โออิชิ ขย่มหนักรับตลาดฟื้น ปั้นแฟรนไชส์ Biztoro-บุกชาไร้น้ำตาล

นงนุช บูรณะเศรษฐกุล-โออิชิ

โออิชิ มั่นใจปี 2566 อาหารญี่ปุ่น-ชาเขียว เติบโตแข็งแกร่ง เพิ่มงบฯ 220% หนุนทุกขาธุรกิจ ด้านร้านอาหารผุดแฟรนไชส์อาหารญี่ปุ่นจานด่วน Oishi Biztoro สปีดสาขาเจาะทำเลนอกห้าง พร้อมเสริมเมนูพรีเมี่ยมช่วยยื้อราคารับมือต้นทุนพุ่ง วางเป้าผุดร้านอาหารสาขาใหม่อีก 100 สาขาภายในปี 2568 ด้านชาพร้อมดื่มโฟกัสปั้นเซ็กเมนต์สูตรไร้น้ำตาลระดับแมส หวังชิงลูกค้าน้ำเปล่า-น้ำอัดลม ก่อนโหมแคมเปญแรงปลุกยอดตลอดปี

นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแนวโน้มภาพรวมตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นและชาเขียวพร้อมดื่ม รวมถึงทิศทางการทำธุรกิจของบริษัทในปี 2566 นี้ว่า ทั้งตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นและชาเขียวพร้อมดื่มต่างมีแนวโน้มการเติบโตแข็งแกร่ง โดยเฉพาะชาเขียวพร้อมดื่มที่ปี 2565 ที่ผ่านมากลับมาเติบโตสูงกว่าก่อนช่วงโควิด-19 แล้ว ผลจากดีมานด์ของผู้บริโภค รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป หันมาสนใจเรื่อง

โดยบริษัทได้สร้างกลยุทธ์ใหม่ ๆ เช่น การขายแฟรนไชส์ เพื่อสปีดสาขาโมเดลใหม่ สำหรับรองรับทั้งการรับประทานอาหารในและนอกร้าน การปรับโมเดลราคา เพื่อรับมือต้นทุนที่สูงขึ้นแบบไม่ให้กระทบลูกค้าเดิม หรือการโฟกัสการสร้างตลาดชาสูตรไร้น้ำตาล ไปจนถึงการขยายสาขาอีก 100 สาขา ภายในปี 2568 ด้วยงบฯลงทุนรวมทุกธุรกิจ 675 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 220%

ร้านอาหารญี่ปุ่นฟื้นตัวแกร่ง

นางนงนุชกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันภาพรวมธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นอยู่ในภาวะฟื้นตัว และปีนี้น่าจะคึกคักมากกว่าร้านอาหารประเภทอื่น ๆ สะท้อนจากจำนวนร้านที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีการแข่งขันในเรื่องของคุณภาพเพื่อชิงลูกค้าระดับบน อีกทั้งยังมีเทรนด์การทำร้านแบบสเปเชียลิสต์ที่เน้นอาหารประเภทเดียว อาทิ ราเมน ซูชิ ข้าวหน้าต่าง ๆฯลฯ ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น ขณะนี้แม้จะมีร้านอาหารญี่ปุ่นทั้งแบรนด์ไทยและแบรนด์ญี่ปุ่นเปิดให้บริการอยู่เป็นจำนวนมาก แต่มั่นใจว่าตลาดยังสามารถเติบโตต่อไปได้อีก เช่น เทรนด์ร้านเฉพาะทาง หรือศักยภาพของทำเลต่างจังหวัดอย่างภาคอีสาน ภาคใต้ และเมืองรองต่าง ๆ

การเติบโตนี้สอดคล้องกับข้อมูลขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) ปี 2565 ที่ระบุว่า ร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยมีจำนวน 5,325 ร้าน เพิ่มขึ้น 955 ร้าน คิดเป็น 21.9% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2550 ที่เริ่มสำรวจ และมีจำนวนเพิ่มขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด ขณะที่ยอดขายฟื้นตัวขึ้นมาที่ 70-90% ของปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19

ชาน้ำตาล 0% ตลาดแมสมาแรง

สำหรับตลาดชาเขียวพร้อมดื่มมีแนวโน้มเติบโตแข็งแกร่งเช่นกัน หลังปี 2565 ที่ผ่านมาตลาดกลับมาเติบโตสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ระบาดแล้ว ด้วยการเติบโต 22% หรือคิดเป็นมูลค่า 13,228 ล้านบาท แบ่งเป็น ชาธรรมดา 58% ชาผลไม้ 13% ชาสมุนไพร 9% ชาอัดก๊าซ 6% ชาพรีเมี่ยม 6% ชาหมัก 3% และชาไร้น้ำตาล 3%

โดยชาเขียวไร้น้ำตาลในราคาระดับแมส (ประมาณ 15 บาท) ถือเป็นเซ็กเมนต์ใหม่ที่มีศักยภาพสูง เห็นได้จากความสำเร็จของ โออิชิ ฮันนี่เลม่อน สูตรน้ำตาล 0% ที่สามารถมีส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 3% ในปีแรก จากการสำรวจพบว่า เป็นการดึงฐานผู้ดื่มน้ำเปล่าและน้ำอัดลม ไม่ใช่ชิงผู้ดื่มชาเขียวเซ็กเมนต์อื่น จึงคาดว่าปีนี้มีโอกาสขยายตัวได้เพิ่ม และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 10% ของตลาด

เนื่องจากทั้งบริษัทและผู้เล่นรายอื่น ๆ จะส่งสินค้าเข้ามาร่วมแข่งขัน รวมถึงมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องในระยะยาวตามเทรนด์สุขภาพ โดยมีแผนจะโฟกัสการขยายไลน์อัพสินค้าในเซ็กเมนต์ไร้น้ำตาลระดับแมสต่อเนื่อง ทั้งด้วยการนำรสชาติเดิมมาปรับเป็นสูตรไร้น้ำตาลและการพัฒนารสชาติใหม่ ๆ ขึ้นมา เพื่อชิงจังหวะช่วงตลาดกำลังเติบโต

พร้อมเดินหน้าเพิ่มความเข้มข้นของการทำตลาด ไม่ว่าจะเป็นการจับมือการ์ตูนดังมาช่วยทำการตลาดโปรโมตสินค้ากลุ่มชาเขียวพร้อมดื่มอีกครั้งเพื่อเจาะกลุ่มวัยรุ่น หลังแคมเปญร่วมกับการ์ตูนดาบพิฆาตอสูรเมื่อปีที่แล้วประสบความสำเร็จสูง รวมถึงแคมเปญ-โปรโมชั่น-กิจกรรมช่วงหน้าร้อน ที่จะเข้มข้นขึ้นกว่าปีที่แล้ว

ขณะที่การสื่อสารจะเน้นย้ำเรื่องประโยชน์ของชาเขียวต่อสุขภาพ และคุณภาพของใบชา อาทิ ใบชาสำหรับชาโออิชิโกลด์ ที่นำเข้าจากไร่ชามัตสึดะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้รางวัล The Emperor’s Cup ชารางวัลจักรพรรดิญี่ปุ่น เมื่อปี 2558 โดยเป็นรางวัลใหญ่ที่ในรอบกว่า 60 ปีของการประกวดมีผู้ได้รับเพียง 5 ราย และรางวัลอื่น ๆ อีกหลายรางวัล ช่วยการันตีถึงคุณภาพใบชาจากไร่แห่งนี้

“เชื่อว่าปีนี้ ตลาดรวมชาพร้อมดื่มจะเติบโตไม่น้อยกว่าเดิมแน่นอน เนื่องจากบริษัทซึ่งครองส่วนแบ่ง 48% ของตลาดจะเพิ่มความเข้มข้นในการทำตลาดมากขึ้น รวมถึงมีแรงหนุนจากเซ็กเมนต์ชาไร้น้ำตาลระดับแมส ช่วยดึงผู้ดื่มหน้าใหม่จากตลาดเครื่องดื่มอื่นเข้ามาด้วย”

ปั้นแฟรนไชส์ Oishi Biztoro

นางนงนุชกล่าวถึงนโยบายของกลุ่มร้านอาหารของโออิชิว่า จะให้ความสำคัญกับธุรกิจแฟรนไชส์ ด้วยการต่อยอดโนว์ฮาวจากการบริหารแฟรนไชส์ KFC ของไทยเบฟฯ บริษัทแม่ และเครือข่ายบริหารจัดการวัตถุดิบ-ฝึกอบรมพนักงานร้านอาหารของโออิชิ มาสร้างความได้เปรียบ โดยมีแบรนด์ Oishi Biztoro เป็นหัวหอก ซึ่งเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นจานด่วน (QSR) เน้นความเร็ว ราคาจับต้องง่ายไม่เกิน 200 บาท/เมนู รองรับทั้งการทานในร้าน ซื้อกลับบ้าน ดีลิเวอรี่ และไดรฟ์ทรู ตามเทรนด์ปัจจุบันที่แม้จะเปิดให้นั่งกินอาหารในร้านแล้ว แต่การกินนอกร้านยังไม่มีแนวโน้มลดลง รวมถึงกลุ่มวัยรุ่น-คนทำงานที่ต้องการความรวดเร็ว ทำให้โมเดลนี้เหมาะสำหรับขยายในทำเลนอกห้าง อาทิ คอมมิวนิตี้มอลล์ ปั๊มน้ำมัน อาคารสำนักงาน ฯลฯ

แพ็กเกจแฟรนไชส์จะมีราคาประมาณ 3 ล้านบาท และคาดว่านอกจากขายแฟรนไชส์เพื่อเปิดร้านแล้ว อาจมีการตั้งมาสเตอร์แฟรนไชส์ที่สามารถหานักลงทุน หรือแฟรนไชซีได้ด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับผู้ประกอบการจำนวนหนึ่ง โดยวางเป้าจำนวนสาขาแฟรนไชส์ Biztoro ในเฟสแรกไว้ที่ 10-15 สาขา เน้นทำเลในกรุงเทพฯ เพื่อให้สามารถติดตามดูแลได้ง่าย ก่อนจะขยายไปยังต่างประเทศให้ได้ภายในปี 2568 นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างศึกษาโอกาสเปิดขายแฟรนไชส์ร้านชาบูชิอีกด้วย แต่เนื่องจากต้องลงทุนสูงกว่า Oishi Biztoro ถึง 3-4 เท่า ทำให้อาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีก่อนจะสามารถเปิดขายได้

สำหรับการขยายสาขาจะพยายามเร่งสปีดให้เร็วขึ้นอีก วางเป้าเปิดสาขาใหม่จากทุกแบรนด์รวมกัน 100 สาขา ภายในปี 2568 หรือเปิดเพิ่มอย่างน้อย 30 สาขา/ปี จากเดิมที่เปิดเพียง 12-15 สาขา/ปี จนมี 266 สาขาในปัจจุบัน

รับมือต้นทุนสูงด้วยตัวเลือก

นางนงนุชย้ำว่า อย่างไรก็ตาม จากภาวะต้นทุนที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ยังคงเป็นความท้าทายของทั้งธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม แต่ขณะนี้ยังสามารถคงราคาเดิมด้วยกลยุทธ์เพิ่มแพ็กเกจบุฟเฟต์-เมนู พรีเมี่ยม ที่ช่วยผลักดันยอดขายเฉลี่ยของสาขาให้สูงขึ้นแทนการขึ้นราคาแพ็กเกจ-เมนูเดิม

ตัวอย่าง เช่น แบรนด์ชาบูชิ ที่เมื่อปลายปี’65 ทดลองเพิ่มแพ็กเกจบุฟเฟต์พรีเมี่ยม 599 บาท เพื่อสร้างรายได้เพิ่มจากกลุ่มผู้บริโภคกำลังซื้อสูง และต้องการเมนูที่พรีเมี่ยมขึ้น โดยไม่ให้กระทบกับฐานลูกค้าเดิมที่ยังสามารถเลือกแพ็กเกจราคา 399 บาท เดิมได้ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี สามารถชดเชยต้นทุนโดยรวมของสาขาได้ และปีนี้ก็จะนำโมเดลนี้มาปรับใช้กับสาขาอื่น ๆ ของชาบูชิ และร้านอาหารแบรนด์อื่น ๆ ในเครือเพิ่มขึ้นอีก เพื่อประคองราคาปัจจุบันเอาไว้ให้นานที่สุด แต่หากต้นทุนยังเพิ่มขึ้นก็อาจต้องพิจารณาขึ้นราคา