บำรุงราษฎร์ กางแผนปี 2566 สปีดรายได้โตระดับเลขสองหลัก

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กางแผนปี 2566 ประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ และทิศทางดำเนินงานสู่ความสำเร็จด้าน Medical and Wellness Destination ตั้งเป้ารายได้ปีนี้เติบโตเป็นเลขสองหลัก

วันที่ 28 มกราคม 2566 ภญ. อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ปี 2566 นี้เป็นอีกปีที่น่าจับตามอง เพราะเป็นปีที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และเริ่มมีสัญญาณแนวโน้มที่ดีขึ้น ด้วยปัจจัย ทางด้านเศรษฐกิจภายในประเทศที่ทยอยปรับตัวดีขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น

โดยการเปิดประเทศบวกกับกระแสการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันที่เพิ่มมากขึ้น ได้ช่วยส่งเสริมให้ตลาด Medical & Wellness Tourism รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

สะท้อนจากจำนวนผู้ป่วยต่างชาติที่กลับมาใช้บริการที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าในปี 2566 นี้จะมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ของปีก่อนโควิด-19

ก้าวสู่ปีแห่งความเป็นเลิศ

สำหรับทิศทางการดำเนินงานปี 2566 นี้ บำรุงราษฎร์ ยังคงยึดหลัก 4C1W เป็นปัจจัยหลักเพื่อก้าวสู่ปีแห่งความเป็นเลิศ (Year of Excellence) และพร้อมมุ่งมั่นเพื่อก้าวสู่จุดหมายแห่งการดูแลสุขภาพ และสุขภาวะที่น่าเชื่อถือที่สุด ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ใหม่ของปีนี้ ด้วยการผนึกความเชี่ยวชาญ และต่อยอดการรักษาโรคซับซ้อนเข้ากับการดูแลเชิงป้องกัน โดยมีเสาหลักด้านความเป็นเลิศ 4 ประการ ประกอบด้วย

1. ความเป็นเลิศด้านบุคลากร (People Excellence) ด้วยการมีนโยบายที่ชัดเจนและต่อเนื่องในการสรรหา สร้าง รักษา และพัฒนาบุคลากรให้เติบโตไปพร้อมกับองค์กร ตลอดจนปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่งจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งปัจจุบันบำรุงราษฎร์เป็น สถาบันวิชาการทางการแพทย์ภาคเอกชน หรือ Academic Private Hospital ได้อย่างเต็มรูปแบบ อีกทั้งยังสนับสนุนให้แพทย์และบุคลากรได้มีโอกาสทำงานวิจัย ตีพิมพ์ผลงานในวารสารทางวิชาการทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

2. ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Clinical Excellence) นับเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลและสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้รับบริการ ซึ่งในปีนี้จะยกระดับศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Center of Excellence) อาทิ สถาบันหัวใจ ศูนย์มะเร็งฮอไรซัน ศูนย์โรคระบบประสาท ศูนย์ทางเดินอาหารและตับและลำไส้ และศูนย์จักษุ ซึ่ง 5 ศูนย์ความเป็นเลิศนี้ เปรียบเสมือนเรือธงในการขับเคลื่อนการรักษาพยาบาลในปี 2566

ตลอดจนมีแผนระยะยาวในการเตรียมแพทย์รุ่นใหม่ให้มีความพร้อมในการก้าวขึ้นมาเป็นแพทย์ผู้ชำนาญการและแพทย์ผู้บริหารของโรงพยาบาลในรุ่นต่อไป ด้วยการออกแบบหลักสูตรพัฒนาแพทย์ที่เป็นแบบฉบับของบำรุงราษฎร์เอง รวมไปถึงการขยายศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ อาทิ ศูนย์มะเร็ง ร่วมกับโรงพยาบาลพันธมิตร ได้แก่ โรงพยาบาลพิษณุเวช และ โรงพยาบาลนครธน เพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสได้เข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพมาตรฐาน

3. ความเป็นเลิศด้านคุณภาพและความปลอดภัย (Quality and Safety Excellence) โดยสามารถสะท้อนถึงศักยภาพในส่วนนี้ผ่านการบริหารจัดการการแพร่ระบาดของโรคได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีการให้องค์กรอิสระภายนอกเข้ามาตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง อาทิ มาตรฐานคุณภาพโรงพยาบาลระดับสากล (JCI), มาตรฐานคุณภาพโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ ขั้นก้าวหน้า (A-HA), การรับรองจาก Global Healthcare Accreditation (GHA) ฯลฯ ซึ่งคุณภาพและความปลอดภัย นับเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญของคุณภาพของสถานพยาบาล

4. ความเป็นเลิศในการส่งเสริมประสบการณ์ผู้ป่วย (Patient Experience Excellence) ในปี 2566 จะเดินหน้าปรับปรุงแนวปฎิบัติของบุคลากรในการบริการผู้ป่วยให้สอดรับตามยุคสมัย แต่ยังคงแนวปฏิบัติที่ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางในการรักษาพยาบาล นำไปสู่การให้บริบาลด้วยความเอื้ออาทร ทำให้ผู้ป่วยและผู้ใช้บริการได้รับประสบการณ์เชิงบวก

ภญ. อาทิรัตน์ กล่าวเสริมว่า นอกจาก 4 เสาหลักแล้ว อีกปัจจัยสำคัญ คือ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ ซึ่งเป็นสถาบันเวชศาสตร์ชะลอวัยแบบบูรณาการ เป็นผู้บุกเบิกและวางรากฐานเวชศาสตร์เชิงป้องกันเป็นแห่งแรกในเอเชีย และในปี 2565 สามารถสร้างรายได้กว่า 1,000 ล้านบาท

เช่นเดียวกับบริการที่ RAKxa (รักษ) ศูนย์บูรณาการสุขภาพและการแพทย์แบบองค์รวมที่บางกระเจ้า และพันธมิตรอื่น ๆ ซึ่งจะเป็นการเสริมจุดแข็งด้านการแพทย์ของไทย สู่เป้าหมายของการเป็น ‘ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ’ หรือ ‘การแพทย์ครบวงจร’ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมอนาคต สร้างชื่อเสียงความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ และสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบให้กับประเทศชาติ

โดยในปี 2566 บำรุงราษฏร์ คาดว่ารายได้จะขยายตัวเป็นเลขสองหลัก