพัทลุง 450 ล้านคุ้ม

ตลาดค้าออนไลน์รังนกอีแอ่นถ้ำคึกคัก หลังโควิดแพร่ระบาด ยังขายได้ราคา 5-6 แสนบาทต่อ กก. ใครประมูล 7 ถ้ำรังนกพัทลุง สร้างรายได้มหาศาล ลุ้นต่อเปิดประมูลครั้งที่ 4 ราคากลาง 450 ล้านบาท ยื่นซอง 22 มิ.ย. 64

หลังสัมปทานจัดเก็บรังนกอีแอ่น ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง ในพื้นที่ 7 เกาะ ของบริษัท สยามเนสท์ 2559 จำกัด วงเงิน 450 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี หมดลงวันที่ 14 มิถุนายน 2564

คณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดพัทลุง ซึ่งมีนายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ได้ประกาศประมูลหาผู้รับสัมปทานรายใหม่ โดยกำหนดราคากลาง 500 ล้านบาท เปิดขายซอง 2 ครั้ง

แต่ไม่มีใครมายื่นซองประมูลคณะกรรมการกำหนดราคากลางรังนกอีแอ่นจังหวัดพัทลุง ซึ่งมีนายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง (อบจ.) เป็นประธานประชุมทบทวนราคากลางเป็น 2 แนวทาง

คือ 450 ล้านบาท และ 475 ล้านบาท และตัดสัญญาแนบท้ายเสนอคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นฯ มีมติให้ปรับราคากลางที่ 450 ล้านบาท และประกาศขายซองครั้งที่ 3 วันที่ 18 พ.ค.-2 มิ.ย. 2564 แต่ไม่มีใครมายื่นประมูล

รายงานข่าวจากจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดราคากลางรังนกอีแอ่นฯ ได้มีการทบทวนราคากลางอีกครั้งเป็น 2 แนวทาง คือ 1.กำหนดราคากลาง 450 ล้านบาทระยะเวลาสัมปทาน 5 ปี

จัดเก็บรังนกได้ 15 ครั้ง มีสัญญาแนบท้ายวงเงินประมาณ 6 ล้านบาท และ 2.ราคากลาง 475 ล้านบาท ระยะเวลาสัมปทาน 5 ปี 5 เดือน จัดเก็บรังนกได้ 16 ครั้ง และตัดสัญญาแนบท้ายออกนำเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดพัทลุง

ซึ่งมีนายกู้เกียรติเป็นประธานที่ประชุมลงมติรับราคากลางที่ 450 ล้านบาท จัดเก็บรังนก 15 ครั้ง ส่วนรายละเอียดให้ยึดหลักการเดิม และประกาศประมูลครั้งที่ 4 โดยเปิดขายซองประมูลวันที่ 8-21 มิถุนายน 2564 และกำหนดยื่นซองประมูลวันที่ 22 มิถุนายน 2564

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการค้ารังนกอีแอ่นรายหนึ่ง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดหนัก ทำให้นักท่องเที่ยวจากหลายประเทศชะลอการเดินทาง

โดยเฉพาะชาวจีน ซึ่งเป็นลูกค้าหลักในการซื้อรังนกอีแอ่น ส่งผลให้ผู้ประกอบการค้าขายรังนกอีแอ่นต้องปรับตัวไปค้าทางออนไลน์กันอย่างคึกคัก โดยปีที่ผ่านมาทางกลุ่มสามารถส่งรังนกอีแอ่นผ่านทางพัสดุภัณฑ์กว่า 150 กก./ปี

โดยเฉพาะการค้ารังนกอีแอ่นจากถ้ำธรรมชาติกลางทะเลของไทยได้รับความเชื่อถือจากผู้ซื้อในประเทศจีนเป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับรังนกอีแอ่นของประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียที่ไม่ได้รับความเชื่อถือจากประเทศจีน

แต่ช่วงหลังผู้ค้ารังนกถ้ำได้รับผลกระทบบางส่วนจากผู้เลี้ยงรังนกอีแอ่นบ้านทั้งของไทยมาเลเซีย อินโดนีเซีย โดยเฉพาะในประเทศมาเลเซียมีการเลี้ยงกันมาก

“ก่อนเกิดโควิด-19 นักท่องเที่ยวจากประเทศจีนเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจะมีแหล่งขายรังนกอีแอ่นรายใหญ่อยู่ที่ จ.ภูเก็ต ย่านเยาวราชในกรุงเทพฯ และที่ จ.เชียงใหม่ โดยมียอดค้าไม่ต่ำกว่า 5,000 กก./ปี

ยังไม่รวมถึงรังนกอีแอ่นในกลุ่มร้านคิง เพาเวอร์ อีกประมาณ 2,000-3,000 กก./ปี สามารถทำเงินเข้าประเทศมีมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านบาท/ปี แต่เมื่อโควิดแพร่ระบาดยอดการค้าในแหล่งใหญ่ต่างได้รับผลกระทบหนัก

โดยเฉพาะเกาะภูเก็ตที่มีรายได้เป็น 0 บาทจากธุรกิจท่องเที่ยวตลอดห่วงโซ่กระทบกันหมด ทำให้ผู้ค้ารังนกอีแอ่นต่างต้องดิ้นรนปรับตัว”

ในกลุ่มและเครือข่ายได้ประกอบการค้ารังนกอีแอ่นกับต่างประเทศโดยเฉพาะกับนักท่องเที่ยวจีน มาตั้งแต่ปี 2554-2555 ช่วงนั้นรังนกอีแอ่นแดง ราคาประมาณ 1.5 ล้านบาท/กก. ถัดมาปี 2558-2559 ราคาประมาณ 1 ล้านบาท

และราคามาเคลื่อนไหวหลังปี 2561 มีราคา 600,000-800,000 บาท และปรับลดลงมาเหลือประมาณ 500,000-600,000 บาท/กก. หรือประมาณ 500-600 บาท/กรัมส่วนรังนกอีแอ่นขาว ประมาณ 450 -500 บาท/กรัม

สำหรับรังนกอีแอ่นที่อยู่นอกร้านค้า ยังมีราคา 200,000-300,000 บาท/กก. ในระยะเวลาหลัง ๆ นักท่องเที่ยวจีนมักจะนิยมไปซื้อนอกร้านค้า เพราะได้ราคาที่ถูกกว่า ส่วนทิศทางราคารังนกอีแอ่น ยังมีทิศทางที่ดีเพราะชาวจีนนิยมมากและขยายตัวเติบโตขึ้น โดยเฉพาะชาวจีนทางใต้ เช่น จากมณฑลกวางตุ้ง ฮกเกี้ยน ไหหลำ เซียะเหมิน เซี่ยงไฮ้

“อนาคตตลาดจะดีมาก โดยเฉพาะการขยายตลาดไปเขตปกครองฮ่องกง และเขตปกครองมาเก๊า 2 ตลาดจีนก็จะเป็นตลาดขนาดใหญ่ จะได้ประโยชน์อย่างมหาศาล สำหรับผู้ประมูลรังนกอีแอ่นถ้ำธรรมชาติกลางทะเลของไทยได้ เพียงลงทุนเป็นสำนักงานตัวแทน ก็จะทำรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาล”