“คนรุ่นใหม่” ชีวิตติดสะดวก ค้าปลีกปลุกสังคมไร้เงินสด

“ค้าปลีก-ร้านอาหาร” โดดรับเทรนด์พฤติกรรมคนติดสะดวก เร่งพัฒนาระบบจ่ายซื้อสินค้าไร้เงินสด แมคโดนัลด์ผนึกแพลตฟอร์มจ่ายเงิน “บลูเพย์ อาลีเพย์ แรบบิทการ์ด” ขยายช่องทางชำระเงินดิจิทัล เพิ่มความสะดวกมัดใจคนรุ่นใหม่ เดอะมอลล์กรุ๊ป จับมือไทยพาณิชย์ พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล เพิ่มประสบการณ์ช็อปปิ้งไร้เงินสด

การเติบโตของเทคโนโลยีและสมาร์ทโฟน นอกจากจะทำให้พฤติกรรมจับจ่ายใช้สอยผู้บริโภคเปลี่ยนไปแล้วยังทำให้รูปแบบจ่ายเงินเปลี่ยนไปด้วย จากเดิมที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ใช้เงินสดเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการ ก็เริ่มถูกแทนที่ด้วยการชำระสินค้าแบบไร้เงินสดในรูปแบบของการชำระเงินแบบดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างชัดเจนในแถบยุโรป

ขณะที่ฝั่งเอเชีย จีนกลายเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยระบบการใช้จ่ายแบบไร้เงินสด สะท้อนจากร้านค้าปลีก ร้านอาหารทั้งรายเล็ก ใหญ่ แม้กระทั่งร้านค้าริมถนนที่กระจายอยู่ทั่วจีนก็พร้อมรับการชำระเงินแบบดิจิทัล และแนวโน้มดังกล่าวเริ่มเกิดขึ้นในไทย ปัจจัยหลัก ๆ มาจากพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่เปิดรับสิ่งใหม่ ๆ มากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน ทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีก ร้านอาหาร ก็เริ่มให้ความสำคัญกับช่องทางนี้มากขึ้น

นายเฮสเตอร์ ชิว ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมคไทย จำกัด ผู้บริหารร้านแมคโดนัลด์ กล่าวว่า ภาพรวมการชำระเงินแบบไร้เงินสด (cashless) เป็นที่นิยมของผู้บริโภคแถบยุโรป อเมริกา อังกฤษ ขณะที่เทรนด์ดังกล่าวเริ่มขยายมายังเอเชียเมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งจีนถือเป็นประเทศที่มีการใช้จ่ายเงินแบบไร้เงินสดมากที่สุด อย่างไรก็ตามธุรกิจค้าปลีกถือเป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่ทำให้การชำระเงินรูปแบบนี้ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามแนวโน้มดังกล่าวเริ่มได้รับความนิยมในไทย แต่อาจจะต้องค่อยเป็นค่อยไป ค่อย ๆ เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค เพราะผู้บริโภคบางกลุ่มยังไม่เชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของการชำระเงินรูปแบบดิจิทัล แต่เชื่อว่าในอนาคตเทรนด์นี้จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เพราะสะดวกสบายรวดเร็วและตอบโจทย์คนรุ่นใหม่

ทั้งนี้ด้วยไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ประกอบกับกลุ่มลูกค้าหลักของแมคโดนัลด์ส่วนใหญ่ คือ คนรุ่นใหม่ มีไลฟ์สไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ ชื่นชอบความสะดวกสบาย รวดเร็ว บริษัทได้พัฒนาแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารบนมือถือ รวมถึงขยายบริการรับชำระเงินแบบไร้เงินสด ผ่านระบบการชำระเงินแบบดิจิทัลร่วมกับพันธมิตร ได้แก่ เอ็มเพย์ บลูเพย์ อาลีเพย์ และทรูมันนี่วอลเลต จากก่อนหน้านี้ที่ร่วมมือกับแรบบิทการ์ดอยู่แล้ว คาดว่ากลางปีนี้สัดส่วนการชำระเงินแบบดิจิทัลจะเพิ่มเป็น 40-50% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนอยู่ 30-35% และการจ่ายเงินสดเพื่อชำระสินค้า 60-65% ของรูปแบบการชำระเงินโดยรวม

“ที่ผ่านมาได้ทดลองให้บริการชำระเงินแบบไร้เงินสดมาต่อเนื่อง ซึ่งลูกค้าให้ผลตอบรับที่ดี ขณะเดียวกันยอดซื้อต่อบิลของคนที่ใช้จ่ายเงินรูปแบบดิจิทัลก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย”

สอดรับกับนางสาวรัชนี แสนศิลป์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด ผู้บริหาร “แรบบิท การ์ด” กล่าวว่า แมคโดนัลด์ถือเป็นร้านอาหารจานด่วนรายแรก ๆ ในไทยที่เริ่มพัฒนาช่องทางการชำระเงินแบบไร้เงินสด โดยเริ่มทำร่วมกับบัตรแรบบิทการ์ดตั้งแต่ 6-7 ปี เนื่องจากลูกค้าหลักของแมคโดนัลด์ คือ คนรุ่นใหม่ เปิดรับเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งบริษัทและแมคโดนัลด์ก็พยายามสร้างความคุ้นชินให้แก่ผู้บริโภค ด้วยการให้โปรโมชั่นพิเศษเมื่อลูกค้าชำระเงินแบบไร้เงินสดผ่านแรบบิทการ์ด ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค

เช่นเดียวกับนายวราพงษ์ วัชรพงษ์ไพฑูรย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บลูเพย์ จำกัด แพลตฟอร์มการชำระเงินแบบดิจิทัล “บลูเพย์” บอกว่า การชำระสินค้าด้วยเงินสดจะค่อย ๆ หายไปจากตลาด แต่การเปลี่ยนแปลงอาจจะค่อย ๆ เกิดขึ้นในตลาดไทย เพราะผู้บริโภคยังกังวลเรื่องความปลอดภัยเนื่องจากไม่คุ้นชิน เช่นเดียวกับผู้ประกอบการค้าปลีก ร้านอาหารในไทย ก็ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ อย่างไรก็ตามข้อดีของการจ่ายรูปแบบดิจิทัล คือ สะดวกสบายรวดเร็ว ปลอดภัย โดยไม่ต้องถือเงินสดและไม่ต้องกังวลว่ายอดเงินในบัญชีจะหาย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มว่า ช่วงปลายปีก่อน ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” ก็เพิ่งประกาศร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ ในการพัฒนาเทคโนโลยีนำดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างประสบการณ์ช็อปปิ้งไร้เงินสดครั้งแรกที่ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าในเดอะมอลล์ กรุ๊ป โดยสามารถชำระเงินเมื่อซื้อสินค้าในรูปแบบ QR payment ที่กูร์เมต์มาร์เก็ต และฟู้ดฮอล ทุกสาขา ควบคู่กับโฉมใหม่ของการบริการในรูปแบบของ automation technology ที่มาพร้อมกับเครื่องชำระเงินอัตโนมัติด้วยตนเอง smart self check-out kiosk ที่กูร์เมต์มาร์เก็ต

ก่อนหน้านี้ธุรกิจค้าปลีก ร้านอาหาร กาแฟ ก็เริ่มพัฒนาช่องทางชำระเงินแบบไร้เงินสด แต่วัตถุประสงค์หลัก ๆ คือ เพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ลูกค้า และการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับแบรนด์เท่านั้น เช่น สตาร์บัคส์ ที่นำบัตร “สตาร์บัคส์ การ์ด” เข้ามาใช้ในไทยตั้งแต่ปี 2548 หรือร้านสะดวกซื้อ

“เซเว่นอีเลฟเว่น” ก็มีบัตร “เซเว่นการ์ด” ซึ่งลูกค้าสามารถเติมเงินและใช้บัตรดังกล่าวชำระสินค้า ซึ่งข้อจำกัดของบัตรเหล่านี้ คือ ใช้จ่ายได้เฉพาะแบรนด์ตัวเองเท่านั้น แต่กลยุทธ์ที่ซ่อนอยู่ในบัตรนี้ คือ การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับแบรนด์มากกว่า เช่น ลดราคาเครื่องดื่ม ซื้อ 1 แถม 1 สะสมแต้มเพื่อแลกสินค้าโปรโมชั่น เป็นต้น