“ค้าปลีกค้าส่ง” โอดธุรกิจฝืด ต้นทุนพุ่ง-กำลังซื้อสะดุด-ยอดขายวูบ

ผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่งรายใหญ่ในภาคเหนือ-อีสาน โอดธุรกิจการค้าสถานการณ์แย่กว่าปีที่ผ่านมา สินค้าอุปโภคบริโภคราคาพุ่งหลังเทศกาลปีใหม่ โดยเฉพาะน้ำมันปาล์มและสินค้าในครัวเรือน ส่งผลให้กำลังซื้อชะลอตัว ระบุสาเหตุราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นในช่วงปลายปี’64 ทำต้นทุนสูง

นางอมร พุฒิพิริยะ ผู้บริหาร บริษัท ธนพิริยะ จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการค้าปลีกยักษ์ใหญ่จากจังหวัดเชียงราย หรือ TNP เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์การค้าของธนพิริยะดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 โดยเฉพาะ 2 สัปดาห์สุดท้ายผู้คนออกมาจับจ่ายใช้สอยเป็นจำนวนมาก ไม่เพียงแต่กำลังซื้อส่วนตัวยังมีโครงการคนละครึ่งเข้ามาเสริมด้วย ประกอบกับการท่องเที่ยวในภาคเหนือที่มีความคึกคักมาก แม้ผู้คนจะกลัวโควิด-19 ก็ไม่ได้ตื่นตระหนกและยังออกมาใช้ชีวิตกันอยู่ ทำให้ยอดขายในธุรกิจสะท้อนภาพเศรษฐกิจไปในทิศทางที่ดี

กระทั่งเมื่อผ่านพ้นช่วงเทศกาลปีใหม่ข้ามมายังปี 2565 เงินจากภาครัฐที่ผ่านโครงการประชารัฐและโครงการคนละครึ่งหายไป สองสัปดาห์ของปีแรกเริ่มเห็นภาพการจับจ่ายใช้สอยของผู้คนชะลอตัวอย่างชัดเจน ในสัปดาห์ที่ 3 สถานการณ์จึงค่อยเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ

โดยปี 2564 ธนพิริยะได้เปิดร้านขยายสาขาเพิ่มทั้งหมด 6 แห่ง ในพื้นที่เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา และยังคงทำตลาดครอบคลุมในทั้ง 3 จังหวัดปัจจุบันธนพิริยะมีร้านสาขาทั้งหมด 38 สาขา ผลประกอบการถือว่าเติบโตขึ้นตามแผนที่ได้วางไว้ประมาณ 15-20% คาดว่าจะทราบตัวเลขที่แน่ชัดในเดือนกุมภาพันธ์นี้

“แม้กระแสเศรษฐกิจจะดูซบเซา แต่การทำให้ธุรกิจเติบโตได้อันดับแรกต้องเริ่มต้นที่ตัวเราเองก่อน ต้องดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ให้ได้ ถัดมาน่าจะเป็นโครงการของภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนประมาณ 10% ช่วยให้เข้าถึงลูกค้าและร้านค้าทุกกลุ่ม สุดท้ายคือสถานการณ์โควิด-19 ที่เข้ามาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายให้ซื้อของรวดเร็วมากขึ้น ร้านค้าที่ไหนใกล้ตัวก็ซื้อสินค้าที่นั่น ซื้อของเยอะขึ้นกว่าปกติ แต่ความถี่ในการซื้อลดน้อยลง”

นางอมรกล่าวว่า การฟื้นตัวกลับมาของธุรกิจการค้าดีขึ้นในช่วงตรุษจีนและอาจจะดีช่วงวันวาเลนไทน์ที่จะถึงนี้ แต่ยังเทียบไม่ได้กับในอดีตตอนที่ยังไม่มีโรคระบาด เพราะการจัดงานหรือทำพิธีต่าง ๆ มักทำแบบกระชับ มีขนาดเล็กลงเพื่อความสะดวกรวดเร็ว ฉะนั้นการซื้อสินค้าก็จะลดลงตามไปด้วย นอกจากนี้ราคาสินค้าที่ปรับตัวขึ้นสูงก็มีส่วนที่ทำให้ผู้คนซื้อสินค้าน้อยลง โดยมีสัญญาณมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ราคาน้ำมันรถยนต์ปรับขึ้น ทำให้ต้นทุนของราคาสินค้าหลายชนิดปรับขึ้นเช่นกัน เฉลี่ย 7-10% โดยเฉพาะน้ำมันปาล์มที่มีราคาพุ่งสูงและมีจำนวนจำกัด ซึ่งผู้ประกอบการก็ไม่กล้าซื้อกักตุนไว้แม้กำลังซื้อของผู้คนในภาพใหญ่ยังพอมี ทุกคนระวังตัวมากเพราะสถานการณ์ไม่แน่นอน

สำหรับธนพิริยะได้เตรียมแผนในปี 2565 ไว้ว่าจะขยายสาขาเพิ่มอีก 5-6 สาขา โดยยังเดินหน้าเน้นการขายผ่านออฟไลน์เป็นหลัก พร้อมมีแผนขายผ่านออนไลน์เพิ่มเข้ามาด้วยและได้เตรียมพร้อมไว้แล้ว จะมีการประชุมใหญ่เพื่อศึกษาตลาดในเดือนเมษายนนี้

ด้านนายประกิจ ไชยสงคราม ประธานกรรมการ บริษัท ยงสงวนกรุ๊ป จำกัด ผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ของจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลประกอบการในปี 2564 ของยงสงวน ไตรมาสที่ 1 ยังคงได้รับอานิสงส์จากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รายละ 700-800 บาท ร้านค้าและประชาชนผู้เข้าร่วมโครงการต่างเข้ามาใช้บริการกันอย่างคึกคัก อีกทั้งยังมีโปรโมชั่นส่วนลดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ไตรมาสที่ 1 มียอดเติบโต 31.61% ในไตรมาสที่ 2 โครงการบัตรสวัสดิการหมดลง แต่การจับจ่ายซื้อของยังคงต่อเนื่อง เพราะการระบาดของโควิด-19 ในจังหวัดอุบลฯยังไม่รุนแรงมากนัก ส่งผลให้มียอดเติบโตที่ 13.76%

ไตรมาสที่ 3 สถานการณ์โควิด-19 ลุกลามจากกรุงเทพฯเข้าสู่จังหวัดอุบลราชธานีช่วงเดือนกรกฎาคมลูกค้าที่เคยมาใช้บริการลดไปอย่างมาก อัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 3.68% มาถึงไตรมาส 4 มีเงินจากบัตรสวัสดิการมาช่วยแต่ก็ไม่ดีเหมือนเมื่อก่อนเพราะเครื่องรูดบัตรไม่สอสดคล้องกับจำนวนลูกค้าที่มีจำนวนมาก และการขยายของช่องทางจากบัตรไปสู่แอปพลิเคชั่นก็มีปัญหา อีกทั้งมีภาษีย้อนหลังไปยังกลุ่มลูกค้าร้านค้าท้องถิ่นที่ไม่มีความเข้าใจในการใช้โครงการ ยอดขายจึงเติบโตเพียง 3.78%

ฉะนั้น ผลประกอบการของยงสงวนในปี 2564 อัตราการเติบโตที่ 12.48% มูลค่าประมาณ 2,614 ล้าบาท รวมกับ Saveland เติบโตที่ 12.58% มูลค่า 596 ล้านบาท รวมมูลค่าทั้งหมดประมาณ 3,211 ล้านบาท

นายประกิจกล่าวว่า หลังจากช่วงเทศกาลปีใหม่ ภาพของธุรกิจการค้าทั้งจังหวัดแย่มาก สถานการณ์แย่กว่าปีที่ผ่านมา เพราะมีการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน จังหวัดอุบลราชธานีนับว่าเป็นคลัสเตอร์อันดับ 3 ของประเทศ ทำให้ผู้คนไม่ออกมาใช้จ่าย กิจกรรมก็ไม่มี โรงเรียนก็ปิด อีเวนต์ทุกอย่างหายไปหมด

“เรียกได้ว่าอัตราการอุปโภคบริโภคชะลอตัวลงมาก ติดลบอยู่ประมาณ 10% ราคาสินค้าทุกตัวก็ปรับตัวขึ้นนับตั้งแต่ราคาน้ำมันดิบสูงตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา จนถึงพืชผลทางการเกษตรและโรงงานผลิตสินค้า การนำเข้าก็ช้าหลายปัจจัยมาก ลูกค้าในกลุ่มค้าส่งชะลอการซื้อสินค้าทันทีเมื่อเห็นราคาสูง และหันไปหาร้านค้าที่ยังไม่ปรับราคา เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้นลูกค้ากลัวว่าหากซื้อไปจะขายต่อไม่ได้ การค้าจึงไม่ไหลลื่น เดือนกุมภาพันธ์นี้ลูกค้าแทบไม่มีความตื่นเต้นกับโปรโมชั่น และการจัดโปรโมชั่นไม่ช่วยอะไรได้มากนัก”

ด้านซัพพลายเออร์มีการแจ้งปรับขึ้นราคาสินค้า แต่ไม่ได้เคาะราคาอย่างเป็นทางการ ผู้ประกอบการจะรู้ราคาเมื่อสั่งซื้อสินค้าแล้ว ตอนนี้สินค้าที่ราคาสูงมากคือผลิตภัณฑ์น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผงซักฟอก เรียกได้ว่าสินค้าของใช้ในครัวเรือนปรับขึ้นเป็นหน้ากระดาน หากทุกอย่างจะดีขึ้นและสร้างความหวังกลับคืนมาคือ โรงเรียนต้องกลับมาเปิดเรียนตามปกติให้เกิดการเดินทาง เด็กนักเรียนถือเงินออกจากบ้านมาซื้อของ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการจับจ่าย กระจายรายได้ไปทุกหนทุกแห่ง