สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ชูกลยุทธ์ TRA NEXT หนุน SMEs-ยกระดับค้าปลีกไทยสู่สากล

ค้าปลีก

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ชูกลยุทธ์ TRA NEXT ฟื้นเศรษฐกิจประเทศ ย้ำท่องเที่ยวคือคำตอบ พร้อมตั้งเป้าเพิ่มการจ้างงานมากกว่า 500,000 อัตรา ภายในปีหน้า มุ่งเพิ่มรายได้และช่องทางการจัดจำหน่ายให้ SMEs

วันที่ 11 ตุลาคม 2565 นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับราคาพลังงานที่ปรับตัวขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันค่าจ้างแรงงานมีการปรับอัตราใหม่ และภาคค้าปลีกและบริการก็ยังคงมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานอยู่ ประกอบกับภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี โจทย์สำคัญคือ จะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นฟูและเดินหน้าต่อไปได้ในทิศทางที่ถูกต้อง

“ผมคิดว่าภาคการท่องเที่ยว คือคำตอบ และถือเป็นเครื่องจักรตัวสุดท้ายที่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเดินไปข้างหน้า เพราะภาคการท่องเที่ยวมีอัตราการเติบโตสวนทางกับเครื่องจักรทางเศรษฐกิจตัวอื่น ๆ และมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีกว่าปีที่ผ่านมา โดยคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยจะมีมากถึง 10 ล้านคน ภายในปี 2565 ซึ่งจะส่งผลโดยตรงให้ภาคค้าปลีกและบริการฟื้นตัวและเติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ”

ทั้งนี้ ภาคค้าปลีกและบริการมีจำนวน SMEs มากถึง 2.4 ล้านราย คิดเป็น 80% ของ SMEs ทั้งประเทศ อีกทั้งยังมีการจ้างงานในระบบกว่า 13 ล้านราย คิดเป็น 30% ของการจ้างงานทั้งหมด โดยภาคค้าปลีกและบริการ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกว่า 34% ของ GDP หรือกว่า 5.6 ล้านล้านบาท ดังนั้นถ้า SMEs ฟื้นตัวและโตขึ้น เศรษฐกิจของประเทศก็จะโต

สมาคมจึงตั้งเป้าที่จะผลักดันเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน โดยจะมีการเพิ่มการจ้างงานมากกว่า 500,000 อัตรา ภายในปีหน้า เพิ่มรายได้และช่องทางการจัดจำหน่ายให้ SMEs ผ่านภาคีเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมยกระดับให้ SMEs ไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีระดับโลก ด้วยกลยุทธ์ TRA NEXT (ทีอาร์เอ เน็กซ์)”

ทั้งนี้ 4 กลยุทธ์ TRA NEXT มีดังนี้ 1.New S-Curve of SMEs สร้างความเข้มแข็งให้ SMEs ด้วยการเพิ่มรายได้ เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย และเพิ่มการจ้างงาน

1.1 เพิ่มอัตราการจ้างงานอีกกว่า 500,000 อัตรา ภายในปีหน้า พร้อมผลักดันการจ้างแรงงานประจำรายชั่วโมง สำหรับธุรกิจที่เริ่มฟื้นตัว เพื่อให้เกิดการยืดหยุ่นและเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ

1.2 ช่วย SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างง่าย สะดวก และรวดเร็ว ผ่าน “Digital Supply Chain Financing” และคงมาตรการช่วยเหลือ SMEs ไทย โดยการลด Credit Term สั้นลง และจ่ายเงินให้รวดเร็วเพื่อเสริมสภาพคล่องและช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เป็นการสร้างแต้มต่อให้ SMEs ไทยสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

1.3 ขยายช่องทางการจำหน่ายให้กับ SMEs ในหมวดสินค้าท้องถิ่นผ่านภาคีเครือข่ายของสมาคม เพื่อสร้างรายได้

1.4 สร้างความคล่องตัวและลดค่าใช้จ่ายให้ SMEs ในการดำเนินธุรกิจ (Ease of Doing Business) ด้วยการผลักดันนโยบาย e-Service ภาครัฐ เริ่มจากการลดขั้นตอนขอใบอนุญาตเปิดและต่ออายุร้านอาหาร รวมทั้งจะมีการขยายผลไปยังกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ ต่อไป

2.Environment and Sustainable Development สมาคมผนึกกำลังร่วมกับสมาชิก และภาคีเครือข่ายเพื่อส่งเสริมให้ SMEs ทำธุรกิจที่มีการเติบโตแบบยั่งยืน บนหลักการ BCG (Bio-Circular-Green Economy)

2.1 เร่งสนับสนุนให้สมาชิกในภาคีเครือข่ายร่วมปณิธานในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Commitment) ภายในปี 2593 เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของภาครัฐ

2.2 ผลักดันอย่างต่อเนื่องในการดำเนินโครงการจัดการอาหารส่วนเกินที่ยังรับประทานได้ และการจัดการขยะของเสียอย่างครบวงจร เพื่อให้สามารถนำขยะไปรีไซเคิล และนำกลับมาใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ ได้ เช่น ปุ๋ยในการทำการเกษตร และก๊าซหุงต้ม เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ภาคค้าปลีกและบริการเป็นตัวอย่างในการดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและชุมชน

2.3 ช่วยพัฒนาการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของคู่ค้า และผลักดันให้ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมในโครงการ Net Zero ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดจำนวนขยะ ลดการใช้พลังงาน เป็นต้น

2.4 สนับสนุนการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ด้วยการรณรงค์การปลูกป่า การใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า EV (Electric Vehicle) และการใช้พลังงานจากโซลาร์รูฟ (Solar Roof) ในกลุ่มสมาชิกและภาคีเครือข่ายของสมาคม

3.eXpand TRA to the Global Stage ยกระดับสมาคม และเครือข่ายภาคค้าปลีกไทยสู่ระดับสากล เพื่อเป็นการขยายฐานสมาชิก และเป็นการเพิ่มช่องทางการขายและรายได้ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศให้ SMEs ไทย

3.1 มู่งสู่การเป็นผู้นำภาคค้าปลีกและบริการในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ด้วยการตั้งเป้าในการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมสมาพันธ์ผู้ค้าปลีกแห่งเอเชีย-แปซิฟิก (FARPA) ครั้งต่อไปในปี 2568 ที่มีผู้นำค้าปลีกกว่า 20 ประเทศ ทั่วภูมิภาคเข้าร่วม

3.2 ขยายความร่วมมือระหว่างประเทศในการแลกเปลี่ยนทางธุรกิจและสินค้า โดยจะเริ่มความร่วมมือในเฟสแรกกับสมาคมผู้ค้าปลีกในประเทศเวียดนาม (Association of Vietnam Retailers) และสมาคมมิตรภาพไทย-เวียดนาม เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ไทยและเวียดนามในการนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ ถือเป็นการช่วยเหลือภาคีเครือข่ายและ SMEs ไทยให้มีช่องทางการขายและเพิ่มรายได้มากขึ้น

4.Tourism Reimagination สร้างการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวคุณภาพสูงมีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เป็นการสร้างการจ้างงานและเพิ่มรายได้ให้กับ SMEs ไทย

4.1 สนับสนุนนโยบายของภาครัฐในการส่งเสริมการสร้างศักยภาพให้ประเทศไทยมีความพร้อมในเรื่องของการดึงดูดและรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงและนักลงทุนต่างชาติที่พำนักในไทยระยะยาว

4.2 ผลักดันให้มีการกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวคุณภาพมีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น โดยยกระดับให้ประเทศไทยเป็น “สุดยอดการใช้ชีวิตแห่งเอเชีย” รวมทั้งสนับสนุนภูเก็ตให้เป็นเมืองแห่ง Lifestyle and Free Port Hub เพื่อให้ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในการดึงดูดนักท่องเที่ยว และสามารถเพิ่มการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยว เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับภาคค้าปลีกและบริการ

“กลยุทธ์ TRA NEXT คิดขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือ และสนับสนุน SMEs ไทยเป็นหลัก ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการสร้างงานใหม่ในระบบ เป็นการเพิ่มรายได้และช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าให้กับ SMEs ไทย ดังนั้น สมาคมต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่จะร่วมผลักดันกลยุทธ์ TRA NEXT นี้ให้เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวและเติบโตอย่างแข็งแกร่งกว่าที่เคยเป็นมา” นายญนน์กล่าว