ภูเก็ต-พังงาสะเทือน 2 เด้ง ผวาสึนามิเลื่อนตั๋วบิน-โรงแรม

File (Photo by Jack TAYLOR / AFP)

“ภูเก็ต-พังงา” สะเทือน 2 เด้ง ทั้งโควิดขาขึ้น อาฟเตอร์ช็อกก่อนสึนามิ หลังผู้ว่าฯประกาศเฝ้าระวังภัยธรรมชาติจากแผ่นดินไหว นักท่องเที่ยวคนไทยขวัญผวาทยอยยกเลิกห้องพักโรงแรม-รีสอร์ต ยอมจ่ายส่วนต่างค่าตั๋วเลื่อนไฟลต์บินวันหยุดยาวเดือน ก.ค.ไปก่อน นักท่องเที่ยวต่างชาติยังเข้าพักต่อเนื่อง ผู้ว่าฯพังงาบอกนักท่องเที่ยวให้มั่นใจก่อนค่อยเดินทาง

แหล่งข่าวจากโรงแรมเคปพันวา ภูเก็ต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการประกาศเตือนให้นักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ รวมถึงผู้อยู่อาศัยบนเกาะภูเก็ตให้เฝ้าระวังภัยจากธรรมชาติ หลังเกิดแผ่นดินไหวกว่า 5 ริกเตอร์เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ส่งผลทางจิตวิทยาให้นักท่องเที่ยวหวาดผวา

โดยเฉพาะกลุ่มคนไทย ซึ่งมีการทยอยขอเลิกจองห้องพักมาบ้างแล้วในช่วงวันหยุดยาวในเดือนกรกฎาคมนี้ ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงพักอยู่โรงแรมเช่นเดิม แต่จะไม่ลงเรือเที่ยวเกาะต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัย ก่อนจะมีการประกาศของทางการว่า สถานการณ์สู่ภาวะปกติ

“การยกเลิกห้องพัก ทางโรงแรมมีความเข้าใจในเหตุการณ์เฉพาะหน้า เพราะไม่มีใครอยากซ้ำรอยเหมือนสึนามิปี 2547” แหล่งข่าวกล่าว

มีรายงานข่าวระบุว่า การเลื่อนหรือยกเลิกห้องพักโรงแรม ส่วนใหญ่ถ้าจองล่วงหน้านานจะไม่มีเสียค่าธรรมเนียม ส่วนกรณีการจองตั๋วเครื่องบิน ผู้โดยสารต้องจ่ายส่วนต่าง กรณีเลื่อนเที่ยวบิน โดยเฉพาะสายการบินโลว์คอสต์ หรือการจองผ่านเอเย่นต์จำหน่ายตั๋วจะเสียค่าธรรมเนียมมากกว่าการเลื่อนกับสายการบินนั้น ๆ โดยตรง เมื่อตัดสินใจเลื่อน แต่หากยกเลิกผู้บริโภคก็เสียค่าบัตรโดยสารไปฟรี ๆ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจโรงแรมระดับ 5 ดาวในจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดพังงา ให้ข้อมูลตรงกันว่า ปกติคนไทยจะนิยมเข้ามาท่องเที่ยวช่วงวันหยุดยาว ประกอบกับช่วงนี้มีแพ็กเกจโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ดังนั้นก่อนเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวมีคนไทยจองห้องพักล่วงหน้าไว้จำนวนมาก

แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในหมู่เกาะใกล้ชายฝั่งอันดามัน และการเตือนภัยสึนามิของจังหวัด ทำให้มีการยกเลิกการจองห้องพัก และเลื่อนการเข้าพักไปพอสมควร

ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่าที่สอบถามไม่มีความวิตกกังวล และชาวต่างชาติหลายคนแจ้งว่าได้รับการเตือนจากหน่วยงานภายในประเทศของตัวเองให้เฝ้าระวัง พร้อมแนะนำเรื่องแอปพลิเคชั่้นในการเตือนภัยต่าง ๆ ด้วย

ส่วนกรณีโรงแรมต่าง ๆ ได้มีการซักซ้อมพนักงานเตรียมความพร้อมกรณีการเกิดสึนามิกันมาตลอด ไม่ใช่เพิ่งดำเนินการเมื่อเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ โดยเฉพาะการแนะนำนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักถึงการเตรียมตัวเผชิญเหตุให้วิ่งไปขึ้นที่สูงบริเวณไหนอย่างไร

ภูเก็ตแจงหยุดยาวบุ๊กกิ้ง 60%

นายธเนศ ตันติพิริยะกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีที่มีข่าวแผ่นดินไหวและเตือนภัยสึนามินั้น ยังไม่มีผลกระทบต่อการจองห้องพักของคนที่ต้องการเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตในช่วงวันหยุดยาวสัปดาห์หน้า เท่าที่ทราบจากสมาชิกสภาและสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ยังไม่มีลูกค้ายกเลิกห้องพัก

โดยอัตราเข้าพักช่วงนี้ถ้าคิดรวมถึงช่วงวันหยุดยาวในสัปดาห์หน้าจะอยู่ที่ 60-70% เป็นตลาดอินบาวนด์ บวกกับการยกเลิกไทยแลนด์พาส ทำให้ทราบมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น คาดว่ารายได้เดือนกรกฎาคม 2565 จะดีขึ้นประมาณ 10-20%

“ผมเข้าใจคนที่มีความกังวลเรื่องความปลอดภัยในการท่องเที่ยวอันหนึ่ง คือ เรื่องเกี่ยวกับภัยธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ เช่น ไปญี่ปุ่นก็มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหว เกิดสินามึได้เช่นเดียวกัน ถ้าพูดถึงสึนามิ ควรมาดูเรื่องความพร้อมในการเตรียมรับมือมากกว่า

เช่น มีสัญญาณเตือนภัยพร้อมหรือไม่ อย่างที่ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตออกมายืนยันว่า ได้มีการเตรียมความพร้อมทุกด้าน โดยได้สั่งการให้หอเตือนภัยสึนามิทุกจุดมีการซักซ้อมตอนเช้าทุกวัน ส่วนเรื่องทุ่นเตือนภัยทางทะเลที่ชำรุด เป็นความรับผิดชอบของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติที่ต้องเข้ามาดำเนินการ”

พังงาจองหยุดยาว 40% ยกเลิกน้อย

นายเลิศศักดิ์ ปนกลิ่น นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดพังงา กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์แผ่นดินไหวและกระแสข่าวว่าอาจจะเกิดสึนามิขึ้น อาจจะส่งผลกระทบให้นักท่องเที่ยวเริ่มชะลอการเดินทาง โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาวสัปดาห์หน้า ประชาชนบางส่วนอาจจะมีความกังวล

แต่ปัจจุบันยอดจองเข้าพักล่วงหน้าช่วงวันหยุดยาวมีประมาณ 30-40% ยังคอนเฟิร์มการเข้าพัก มีเพียงส่วนน้อยที่ยกเลิกจองห้องพักไป ส่งผลกระทบเล็กน้อย

ทั้งนี้อยากให้นักท่องเที่ยวทำความเข้าใจและติดตามข่าวสาร ซึ่งในพื้นที่พยายามทำเรื่องการเตือนภัย ความแม่นยำ ถ้าเกิดเหตุการณ์จริงสามารถแจ้งให้คนในพื้นที่ทราบได้ล่วงหน้า

“ผู้ประกอบการหลายคนเคยผ่านเหตุการณ์สึนามิในปี 2547 มาแล้ว ถ้าเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงเราก็กลัวและไม่อยากให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเรื่องของภัยธรรมชาติต้องมีแผนรับมือในแต่ละจังหวัด ที่ผ่านมาได้มีการศึกษาบทเรียนที่เคยเกิดขึ้น มีการซักซ้อมและเช็กระบบการเตือนภัยในพื้นที่มาตลอด อยากให้ประชาชนที่เสพข่าวสารทำความเข้าใจ และอยากให้ติดตามข่าวสารของแต่ละจังหวัด”

ส่วนเรื่องทุ่นเตือนภัยในทะเล ที่มีข่าวออกมาว่าหลุดออกไปนั้น อยู่ในขั้นตอนของการเช็กข้อมูล เนื่องจากเป็นช่วงมรสุม จึงไม่สามารถเข้าไปเช็กได้ จึงไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าทุ่นเตือนภัยสึนามิในทะเลมีการหลุดจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากทุ่นเตือนภัยมีการหลุดออกไป ก็ยังมีทุ่นอีกหลายตัวที่ยังสามารถจับความถี่ของแผ่นดินไหวในหลาย ๆ จุดได้

ถ้าบอกว่าปลอดภัยก็คงจะไม่กล้าพูดคำนั้นว่าปลอดภัย 100% ซึ่งต้องให้เฝ้าระวัง เพราะมีแผ่นดินไหว 5.4-5.5 ริกเตอร์โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้ชายฝั่งและเรือที่ออกเดินทะเล ตอนนี้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวก็มีความกังวล 2 ประเด็น ก่อนหน้านี้ก็ประสบปัญหาโรคโควิด-19 ระบาด และถ้าเจอเกิดเหตุสึนามิ น่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ

ผู้ว่าฯพังงาแนะถ้ากลัวไม่ต้องมา

นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีมีความถี่ในการเกิดแผ่นดินไหวตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ต่อเนื่องมา แม้จะยังไม่มีรายงานการเกิดคลื่นสึนามิ แต่ทางจังหวัดได้เตรียมความพร้อมในการเผชิญเหตุสึนามิ โดยให้นายอำเภอทุกอำเภอ ยกเว้น อ.กะปง

แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเฝ้าระวังเตรียมความพร้อมทุกหน่วยงาน มีการตรวจเช็กเสาส่งสัญญาณ และแจ้งเตือนภัยประชาชนที่อยู่แนวชายฝั่งทราบ หากเกิดเหตุต้องวิ่งหนีขึ้นอาคารที่สูง ทุกคนไม่ควรตื่นตระหนก แต่ให้ตระหนัก เพราะภัยพิบัติไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้มีเวลาเพียงครึ่งชั่วโมง เหมือนแผ่นดินไหวก็ไม่รู้ล่วงหน้า

“ยืนยันว่าเป็นการเตรียมความพร้อมแบบปกติ ศูนย์เตือนภัยยังไม่พบสิ่งผิดปกติ แต่เราก็ไม่ควรประมาท ไม่ขนาดถึงประกาศเขตภัยพิบัติ แต่ต้องเตรียมรับมือไว้ ทุกคนสามารถมาเที่ยวได้ตามปกติ เพียงแต่ว่าเราตอบไม่ได้ว่ามันจะเกิดแผ่นดินไหวอีกไหม แต่ถ้าเกิดถึงขั้นมันจะเกิดสึนามิเราเตือนภัยได้ อย่างน้อยภายในครึ่งชั่วโมง สำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาถ้าไม่มั่นใจก็ไม่เป็นไร ให้มั่นใจก่อนค่อยมา”

สำหรับทุ่นเตือนภัยที่อยู่กลางทะเลมีทั้งหมด 2 ตัว ติดตั้งไว้ตั้งแต่ปี 2546 มีการปรับปรุงมาตลอด แม้ปัจจุบันจะเกิดการชำรุด 1 ตัว แต่อีกตัวยังส่งสัญญาณเตือนยังสามารถใช้งานได้ ส่วนเสาสัญญาณเตือนภัยบนฝั่งในพื้นที่จังหวัดพังงามีทั้งหมด 22 เสา ตลอดแนวชายฝั่ง 7 อำเภอ ได้แก่ เกาะยาว ทับปุด เมือง ตะกั่วทุ่ง ท้ายเหมือง ตะกั่วป่า คุระบุรี ระยะทาง 100 กิโลเมตร

ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ได้มีการซักซ้อมแผนมาโดยตลอด และถ้าหากมีโอกาสเกิดเหตุสึนามิ สัญญาณเตือนภัยจะทำงาน ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่อยู่ในพื้นที่มีเวลาเพียงครึ่งชั่วโมง ซึ่งต้องวิ่งหนีออกจากพื้นที่ชายฝั่งห่างออกไปกว่า 1 กิโลเมตร

หรือหนีขึ้นไปบนอาคารหลบภัยที่ได้มีการก่อสร้างเอาไว้ ซึ่งอยู่โซนแหล่งท่องเที่ยวหลัก โดยเฉพาะที่เขาหลัก มีโรงแรมอยู่ 100 กว่าแห่ง เรามีอาคารหลบภัยอยู่ โดย 1 อาคารสามารถรองรับประชาชนได้ 100-200 คน รวมแล้วสามารถรองรับได้ประมาณ 1,000 คน