มังคุดราคาดิ่งเหลือโลละ 10 บาท ล้งรวมหัวอ้างตู้ขาด-ชาวสวนร้องรัฐสอบ

มังคุด

ชาวสวนโอดมังคุดราคาร่วงเหลือ กก.ละ 10-20 บาท ล้งหยุดรับซื้อ เหตุตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เลือกส่งทุเรียนราคาดีกว่า เกษตรกรสงสัยล้งใหญ่ 4-5 ราย กดราคา ตัวแทนเกษตรกรตราดเตรียมยื่นหนังสือถึงรัฐบาลตรวจสอบการบิดเบือนราคา ทั้ง ๆ ที่ปลายทางราคาสูง

นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการ จ.จันทบุรี เปิดเผยว่า ช่วงเวลาไม่กี่วัน ราคามังคุดผันผวนลดต่ำมากอย่างรวดเร็วจากราคา 50-55 ลงเหลือ 20 กว่าบาท ขณะที่ราคาตลาดปลายทางไม่ได้ลดต่ำลง ประกอบกับเกษตรกรร้องเรียนว่าถูกกดราคารับซื้อ เมื่อ 24 พ.ค. 65 จึงลงพื้นที่ จ.จันทบุรี

ติดตามสถานการณ์ราคามังคุดในโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ขนาดใหญ่ 3 แห่ง คือ บริษัท ดรากอน เฟรช ฟรุท จำกัด อ.มะขาม บริษัท เคเอเอฟ อิมพอร์ต แอนด์ เอ็กซ์พอร์ต จำกัด บริษัท อรษา ฟรุ๊ต จำกัด อ.เมืองจันทบุรี พบว่ามังคุดตกไซซ์เป็นปัญหามากที่สุด รับซื้อราคา กก.ละ 10 กว่าบาทเท่านั้น

โดยผู้ประกอบการได้ชี้แจงสาเหตุราคาตกต่ำ เนื่องจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ เพราะระบบการขนส่งทำให้รถติดหน้าด่านจำนวนมาก ตู้กลับมาไม่ทัน ประกอบกับราคาค่าเช่าตู้เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว ส่วนใหญ่ล้งส่งออกทุเรียนและมังคุดเป็นล้งเดียวกันจึงเลือกบรรจุทุเรียนส่งมากกว่าเพราะราคาดีกว่าและระยะเวลาขนส่งอยู่ได้นานกว่า ทำให้มีตู้ส่งมังคุดน้อย ล้งจึงไม่กล้าซื้อ ไม่ได้มีการกดราคา

“ล้งคัดมังคุดเป็น 2 เกรด คือ เกรดดี ผิวมัน ไม่ดำ ราคา 45 บาท และตกไซซ์ 18 บาท ชาวสวนส่วนใหญ่ขายแบบเทรวมให้กับแผงข้างทางพ่อค้าคนกลาง ราคาเหลือไม่ถึง 20 บาท/กก. จังหวัดได้ขอความร่วมมือล้งใหญ่ ๆ ในเบื้องต้นให้ติดป้ายราคารับซื้อหน้าล้ง

และจะติดตามตรวจสอบวางสายล่อซื้อ มีชุดเคลื่อนที่เร็วปฏิบัติการหากมีหลักฐาน เข้าข่ายบิดเบือนราคาจะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด ทั้งนี้ แจ้งเบาะแสได้ที่ สนง.พาณิชย์จังหวัดจันทบุรี”

ขณะที่ นายธนกฤต เขียวขจี ประธานกลุ่มมังคุดดงกลาง อ.เขาสมิง จ.ตราด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้มังคุดมีช่วงราคาดิ่งลงต่ำวนมาทุกปี โดยที่ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้กำหนดราคา ส่วนใหญ่จะตกที่พ่อค้าคนกลาง ช่วง 3-4 วัน (21-25 พ.ค.) ราคาตกต่ำมังคุดเทรวมเหลือ กก.ละ15-20 บาท ไม่ได้เป็นไปตามกลไกตลาด ไม่สอดคล้องราคาตลาดปลายทาง

คาดว่าน่าจะขึ้นอยู่กับผู้ค้ารายใหญ่เพียง 4-5 รายเท่านั้น ที่กดราคาบิดเบือนจากความจริง ทั้งนี้ ได้รวบรวมรายชื่อผู้เดือดร้อนยื่นหนังสือไปยังสำนักงานพาณิชย์จังหวัดตราดให้ตรวจสอบเรื่องราคารับซื้อ และวันที่ 1 มิถุนายน 2565 จะยื่นหนังสือให้รัฐบาลตรวจสอบผู้ส่งออกว่ามีการบิดเบือนราคาหรือไม่

“ราคารับซื้อเฉลี่ย กก.ละ 15-20 บาท ค่าเก็บ กก.ละ 6-7 บาท ชาวสวนเหลือ 8-14 บาทยังไม่ได้หักค่าแรงงาน ค่ายา ค่าปุ๋ย ไฟฟ้า น้ำมัน ราคาที่ชาวสวนอยู่ได้ 30-45 บาท การปิดป้ายราคาหน้าล้งอย่างน้อยชาวสวนจะเทียบราคาได้”

นายชลธี นุ่มหนู ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 (สวพ.6) กล่าวว่า สาเหตุหนึ่งที่มังคุดราคาตกต่ำช่วงนี้ คือ ผลผลิตมังคุดภาคตะวันออกทะลักออกมาเป็นจำนวนมาก และออกมาในช่วงเดียวกับทุเรียน และยังมีอุปสรรคด้านการขนส่ง ตู้คอนเทนเนอร์ต้องถูกแบ่งไปใส่ทุเรียนที่มีมูลค่าสูงกว่า และผู้ประกอบการหลายรายไม่กล้าเสี่ยงทำมังคุดส่งออกเพราะจีนเข้มงวดมาตรการป้องกันโควิด-19

ทำให้ล้งมังคุดเปิดรับซื้อลดลง เทียบการส่งออกไปจีนปี 2564 มีผลผลิตน้อยส่งออกได้ 140,000 ตัน ปีนี้ผลผลิต 221,847 คัน แต่ยังส่งออกได้เพียง 54,060 ตันเท่านั้น ส่วนคุณภาพมังคุดช่วงนี้มีขนาดผลเล็กตกไซซ์ เนื้อแก้วยางไหล ผลดำ ผลแตก ประมาณ 50% ต้องหาทางระบายออกสู่ตลาดภายในประเทศ หรือโรงงานแปรรูป สอบถามชาวสวนราคามังคุดที่รับได้เบอร์รวม กก.ละ 35 บาท