ด่านหน้าชี้ โควิดยังหนัก ระเบียบราชการอุปสรรคใหญ่-คนเข้าไม่ถึงยา

ด่านหน้า ชี้สงครามโควิด-19 ยังหนัก ระเบียบราชการอุปสรรคใหญ่-คนเข้าไม่ถึงยา

วันที่ 20 สิงหาคม 2564 เวลา 14.00 น. งานสัมมนาออนไลน์ “Healthcare 2021 วัคซีนประเทศไทย” #เราจะฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน ในหัวข้อ “เรื่องเล่าของคนด่านหน้า : เมื่อเสี้ยววินาทีคือชีวิต” จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ ในเครือมติชน

ผู้ว่าฯปูชี้ไม่ลดขั้นตอน-แก้โควิดไม่ได้

นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า เหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาผันแปรค่อนข้างมาก นับตั้งแต่เดือน มีนาคม-เมษายน 2563 จากเคยอัดคลิปให้กำลังใจคนอู่ฮั่น ประเทศจีน กลายเป็นว่าประเทศไทยเกิดการระบาดเอง กระทั่งในเดือนธันวาคม 2563 เกิดคลัสเตอร์ใหญ่ที่ตลาดกุ้งในจังหวัดสมุทรสาคร ทุกอย่างเลวร้ายกว่าที่คิดไว้ 

ในคราวนั้นทางจังหวัดตั้งใจแยกผู้ติดเชื้อให้ได้มากที่สุด แต่จะตั้งโรงพยาบาลสนามก็มีแรงต่อต้านค่อนข้างมากด้วยปัจจัยหลายอย่าง เพราะคนไม่เข้าใจสถานการณ์ จึงตัดสินใจใช้หน้าบ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัดดีที่สุด

“ผมไปตรวจเชื้อเพื่อให้ประชาชนมั่นใจในการตั้งโรงพยาบาลสนาม คิดว่าเราน่าจะติดเชื้ออยู่ เพราะช่วงเกิดคลัสเตอร์เดินทางไปหลายที่ แต่ไม่คิดว่าเจอเชื้อแล้วจะร้ายแรงขนาดนี้ เพราะหมอบอกว่า 14 วัน น่าจะดีขึ้นแต่กลายเป็น 82 วันที่ได้ไปอยู่โรงพยาบาลศิริราช พอออกจากโรงพยาบาลได้ก็เอ็ฟเฟ็กต์ตามมาด้วยเยอะมาก กลายเป็นบทเรียนให้เราเตรียมพร้อม

ปัจจุบันนี้การแพร่เชื้อในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครขยายตัวมากขึ้น ซึ่งต้องบอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ อีกอย่างผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ใช่ผู้วิเศษ ต้องได้รับความร่วมมือจากชุมชน หน่วยงานต่าง ๆ และคนสมุทรสาทุกคน ถึงจะผ่านพ้นเหตุการณ์ครั้งนี้ไปได้”

นายวีระศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ในการทำงานนั้น ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดหวัง 100% ทุกฝ่ายคงพบสถานการณ์เดียวกัน ยกตัวอย่างในจังหวัดสมุทรสาคร ที่อยากให้สถานประกอบการมีโรงพยาบาลสนามเป็นของตัวเอง เมื่อเริ่มแรกถูกต่อต้านเป็นอย่างมาก ในสมุทรสาครมีโรงงานเกือบ 7,000 แห่ง ต้องชี้แจงให้ทราบว่า สถานการณ์ปัจจุบันเลวร้ายอย่างไร วัคซีนก็ไม่ได้มาตรงตามกำหนด หลังจากชี้แจงก็กลายเป็นว่าขณะนี้มีสถานประกอบการทำโรงพยาบาลสนามเกือบ 2,000 แห่ง และมีเตียงเกือบ 50,000 เตียง ใช้งานไปประมาณ 6,000 กว่าเตียง รักษาผู้ป่วยหายดีแล้ว 4,000 กว่าเตียง ปัจจุบันมีเตียงว่างรองรับผู้ติดเชื้อได้อีกมาก นับเป็นความร่วมมือที่เห็นได้ชัดเจนมาก

“ถ้าเราไม่ช่วยกันทำก็มีทางเลือกคือต้องให้ปิดโรงงาน ฉะนั้นต้องยอมขาดทุน ยอมได้กำไรน้อย ดีกว่าไม่มีอนาคตในสถานประกอบการ โดยเฉพาะผู้ผลิตสินค้าส่งต่างประเทศ ซึ่งเราได้มีเครื่องมือการันตีจากทางราชการ ทำให้เราเห็นแสงมีความหวังอยู่บ้าง ถ้าทุกคนพร้อมใจช่วยเหลือกันก็สามารถก้าวข้ามสถานการณ์นี้ไปได้” 

ทั้งนี้ เห็นได้ชัดว่าปัญหาหลักคือการตอบสนองหรือการแก้ไขปัญหาที่ไม่ทันการ สิ่งที่เป็นปัญหาที่สุดคือระเบียบขั้นตอนอความยุ่งยากในการรับมือ ณ ปัจจุบันตอบคำถามนี้ค่อนข้างลำบาก ซึ่งทำให้การแก้ไขปัญหาช้าไปหลายก้าวมาก อะไรที่สามารถแก้ไขปัญหาประชาชนได้ต้องมาก่อน ระเบียบเอาไว้ทีหลัง ความเป็นความตายของพี่น้องประชาชนต้องมาอันดับ 1 ตอนนี้เรียกว่าอยู่ในยุคดิจิทัลแล้วแต่ยังต้องใช้อนาล็อกแก้ปัญหา และบางสิ่งบางอย่างต้องช่วยกันก้าวข้ามระเบียบไปก่อน แม้เป็นข้าราชการ ไม่อยากทำผิดระเบียบ แต่ถ้าไม่ลดขั้นตอนก็แก้ปัญหาไม่ได้ ก็ช่วยไม่ไหวเพราะโควิดไม่มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ 

ส่วนเรื่องชุดตรวจโควิดด้วยตัวเอง( ATK) ถ้าต้องจัดซื้อให้ตรงตามขั้นตอนที่ราชการกำหนด นับว่าเสียเวลาเป็นอย่างมาก ทุกวันนี้แพทย์แต่ละฝ่ายก็ทะเลากัน ความเห็นก็ไม่ตรงกัน ประชาชนไม่รู้จะเชื่อใครดี ถ้าเทียบกับภาวะสงคราม ระเบียบราชการนี้ทำให้รับมือกับสงครามได้ล่าช้า ทั้งมีข่าวให้ใช้ ATK กับเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ขณะที่ความเสี่ยงลุกลามไปทั้งประเทศแล้ว ควรเร่งใช้กับทุกคน เพราะวันนี้รอไม่ได้ ถ้าหวังจะแก้ไขปัญหาให้รวดเร็ว สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง โปรดจงมองข้ามระเบียบไป

นอกจากนี้ นายวีระศักดิ์ กล่าวถึงอีกหนึ่งประเด็นที่ได้รับความสนใจคือ เรื่องการลาออก ซึ่งระบุว่า จุดหมายปลายทางของคนรับราชการก็อยากอยู่จนเกษียณอายุ แต่เรื่องลาออกของตนเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพเป็นหลัก หากไม่เทียบกับกรุงเทพมหานครสถานการณ์โควิด – 19 ระบาดจังหวัดสุมทรสาครถือเป็นอันดับ 1 ของเมืองไทย เพราะฉะนั้นคนที่จะมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดที่นี่ควรมีความคล่องแคล่ว ไม่มีปัญหาเรื่องสุขภาพเหมือนตนเอง 

“ผมไม่ได้กังวลเรื่องโควิด แต่หากมีคนที่สามารถตอบสนองการแก้ปัญหาได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น น่าจะสามารถทำงานได้ดีมากกว่าผม ในปีสุดท้ายของอายุราชการของผม น่าจะได้ดำเนินการแก้โควิดในพื้นที่ไม่ได้รุนแรงมากเท่าที่นี่ ไม่ได้เห็นแก่ตัว แต่เรามองประโยชน์ส่วนรวมมากว่า ถ้าเรายังอยู่คงเป็นอุปสรรค์ในการดำเนินงาน แต่ทั้งหมดทั้งมวลต้องขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาและประชาชน”

บิ๊กแจ๊ส จี้ออกคำสั่งพิเศษแก้จัดซื้อจัดจ้างล่าช้า

พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกฯอบจ.ปทุมธานี กล่าวว่า เหตุการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในจังหวัดปทุมธานี มีมาเป็นระลอก เพราะเป็นจังหวัดที่อยู่ติดกรุงเทพฯ นอกจากนี้ ยังครอบคลุมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมนวนครกับบางกะดี และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมลาดหลุมแก้ว มีตลาดไทย ตลาดสี่มุมเมือง และชุมชนเป็นจำนวนมาก 

“ในภาวะสงครามไวรัสต้องเอาเรื่องจริงมาพูดกัน สำหรับการทำหน้าที่ของผมในช่วงเว้นว่างกว่าจะได้รับการรับรองในตำแหน่งนายก อบจ.เป็นเวลาถึง 55 วัน กลายเป็นช่องว่างที่ปล่อยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทำงานอยู่คนเดียว นายก อบจ.ไม่สามารถไปเสริมได้ เหตุการณ์จึงเริ่มรุนแรงขึ้นมา ผมพูดความจริงว่ามารับตำแหน่งวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 เริ่มทำงานวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ผู้ว่าฯก็มอบหมายให้จัดการสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดที่ตลาดพรพัฒน์และตลาดสุชาติ แต่แนวทางการทำงานไม่สอดคล้องกับสาธารณสุข เพราะสาธารณสุขจะใช้การตรวจด้วยวิธี RT-PCR เพียงอย่างเดียว ซึ่งกว่าจะรู้ผลต้องรอข้ามวัน ไหน ต้องมาซักประวัติหาไทม์ไลน์อีก ซึ่งไม่ทันการณ์ จึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเองโดยได้ความร่วมมือกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์”

การตรวจหาผู้ติดเชื้อเบื้องต้นได้ใช้ ATK รู้ผลเร็ว ความแม่นย้ำ 98.2% หากพบการติดเชื้อจึงใช้วิธีการสวอป RT-PCR ตรวจซ้ำ ฉีดพ่นเชื้อในบ้านและนอกบ้าน และนำส่งโรงพยาบาลเป็นลำดับถัดไป ทำให้การแพร่ระบาดของโรคทุเลาลงได้ กระทั่งพบคลัสเตอร์ที่ตลาดกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร และต่อเนื่องมาถึงทุกวันนี้ที่สถานการณ์เริ่มหนัก โดยทาง อบจ.ก็ยังตรวจและคัดแยกกลุ่มผู้ป่วย มีการทำโฮม ไอโซเลชั่นโดยให้กินสมุนไพร 5 วัน และตรวจซ้ำอีก ระหว่างนั้นก็หาวัคซีนให้มากที่สุด

สำหรับ อบจ.ปทุมธานีได้จองวัคซีน 5 แสนโดส เพราะมีประชากรตามทะเบียนบ้าน 1.1 ล้านคนเศษ ขณะเดียวกันมีประชากรแฝงอีกไม่รู้กี่แสนคนและตอนนนี้ก็ระดมฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุดทั้งประชากรในพื้นที่และแรงงานต่างถิ่น แต่มีปัญหาที่พบในการทำงานคือ การจัดการล่าช้าเพราะระบบการจัดซื้อจัดจ้างของข้าราชการยังใช้วิธีการแบบเดิมมีขั้นตอน มีกรรมการตรวจรับของหรืออุปกรณ์ กว่าจะได้อุปกรณ์ที่ต้องการใช้มาการแพร่ระบาดของไวรัสก็ไปไกลแล้ว 

“ตอนนี้ภาพรวมประเทศ ณ วันนี้ ติดเชื้อ 2 หมื่นคนขึ้นไป เสียชีวิตขึ้นไปหลัก 300 คน/วัน ที่ปทุมธานีแต่ละวัดก็ต้องเพิ่มเตาเผาศพ ถึงขนาดต้องขอบริจาคโรงศพไปทิ้งไว้ในศาลา พอมีผู้เสียชีวิต กู้ภัยก็เอาศพไปใส่แล้วเผาเลย ฉะนั้น การแก้ปัญหาตามระเบียบการไม่มีทางทัน ผมเองเป็นข้าราชการมาก่อนผมรู้ดี เมื่อช้าขนาดนี้การแพร่ระบาดของไวรัสจะไปไกลขนาดไหน เราทำงานไม่มีวันหยุด 

ผมเสนอคือ 1.แก้ขบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ออกคำสั่งพิเศษให้ทันการแพร่ระบาดของไวรัส 2. ฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด 2)การตรวจ ATK ต้องปูพรมตรวจ เมื่อพบผู้ติดเชื้อต้องจัดยาให้ทันที โดยเฉพาะคนที่กักตัวที่บ้านต้องดูแลให้ยา ไม่ใช่ตรวจพบแล้วให้กลับไปหาที่รักษาเอง เพราะโรงพยาบาลเต็มหมดแล้ว รวมถึงต้องฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อทั้งในบ้านและนอกบ้าน เก็บตัวที่บ้านต้องมีคนส่งอาหารให้ ผมทำเต็มความสามารถ เชื่อว่าสถานการณ์ในปทุมธานีจะลดลงแน่นอน”

คนป่วยล้นเกินศักยภาพ รพ.-หมอรับมือ

ด้าน ผศ.นพ. ฉัตรชัย มิ่งมาลัยรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ถือเป็นโรงพยาบาลสนามแห่งแรกจัดตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 เพราะโรงพยาบาลหลักเตียงเต็ม เกิดปัญหาคนไข้เข้าสู่โรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก และศักยภาพบุคลากรไม่เพียงพอ การระบาดในระลอก 1 และระลอก 2 ผู้ป่วยกว่า 70% เป็นคนไข้ที่ไม่ค่อยมีอาการหรือไม่มีอาการเลย การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเป็นแนวคิดที่สามารถดูแลคนไข้ได้แม้บุคลากรน้อย เป็นโมเดลในแง่ของการดูแลคนไข้และสร้างความเชื่อมั่นให้กับขุมชนโดยรอบ ซึ่งอาจจะไม่เหมือนโรงพยาบาลที่สร้างขึ้นมาใหม่ คือใช้พื้นที่ชุมชนที่มีอยู่แล้ว โดยคาดว่าจะมีการระบาดขึ้นมาอีก ก็เริ่มเพิ่มห้องไอซียูความดันลบ เพื่อรับคนไข้หนักและดูแลบุคลากรให้ปลอดภัยไปด้วย และก็มีการระบาดขึ้นมาอีกจริง ๆ

“ช่วงที่รับคนไข้หนักเดือนกุมภาพัน 2563 ที่เริ่มมีการระบาดที่ปทุมธานี จากตลาดไท ตลาดสี่มุมมเมือง ตลาดสุชาติ เราตั้งโรงพยาบาลนามไว้ 300 กว่าเตียงมีคนไข้เข้ามาเกือบ 300 เตียง แต่ก็ยังรับได้ กระทั่งระบาดระลอกที่ 3 เราก็เปิดโรงพยาบาลสนามอีกในเดือนเมษายน 2564 เพราะกรุงเทพระบาดหนัก จากคลัสเตอร์ทองหล่อ มาช่วงสงกรานต์ ในเดือนเมษายน 2564 จึงรับคนไข้จากกรุงเทพทั้งหมดกว่า 40 โรงพยาบาล เพราะช่วงนั้นยังไม่มีโรงพยาบาลสนามมากนัก แล้วเราก็ขยายเตียงและเหมือนจะเริ่มดีขึ้นช่วงพฤษภาคม จากนั้นก็เจอระลอกที่ 4 เป็นช่วงที่สถานการณ์แตกต่างกันมาก เพราะอาการคนไข้รุนแรงมากขึ้นเป็นหลักหมื่นคน โรงพยาบาลสนามหลายแห่งปรับมาดูแลคนป่วยสีเหลืองที่มีอาการ และสีเหลืองเข้ม ส่วนการทำ โฮมไอโซเลชั่นให้คนไข้กลุ่มสีเขียวอยู่ที่บ้าน เราทำได้ดีขึ้น ซึ่งทุกอย่างต้องเชื่อมโยงกัน ประสานกัน เพราะทั้งหมดคือคนไข้โควิดเหมือนกัน และยังพยายามระดมฉีดวัคซีนให้มากขึ้นด้วย”

ผศ.นพ. ฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า ปัญหาต่าง ๆในตอนนี้มันเกินศักยภาพของสาธารณสุขในการที่จะดูแลผู้ป่วย สิ่งที่เรากำลังทำคือการปรับระบบเพื่อขยายศักภาพให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้ ขณะที่ความจริงแล้วถือว่าเต็มศักยภาพแล้ว เราจะเห็นกลุ่มผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้น คนไข้เสียชีวิตยังมาก แม้มีผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านมากขึ้น แต่สัดส่วนที่ยังมีอาการหนักที่ต้องได้รับการดูแลยังถือว่าเกินศักยภาพที่โรงพยาบาลจะรับได้ บางทีเราต้องตัดสินใจกับคนไข้ที่หมดหวังแล้ว ต้องคุยกับญาติ เพื่อให้คนไข้ที่มีหวังเข้ามารักษา มีปัญหาเรื่องศพผู้เสียชีวิตล้น เพราะญาติไม่สามารถเอาคนไข้กลับบ้านได้ 

นอกจากนี้ บุคคลากรเริ่มติดเชื้อจากที่ทำงาน ใครที่มาโรงพยาบาลมีโอกาสติดเชื้อ แม้จะมีการสวอพทั้งคนไข้และบุคลากรตลอดก็กลายเป็นบวกทำให้บุคคลากรลดลง ปัญหาอีกอย่าง คือเรื่องของการจัดสรรวัคซีนที่อาจจะไม่มีความชัดเจนมากนัก เหมือนกับว่าจะได้ฉีดวัคซีน แต่พอถึงเวลาจริงก็ไม่มี มีความล่าช้า 

“ผมเห็นด้วยกับนายกอบจ.ปทุมธานีว่าการจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบราชการค่อนข้างช้า แม้รัฐจะบอกว่าสามารถเร่งรัดได้ แต่เมื่อถูกตรวจสอบก็ต้องยื่นระเบียบเดิมอีก เป็นปัญหาของคนทำงานมาก ที่ทำได้เร็วก็มาจากการบริจาคทั้งสิ้น ถ้ารอในระบบปกติคงใช้เวลานานนับเดือน”

หมอชนบทเปิดจุดอ่อนคนเข้าไม่ถึงยา-วัคซีน

นพ. สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า สำหรับปัญหาที่พบหลังจากได้เข้าไปช่วยในการตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ตามชุมชนแอดอัด พบว่าโรงพยาบาลสุขภาพแถมชานเมืองมีความวุ่นวายสูงมาก การเข้าบริการและความเหลื่อมล้ำค่อนข้างมาก อีก 1 เคสพบว่าริมคลองสามเสน โชคดีที่ได้วัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุขและได้เข้าไปฉีดวัคซีนให้กับคนในชุมชนแออัด วันนั้นได้ฉีดให้ประมาณ 20 คนมีอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้าไม่ถึงวัคซีน ตรงนี้สะท้อนปัญหาชัดเจนว่าผู้ด้อยโอกาสเข้าไม่ถึงวัคซีนจริง ๆ 

จุดที่ 3 วันสุดท้ายที่วัดลาดกระบัง ได้พบปรากฏการณ์มีประชาชนที่รู้ว่าตนเองติดโควิดจากการตรวจ Antigen test kit และมาตรวจซ้ำ รวมถึงการขอยาฟาวิพิราเวียร์ วันนั้นตรวจประชาชน จำนวน 1,300 คน พบผู้ติดเชื้อโควิดประมาณ 200 กว่าคน คนที่มาขอยาคือ รู้ว่าไม่มีโรงพยาบาลสนามและศูนย์พักคอยรับรักษาเพราะเตียงเต็ม 

ปรากฎการณ์ที่ 3 แพทย์ที่อยู่ด่านหน้าในกรุงเทพฯ ทำงานหนักมาก ห้อง ICU เต็ม คนไข้ล้นโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนามเต็ม ศูนย์พักคอยเต็ม ส่งผลให้มีคำถามว่า หากมีการตรวจด้วย ATK เองแล้วพบเชื้อโควิดจะหายาฟาวิพิราเวียร์ได้จากที่ไหน ซึ่งตามขั้นตอนต้องให้ผู้ติดเชื้อไปตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR ต้องไปต่อคิวหาที่ตรวจใจโรงพยาบาล ซึ่งก็ไม่มีคิวตรวจให้อีก การเข้าไม่ถึงแพทย์ การเข้าไม่ถึงวัคซีน ฉะนั้นความเลื่อมล้ำเหล่านี้ยังคงเป็นโจทย์ที่น่าสนใจที่คาดหวังการแก้ปัญหาซึ่งต่างจังหวัดอาจจะมีบ้างในเขตชุมชนเมือง แต่คงไม่หนักหนาเท่ากับคนกรุงเทพฯและปริมณฑล

นศ.นพ.ฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาระเบียบและระบบของการจัดซื้อหรือระเบียบของข้าราชการนั้น ต้องเข้าใจว่าเป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่งของระบบราชการ ทั้งเรื่องการบูรณาการการแก้ไขด้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นปัญหาของการทำงาน โดยเฉพาะกรุงเทพฯที่เป็นเมืองหลวง แต่ระบบเครือข่ายด้านสุขภาพค่อนข้างอ่อนอาจจะไม่ดีเท่ากับต่างจังหวัด แม้จะพยายามจัดตั้งศูนย์ศบค. เพื่อแก้ไขปัญหา แต่ดูเหมือนว่าเป็นศูนย์รวบรวมอำนาจปัญหาก็ยังคงมีเหมือนเดิม ยังขาดการบูรณาการ และยังใช้ระเบียบเดิมในการแก้ไขปัญหา จึงทำให้การแก้ปัญหาถูกแก้เป็นจุด ๆ  ไม่เห็นการแก้ไขปัญหาภาพรวม 

ในการรักษาคนป่วยไม่ใช่แก้จุดใดจุดหนึ่ง คนป่วยค่อนข้างมาก และระบบถูกขยายออกไป มีทั้งโรงพยาบาล,โรงพยาบาลสนาม, โฮม ไอซูเลชั่น ,แฟคตอรี่ ไอซูเลชั่น เป็นต้น จะเห็นได้ว่าระบบสาธารณสุขถูกขยายมาก แต่ในความเป็นจริงต้องมีเครือข่ายเน็ตเวิร์คเชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อ ฉะนั้นปัญหาคือ ประชาชนเข้าสู่กระบวนการตรวจไม่ได้ ตรวจแล้วเข้าโรงพยาบาลไม่ได้  ต่อให้เข้าโรงพยาบาลสนามได้ แต่ถ้าอาการหนักแล้วจะเข้าโรงพยาบาลหลักได้อย่างไร นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นและไม่ได้รับการแก้ปัญหา

อาทิเรื่องข้อมูลโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ มีหน่วยงานที่ต้องการยอดเตียงผู้ป่วยทั้งที่เราได้มีการรายงานไปในระบบส่วนกลางแล้ว แต่ก็ยังมีหน่วยงานราชการขอข้อมูลส่งแยกแต่ละหน่วยงานอีก แม้แต่หน่วยงานที่อยู่ในกระทรวงเดียวทั้งที่เราส่งข้อมูลไปในระบบส่วนกลางแล้ว จะเห็นได้ว่าการทำงานขาดเรื่องการบูรณาการจริง ๆ และมันก็เกิดปัญหาว่าข้อมูลมีอยู่เท็จจริงไหม เช่น จำนวนวัคซีนที่บอกว่ามี ก็ไม่รู้ว่ามีจริงไหม พอถึงเวลาก็ไม่มาตามแผน ถ้าหากวัคซีนไม่มาหน้างานก็ต้องมานั่งแก้ปัญหาสิ่งที่เป็นข้อมูลตรงนี้ มันไม่ตรงไปตรงมา 

อีกทั้งเรื่องการจัดซื้อ โรงพยาบาลที่อยู่หน้างานตอนนี้มีปัญหาเยอะ เพราะต้องใช้ทรัพยากรณ์เยอะ เช่นบุคลากรทางการแพทย์ ที่ต้องใช้หน้ากาก N 95 เครื่องช่วยหายใจต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้อยู่ตลอดเวลา หากจะใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างเองก็ค่อนข้างยากลำบาก อีกทั้งเรื่องงบประมาณก็ล่าช้า เช่น งบประมาณที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้กับบุคลากรทำงานเสี่ยงภัยโควิดรอนานถึง 3 เดือน 

อยากเสนอให้มีศูนย์เซ็นเตอร์ทำหน้าที่จัดซื้อจัดจ้าง เช่น มูลนิธิชัยพัฒนา มีสิ่งหนึ่งที่ดีมาก ๆ คือ หากโรงพยาบาลต้องการสิ่งของที่เราต้องการซื้อ ทางมูลนิธิจะประสานกับทางบริษัทโดยตรงและเอาของมาให้เรา โดยที่เราไม่ต้องไปนั่งทำเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง หากสามารถทำส่วนนี้ได้น่าจะดี ตรงนี้จะเป็นประโยชน์มาก 

อยากจะฝากถึงรัฐบาลตอนนี้มีหลายเรื่องที่แต่ละหน่วยงานพยายามแก้ปัญหาและก็ทำได้ค่อนข้างดี เช่น เรื่องวัคซีน มีความพยายามขยายโรงพยาบาลสนาม แต่บางทีเรื่องบประมาณเมื่อมีการแก้ไขปัญหาหน่วยงานรัฐควรจะเข้าไปดูแล และซัพพอร์ต ทั้งเรื่องงบประมาณ และกฎระเบียบเรื่องวัคซีน ทำยังไงให้วัคซีนออกมาได้เร็วกว่านี้ ตอนนี้แม้จะมีผลวิจัยว่าวัคซีนที่ทำดีกว่าไฟเซอร์  แต่ก็ต้องมาเรียกร้องอยากให้คนเข้ามาช่วย แม้แต่การเปิดรับเงินบริจาค ควรเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลควรจะเข้าช่วยและสนับสนุน

นพ.สุภัทร กล่าวอีกว่า ระบบข้าราชการเป็นอุปสรรคมาก มีความเชื่องช้า ตอนนี้ก็น่าจะต้องแก้ไขหน้างานไปก่อนจนกว่าวัคซีนจะครอบคุมกว่านี้ การกระจายอำนาจเป็นหัวใจหลักถ้าหากจะกุมอำนาจแบบนี้ไม่สามารถจัดการอะไรได้เลยข้าราชการมันแย่จริงๆ จากประสบการณ์การเปิดโรงพยาบาลหลวง กระทรวงสาธารณสุขงบประมาณที่มาคืองานแลกเงิน มีคนไข้ก็เบิกเงิน ตอนนี้เราอยากงบประมาณแบบเงินสดคือการโอนเงินให้กับโรงพยาบาล แล้วให้ทางโรงพยาบาลจัดสรรเองและค่อยมาตรวจสอบ แต่ปัจจุบันการเบิกงบประมาณต้องเขียนโครงการเป็นรายการที่ถูกระบุไว้แล้วอย่างชัดเจน ค่อยซื้อสินค้าตามรายการที่แจ้งเบิก

ในความเป็นจริงที่ต้องสู้ภัยกับสถานการณ์ในปัจจุบันรายจ่ายสับสนมาก  เช่น เปิดโรงพยาบาลสนาม 1 แห่ง อยากได้พัดลม ปลั๊กไฟ ผ้าห่ม ระบบท่อน้ำ ฯลฯ  ทุกอย่างต้องใช้เงิน แต่ไม่มีงบประมาณมาเสริม เพราะมันไม่งบประมาณเงินสด มีงบประมาณที่มีรายการที่ระบุชัดเจน ซึ่งบางรายการเราก็ไม่อยากได้ สุดท้ายเงินที่ก็มาจากการขอบริจาคจากประชาชน ซึ่งมันไม่ใช่ 

วิธีที่จะรอดคือการกระจายอำนาจ เพราะถ้ายังมีราชการส่วนภูมิภาคการของบประมาณต้องเข้า พ.ร.บ. งบประมาณ รวมถึงการทำงบประมาณล่วงหน้า 2 ปี ไม่มีวันสู้ภัยวิกฤตสถานการณ์ฉุกเฉินแบบนี้ได้ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะโควิด-19 และถ้าหากมีองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นที่เขาสามารถพิจารณาวาระอย่างรวดเร็วและมีเงินในมือมากพอก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งทางออก