หาดทิพย์ ทุ่มขยายกำลังผลิต รับตลาดฟื้น

น้ำอัดลม

ตลาดเครื่องดื่มรับอานิสงส์นักท่องเที่ยวฟื้น “หาดทิพย์” ปรับแผนขยับราคาสินค้า 1-2 บาทต่อขวด รับมือภาษีน้ำตาล-ต้นทุนการผลิตพุ่ง พร้อมเดินหน้าส่งโปรดักต์ใหม่ทำตลาดทั่วภาคใต้ แย้มขยายกำลังการผลิตโรงงานพุนพิน คาดแล้วเสร็จก่อนไตรมาส 1/66 รองรับการเติบโตในอนาคต 8-10 ปี ตั้งเป้ารายได้ 15,000 ล้าน ภายใน 10 ปี

นายอัมริท คูมาร์ เชรสธา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) หรือ HTC เปิดเผยในงาน Opportunity Day (6 ก.ย.) ว่า หลังจากรัฐบาลเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในไทย ส่งผลให้ภาพรวมตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในช่วง 6 เดือนแรกเริ่มปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่ลดลง 8.4%

ประกอบกับที่ผ่านมาบริษัทได้เปิดตัวโปรดักต์ใหม่อยู่เป็นระยะ ๆ ชูจุดขายด้านรสชาติและน้ำตาล 0% ล่าสุดเพิ่งเปิดตัวมาร์ช เมลโล่ น้ำตาล 0% กระจายในทุกช่องทางขาย พร้อมกับการปรับกลยุทธ์ ขนาด รูปแบบสินค้า เปลี่ยนมาเป็นบรรจุภัณฑ์เพื่อการบริโภคครั้งเดียว (Single-Serve) เพิ่มขึ้น

สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัท ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำอัดลมโค้ก แฟนต้า สไปรท์ และน้ำผลไม้มินิทเมด น้ำดื่มน้ำทิพย์ ฯลฯ กระจายในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ไตรมาส 2 ปี’65 สร้างยอดขาย 1,805.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.9% ส่วนปริมาณการขายเพิ่มขึ้น 3.4% หลัก ๆ มาจากปัจจัยหนุนจากธุรกิจท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นกลับมา

จากตัวเลขตั้งแต่เดือน ก.ค.จนถึงปัจจุบันมีต่างชาติเดินทางเข้ามาไทยเกือบ 6.1 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ได้อาศัยอยู่ภาคใต้ ประมาณ 1.8 ล้านคน ประกอบกับการผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรคหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ทำให้การขายสินค้าที่อิงจากร้านอาหาร โรงแรม ร้านสะดวกซื้อ ร้านกาแฟ ทำให้การขายผ่านช่องทางเทรดิชั่นนอลเทรดเพิ่มขึ้น 6.4% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ถือว่าเติบโตใกล้เคียงกับก่อนเกิดโควิด-19

ขณะที่ภาพรวม 6 เดือน (ม.ค-มิ.ย.) บริษัทมีรายได้จากการขาย 3,492 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

อย่างไรก็ตามตลาดยังเจอความท้าทายจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะต้นทุนการผลิต บรรจุภัณฑ์ ราคาพลังงานน้ำมันที่มีผลต่อระบบขนส่งโดยตรง ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายปรับตัวสูงขึ้น 16% ส่งผลให้กำไรสุทธิไตรมาส 2 อยู่ที่ 116.9 ล้านบาท ลดลง 37.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

แต่หาดทิพย์ยังสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดเชิงมูลค่าในระดับสูง จากตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่ประกอบด้วยน้ำดื่มและน้ำผลไม้อยู่ที่ 26% และน้ำอัดลม 81.2%

“แสดงให้เห็นว่าการเติบโตของไตรมาส 2 ดีกว่าไตรมาส 1 ถือว่ามากกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ และหวังว่าแนวโน้มดังกล่าวจะส่งผลต่อไตรมาส 3-4 ที่เหลือให้เติบโตขึ้นเช่นเดียวกัน แม้ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาได้ปรับขึ้นราคาสินค้า 1-2 บาทต่อขวด ในบางรายการเฉพาะบางช่องทาง เพื่อลดแรงกดดันของภาษีบางส่วนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงต้นทุนข้างต้นที่กล่าวมา ต้องยอมรับว่าหลังปรับราคาได้รับผลกระทบจากวอลุ่มการขายอยู่บ้าง ซึ่งอาจต้องรอดูกันอีกครั้ง เพราะเพิ่งปรับไป คาดว่าสิ้นสุดไตรมาส 3 น่าจะเห็นภาพที่ดีขึ้น”

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงินกล่าวต่อถึงแผนการดำเนินงานต่อจากนี้ บริษัทมุ่งให้ความสำคัญกับการลงทุนตู้ทำความเย็น ในช่องทางการค้าแบบดั้งเดิม พร้อมกับการหาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เข้ามาเสริมการขายให้หลากหลายมากขึ้น ควบคู่กับการสร้างการรับรู้ผ่านสื่อโฆษณาทั่วภาคใต้ และจัดกิจกรรมส่งเสริมทางการตลาดตลอดทั้งปี

ขณะเดียวกันบริษัทยังอยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนการลงทุน 1,200 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตที่โรงงานพุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี คาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนไตรมาส 1 ปี 2566 และเมื่อสร้างเสร็จแล้วจะสามารถรองรับไลน์การผลิตได้ 3 ไลน์ และคลังเก็บวัตถุดิบขนาด 2,500 ตารางเมตร เพื่อรองรับกำลังการผลิตที่ได้ถึง 8-10 ปีข้างหน้า

รวมถึงค่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ PET ได้หลายขนาด อาทิ การผลิตผลิตภัณฑ์ ที่ความเร็ว 1,000 ขวดต่อนาที และระบบ/อุปกรณ์เสริมอื่น ๆ คาดว่าจะมีระยะคืนทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี ขึ้นอยู่กับความต้องการตลาด ส่วนการลงทุนใหม่ ๆ ในปี 2566 ต้องพิจารณาจากค่าใช้จ่ายและรายได้ที่สอดคล้องกัน

นอกจากนี้ยังมีการเตรียมรับมือภาษีน้ำตาล หลังจากสรรพสามิตขยายระยะเวลาปรับขึ้นอัตราภาษีตามปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม ระยะที่ 3 ออกไปถึง 1 ตุลาคม 2565 บริษัทได้มีการพูดคุยกับภาครัฐอยู่เป็นระยะ ๆ ซึ่งแนวโน้มที่คาดการณ์ไว้น่าจะมีการขยายอายุออกไปอีก

แต่ถ้าไม่มีการขยายระยะเวลา บริษัทจะได้รับผลกระทบประมาณ 1% ของรายได้ และที่ผ่านมาได้พยายามบริหารจัดการผลกระทบจากภาษีน้ำตาลในหลาย ๆ ส่วน ทั้งการปรับคอสต์ รายได้ต่าง ๆ ถ้าสุดท้ายได้รับผลกระทบจากภาษีเพิ่มขึ้น อาจต้องมาพิจารณาการขึ้นราคาอีกรอบ

อย่างไรก็ตามภาพรวมยอดขายปี 2565 บริษัทคาดว่าจะเติบโต 6-8% หรือมีรายได้ 1,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยหลัก ๆ จะมาจากการเร่งการเติบโตในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 รวมถึงการปรับขึ้นราคาสินค้า พร้อมวางเป้ารายได้ 15,000 ล้านบาท ภายในระยะ 10 ปี