ทุเรียนใต้ร่วงเหลือโลละ 100 ล้งจีนฉวยจังหวะกดราคาซื้อ

ส่งออกทุเรียนใต้ไม่สดใส ราคาหน้าสวนร่วงหนักจาก 150 บาทต่อ กก. ลงมาอยู่ที่ 100-110 บาท เผยปัญหาหลัก “ทุเรียนอ่อน-สวนไร้ GAP-ด่านจีนตรวจโควิดเข้ม” ส่งผลกระทบสินค้าถึงปลายทาง-จีนกดราคา ผู้ส่งออกอ่วม หากพบปนเปื้อนต้องทำลายยกตู้ จี้รัฐเร่งฉีดวัคซีนแรงงานก่อนช่วงพีกทุเรียน-มังคุด ก.ค.-ส.ค.

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ขณะนี้สถานการณ์ราคาทุเรียนภาคใต้ (หน้าสวน) ลดลงอย่างรวดเร็ว จากช่วงต้นฤดูกาล (เดือนมิถุนายน) อยู่ที่ระดับราคา 150-160 บาทต่อกิโลกรัม ขณะนี้ราคาลดลงมาอยู่ที่ระดับ 100-110 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น เทียบกับทุเรียนภาคตะวันออกเปิดฤดูต้นเดือนเมษายน ราคาอยู่ที่ 170-180 บาทต่อกิโลกรัม และปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ

5 ปมร้อนทุบราคาทุเรียนใต้

นางสาวณัฐสรัญย์ จันทพันธุ์ ผู้จัดการบริษัท XY เทรดดิ้ง จำกัด บริษัทส่งออกทุเรียน จ.ชุมพร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ทุเรียนภาคใต้ราคาต่ำกว่าทุเรียนภาคตะวันออกตั้งแต่ต้นฤดู โดยเดือนมิถุนายนราคาทุเรียนภาคใต้อยู่ที่ 150-160 บาทต่อกิโลกรัม แต่เนื่องจากมีปัญหาหลาย ๆ ด้าน ทำให้ทางปลายทางหรือตลาดจีนปรับลดราคารับซื้อ ทำให้ระดับราคาขายหน้าสวนปรับลดลงมาต่อเนื่อง จนล่าสุดลงมาถึง 100-110 บาทต่อกิโลกรัม

ทั้งนี้ เนื่องจากพบปัญหาหลัก 5 ประเด็น 1) พบทุเรียนอ่อน ด้อยคุณภาพ เพราะลูกค้าเหมาสวนตัดทุกลูก ทั้งที่ทุเรียนหลายรุ่นสุกไม่พร้อมกัน 2) การตรวจเข้มโควิด-19 ที่ด่านโหยวอี้กวน รถขนส่งต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 5-7 วัน เป็น 10-12 วัน ทำให้ผลผลิตแตกเสียหาย มีเชื้อรา ไม่ได้คุณภาพ ต้องขายไปทำขนมกิโลกรัมละ 200-300 หยวน จากราคา 630-650 หยวน ทำให้ขาดทุนหนักกว่าเดิม

3) กรณีสวนทุเรียนภาคใต้ ได้ใบรับรองมาตรฐาน GAP น้อย ทำให้บางล้งไม่รับซื้อ 4) จีนเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน ความนิยมรับประทานทุเรียนน้อยลง เพราะมีผลไม้จีนออกมาในราคาถูก และมีผลไม้นำเข้าจากประเทศอื่น ๆ แข่งขัน

และ 5) การเข้มงวดของรัฐบาลจีน กรณีตรวจพบสินค้าปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 จะทำลายทั้งหมด ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการซื้อทุเรียนจากสวน และเรียกร้องรัฐบาลจัดสรรวัคซีนมาฉีดให้แรงงานเก็บทุเรียนให้ทันเดือนกรกฎาคม เพราะทุเรียน รวมทั้งมังคุด จะเริ่มมีผลผลิตออกมากในเดือนสิงหาคม ซึ่งต้องใช้แรงงานเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวที่จะย้ายมาจากภาคตะวันออก

ส่งออกทุเรียนใต้ไม่สดใส

“ส่งออกทุเรียนเดือนมิถุนายน ราคาต้นทุนที่เหมาสวน เบอร์ AB ตู้ละ 3 ล้านบาทเศษ ราคาทุเรียน กก.ละ 135 บาท รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทำให้ต้นทุนอยู่ที่ 170 บาทต่อกิโลกรัม หรือ 833 หยวน

แต่ตลาดปลายทางขายได้เพียงกิโลกรัมละ 650 หยวน โดยหนึ่งตู้คอนเทนเนอร์ขาดทุนเกือบ 700,000 บาท ทำให้ต่อมาราคาซื้อทุเรียนหน้าสวนลดลงเหลือ 105-110 บาท ต้นทุนอยู่ที่ตู้ละ 2 ล้านเศษ แต่ราคาปลายทางตลาดจีนยังไม่ดีนัก อย่างไรก็ดี คาดว่าราคาจะไม่ลงไปต่ำกว่า 100 บาทต่อ กก.” นางสาวณัฐสรัญย์กล่าว

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนไปจีนรายหนึ่งกล่าวว่า เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ด่านโมฮาน (Mohan) ได้แจ้งว่า รัฐบาลจีนประกาศว่า สินค้าที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ต้องถูกทำลายทั้งหมด ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับความสูญเสียตู้ละ 3-4 ล้านบาท

ดังนั้น ผู้ส่งออกต้องเข้มงวดมาตรการโควิด-19 ตั้งแต่ในสวน โรงคัดบรรจุภัณฑ์และการขนส่งเพื่อฆ่าเชื้อที่ต้นทางก่อน ทำให้ตลาดส่งออกทุเรียนโดยภาพรวมกว่า 6 หมื่นล้านบาท อาจจะไม่สดใส เพราะตอนนี้การระบาดในภาคใต้หลายจังหวัดมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูง

ราคาดิ่ง 100-110 บาท/กก.

นายอรรถวิท เยี่ยมสวัสดิ์ กรรมการ ผู้จัดการบริษัท ศิริมงคล คอเปอเรท กรุ๊ป จำกัด จ.ชุมพร เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาราคาทุเรียนใต้ที่ลดลง จากช่วงเดือนมิถุนายนราคา 150-160 บาทต่อ กก. และขณะนี้ลงมาเหลือ 100-110 บาทนั้น เป็นไปตามกลไกของตลาด ส่วนปัญหาทุเรียนอ่อนเกิดขึ้นในช่วงแรกที่ทุเรียนราคาสูง 150 บาทต่อ กก. ก็เป็นการตัดเหมาสวน แต่ทางชุมพรมีมาตรการเข้มงวด ทำให้ปัญหาคลี่คลายลง โดยตอนนี้ราคาขยับขึ้นมาเล็กน้อยอยู่ที่ 110-115 บาทต่อ กก.

อีกด้านหนึ่งราคาทุเรียนที่ลดลงในช่วงเดือนกรกฎาคมนั้น เพราะเป็นช่วงที่จีนเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน และมีผลไม้อื่น ๆ ของจีนออกมา เช่น ลิ้นจี่ แอปเปิ้ล แต่ทุเรียนทางใต้เป็นช่วงฤดูที่ยาวนานหลายเดือนตั้งแต่มิถุนายน และปีนี้อาจยาวถึงเดือนตุลาคม ผลผลิตจะค่อย ๆ ทยอยออก

“นอกจากนี้ สวนทุเรียนใต้ยังมีปัญหาเรื่องใบรับรอง GAP เพราะจังหวัดชุมพรเป็นศูนย์รวมจากหลายจังหวัด และเกษตรกรภาคใต้ส่วนใหญ่มีสวนเป็นแปลงเล็ก ๆ ไม่มีใบรับรอง GAP จะเป็นปัญหาที่มีบางล้งหยุดรับซื้อชั่วคราว และปัญหาเรื่องระบบการขนส่งที่ด่านโหยวอี้กวนแออัด ทำให้เสียเวลาเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว พอถึงตลาดปลายทาง ทุเรียนแตก ราคาจะถูกลดลงมาก”

เร่งแก้ปัญหามาตรฐาน GAP

นายภานุศักดิ์ สายพานิช นายกสมาคมทุเรียนไทย ยอมรับกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงต้นฤดูกาลทุเรียนทางใต้รอยต่อทุเรียนภาคตะวันออก พบว่ามีทุเรียนอ่อนออกไปส่วนหนึ่ง แม้จะเป็นส่วนน้อยทำให้ปลายทางทำตลาดยาก ตอนนี้เพิ่มความเข้มงวด คาดว่าเดือนสิงหาคม-กันยายน ราคาส่งออกจะดีขึ้น ถ้าปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพหมดไป และระบบการขนส่งจะสะดวกขึ้น การเปิดด่านตงซินที่จะช่วยลดความแออัดด่านโมฮาน โดยเฉพาะด่านโหยวอี้กวนที่มีการนำเข้าสินค้าจากเวียดนามและสินค้าจากท่าเรือไฮฟอง

นายวิรัตน์ ธรรมบำรุง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 7 (สวพ.7) กล่าวว่า ปัญหาทุเรียนอ่อนมีจริง แต่ลดลงแล้ว โดย สวพ.7 ร่วมกับสมาคมชาวสวนผลไม้ จ.ชุมพร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปให้คำแนะนำ และผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศใช้มาตรการจับกุมลงโทษส่วนใบรับรอง GAP ในพื้นที่ 8 จังหวัด คือ ชุมพรนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ระนอง กระบี่ พังงา ภูเก็ต และประจวบคีรีขันธ์ ทุเรียนมีผู้ยื่นขอ 17,386 รายได้ออกใบรับรองไปแล้ว 16,781 รายหรือ 96% ส่วนโรงคัดบรรจุมีจำนวน 476 แห่ง ได้รับการรับรอง GMP ทั้งหมด

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ ประเทศไทยมียอดส่งออกทุเรียนสดประมาณ 5.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 45.2% โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในปี 2564 มูลค่าส่งออกทุเรียนสดไทยจะสูงถึง 9 หมื่นล้านบาท (2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)