ส่องตลาดวโรรส เชียงใหม่ “แคบหมู-แหนม-ไส้อั่ว” ปรับขึ้นยกแผง

สถานการณ์ราคาเนื้อหมูที่แพงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้สินค้าที่ใช้หมูเป็นวัตถุดิบหลัก เจอศึกหนักต้นทุนพุ่ง โดยเฉพาะ “ร้านขายของฝาก” จังหวัดเชียงใหม่ ต้องปรับขึ้นราคาสินค้ายอดฮิต อย่าง “แคบหมู, แหนม, หมูยอ และไส้อั่ว” ที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมซื้อติดไม้ติดมือกลับไปเป็นของฝาก

“ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจตลาดวโรรส (กาดหลวง) แหล่งจำหน่ายของฝากและอาหารพื้นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่ บรรยากาศค่อนข้างเงียบเหงา นักท่องเที่ยวและคนจับจ่ายซื้อของบางตา แม้เป็นช่วงไฮซีซั่นและช่วงเทศกาลตรุษจีน

พี่อ้อย เจ้าของร้านอ้อย (น้ำพริกหนุ่มเจ๊หงษ์) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จำเป็นต้องปรับราคาสินค้าของฝากที่ใช้หมูเป็นวัตถุดิบหลัก ทั้งแคบหมู แหนม หมูยอ เนื่องจากเป็นสินค้าที่รับมาขายจากผู้ผลิตโดยตรง เมื่อผู้ผลิตปรับราคาขายขึ้น ทางร้านต้องปรับราคาเช่นกัน เช่น แหนม จากเดิมรับมาขายราคาแท่งละ 40 ผู้ผลิตปรับเป็น 45 บาท ต้องมาขายหน้าร้านแท่งละ 50 บาท หมูยอ จากเดิมรับมาขายแท่งละ 38 บาท ปรับเป็น 45 บาท ต้องมาขายหน้าร้าน 50 บาท ส่วนหมูยอบางยี่ห้อปรับราคาเป็น 50 บาทต่อแท่ง ต้องมาขายหน้าร้าน 55 บาท ขณะที่แคบหมู เคยซื้อจากผู้ผลิตกิโลกรัมละ 320 บาท ปรับราคาขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 380 บาท

“ทั้งแคบหมู แหนม หมูยอต้องรับมาขายจำนวนลดลง พอปรับราคาขึ้น คนซื้อน้อยลง ตัดสินใจซื้อยากขึ้น อย่างแคบหมูทางร้านรับมาและเอามาแบ่งใส่ถุงขายเอง ช่วงก่อนโควิดเคยขายได้ 3-5 กิโลกรัมต่อวัน ตอนนี้ขายได้วันละไม่ถึง 1 กิโลกรัม และต้องลดปริมาณต่อถุงลงแต่ขายราคาเดิมคือ 3 ถุง 100 บาทและ 4 ถุง 100 บาท ได้กำไรไม่ถึง 20 บาท ยังขายยากในช่วงนี้”

Advertisment

พี่อ้อยบอกว่า ภาพรวมนักท่องเที่ยวที่เข้ามาซื้อของฝากไม่คึกคักตั้งแต่หลังปีใหม่ แม้ช่วงนี้ยังอยู่ในช่วงไฮซีซั่นและตรุษจีน แต่บรรยากาศเงียบเหงามาก นักท่องเที่ยวลดลงไปราว 90% ซึ่งช่วงก่อนโควิด เคยขายได้วันละ 5-6 พันบาท ปัจจุบันขายได้ต่อวันราว 1 พันบาทเท่านั้น

เจ้าของร้านโชคดี (แหนมป้าย่น) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตั้งแต่หมูราคาแพงขึ้น สินค้าของฝากกลุ่มแคบหมู หมูยอ และแหนม ขายยากขึ้น คนซื้อลดลงหรือแทบไม่ซื้อเลย เพราะผู้ผลิตได้ปรับราคาเพิ่มขึ้น ทำให้ทางร้านต้องรับมาขายลดลง เพื่อไม่ต้องสต๊อกสินค้าไว้จำนวนมาก และลดต้นทุน

“แหนม หมูยอ เมื่อก่อนเคยเอามาขายอย่างละ 10 แท่ง ตอนนี้เหลือ 4 แท่ง 4 วันแล้วยังขายไม่หมดเลย ถ้าไม่มีคนซื้อเราต้องกินเอง เพราะสินค้าเก็บไว้นานไม่ได้ ถ้าของหมดอายุเราไม่เอามาขาย หมูยอราคาส่งตอนนี้ขึ้นเป็นแท่งละ 50 บาท เราต้องขาย 55 บาท ยังขายยาก บางครั้งต้องตัดใจขายแท่งละ 52 บาท ได้กำไร 2 บาท เพื่อไม่ให้สินค้าเหลือ

แคบหมูปัจจุบันซื้อราคาส่งกิโลกรัมละ 380 บาท ขึ้นมาประมาณ 60 บาท โดยทางร้านเอามาแบ่งใส่ถุงขายราคาเดิม 3 ถุง 100 บาท และ 4 ถุง 100 บาท แต่ลดปริมาณต่อถุงลง อย่างแคบหมูแบรนด์แม่แช่ม ราคาส่งตอนนี้ปรับเป็นถุงละ 90 บาท ทางร้านต้องขายหน้าร้านถุงละ 100 บาท ได้กำไร 10 บาท”

Advertisment

เจ้าของร้านโชคดีบอกต่อว่า เปิดร้านขายของฝากในกาดหลวงมาตั้งแต่อายุ 22 ปี ปัจจุบันอายุ 60 ปี ถือว่าเป็นช่วงที่ค้าขายย่ำแย่มาก โดยเฉพาะ 2 ปีที่เกิดโควิด และมาเจอสถานการณ์หมูราคาแพงอีก ยิ่งทำให้ขายของยากขึ้นเพราะนักท่องเที่ยวน้อยลง ช่วงก่อนเกิดโควิด เคยขายได้วันละ 3,000 บาทตอนนี้ขายได้ต่อวันไม่ถึง 1,000 บาท บางวันขายได้แค่ 500 บาท แต่ก็ยังคงต้องเปิดร้านต่อไป เพราะเป็นอาชีพที่ขายมานานหลายสิบปีและยึดเป็นอาชีพหลัก

ขณะที่ ร้านดำรงค์ ร้านขายไส้อั่ว หมูทอด แคบหมู น้ำพริกหนุ่มในตลาดวโรรส (กาดหลวง) ซึ่งเป็นร้านยอดนิยมที่นักท่องเที่ยวมาต่อคิวซื้อ ก็พบว่ายังคงมีนักท่องเที่ยวมาซื้อสินค้า โดยได้ปรับราคาสินค้าที่ใช้หมูเป็นวัตถุดิบหลัก เพิ่มเป็น 50 บาททุกเมนู เช่น ไส้อั่วเคยขายที่ราคากิโลกรัมละ 400 บาท ปรับขึ้น 450 บาทต่อกิโลกรัม เป็นต้น

ด้านเจ้าของ ร้านฮ่องกง ไก่อบน้ำมันหอย ในตลาดวโรรส ซึ่งเป็นร้ายขายไก่และหมูไหว้เจ้าตรุษจีน บอกว่า ตรุษจีนปีนี้ลูกค้าสั่งจองหมูลดลง ซึ่งจากราคาเนื้อหมูที่แพงขึ้น ทางร้านจำเป็นต้องปรับราคาหมูที่ขายหน้าร้านเพิ่มขึ้น 150 บาททุกเมนู โดยปรับราคามาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 จากเดิมเคยขายหมูราคากิโลกรัมละ 550 บาท ปรับขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 700 บาททุกเมนู ส่วนเมนูไก่ขายกิโลกรัมละ 300 บาท

แม่ค้าในตลาดวโรรสยังมีความหวังว่าเศรษฐกิจการท่องเที่ยวจะดีขึ้นในอนาคต เมื่อนักท่องเที่ยวกลับมา ของฝากเชียงใหม่คงจะกลับมาขายดีเหมือนเดิม

ของฝากอุดรฯแห่ขยับราคา

นายทอง กุลธัญวัฒน์ เจ้าของร้าน วีที แหนมเนือง ร้านอาหารเวียดนามชื่อดังเมืองอุดรธานี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตสินค้าหลายตัวมีการปรับขึ้นราคาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะต้นทุนหมูขยับขึ้น 100% จึงมีความจำเป็นต้องขอปรับราคาเฉพาะเมนูหมู ประมาณ 30-40% เช่น แหนมเนืองชุดใหญ่ เดิมราคา 260 บาท ปรับเป็น 320 บาท ชุดกลาง เดิม 230 บาท เป็น 270 บาท ชุดเล็ก เดิม 180 บาท เป็น 220 บาท ฯลฯ

ทั้งนี้ หากราคาเนื้อหมูลงจะพิจารณาปรับลงอีกที แต่จะนำปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อมาพิจารณาด้วย เพราะทางร้านแบกภาระมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา อยากขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญ และส่งเสริมรายย่อยในการเลี้ยงหมูระบบปิดให้ได้คุณภาพ เพราะหมูตอนนี้อยู่ที่รายใหญ่หมด

ด้าน นางสาวณัฏฐนันทน์ วณิชคุณอมร เจ้าของร้าน หมูยอนายเติม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางร้านจำเป็นต้องปรับราคาขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบทุกอย่างปรับตัวขึ้น โดยเฉพาะราคาเนื้อหมูสูงขึ้นมาก ซึ่งการผลิตของทางร้านยังใช้เนื้อหมู 100% เหมือนเดิม ทั้งนี้ การปรับราคาขึ้นลูกค้าเข้าใจ แต่ยอดขายลดลงเล็กน้อย