ไทยเบฟกำไร 6 เดือนหด เหตุต้นทุนธุรกิจเบียร์-เครื่องดื่มพุ่ง

ไทยเบฟกำไร 6 เดือนหด เหตุต้นทุนธุรกิจเบียร์-เครื่องดื่มพุ่ง
ภาพจาก : unsplash

ไทยเบฟ เผยผลประกอบการงวด 6 เดือน ทำรายได้โต 3.7% เป็น 1.48 แสนล้านบาท แต่กำไรลดสวนทาง 3.2% เหลือ 1.77 หมื่นล้านบาท หลังต้นทุนวัตถุดิบ-แพ็กเกจพุ่ง

วันที่ 12 พฤษภาคม 2566 บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) แจ้งผลประกอบการครึ่งปีแรก (สิ้นสุดมีนาคม 2566) ต่อตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ โดยแม้รายได้จะเพิ่มขึ้น 3.7% เป็น 148,295 ล้านบาท แต่กำไรสุทธิกลับลดลง 3.2% เหลือ 17,781 ล้านบาท

โดยยักษ์เครื่องดื่มอธิบายว่า รายได้ที่เติบโตจากช่วงเดียวกันของปี 2565 นั้นมีสาเหตุหลักมาจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในไทยและเวียดนาม มากระตุ้นรายได้จากการขายเบียร์และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ รวมถึงธุรกิจอาหารให้เติบโตขึ้น ขณะที่ธุรกิจสุรารายได้จากการขายลดลงเล็กน้อย

ส่วนการลดลงของกำไรสุทธินั้นมีสาเหตุมาจากต้นทุนวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้นในหลายธุรกิจ รวมถึงการใช้เม็ดเงินลงทุนด้านการตลาดในช่วงเทศกาล ส่งผลให้กำไรสุทธิของทั้งธุรกิจเบียร์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และอาหารลดลง จนกำไรจากบริษัทย่อยและธุรกิจสุราไม่สามารถชดเชยได้

ธุรกิจสุรารั้งยอดขายสูงสุด

ธุรกิจสุรายังคงทำรายได้สูงสุดในกลุ่มด้วยตัวเลข 65,161 ล้านบาท แม้จะลดลง 0.04% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังปริมาณการขายลดลง 8.5% ซึ่งบริษัทอธิบายเป็นผลจากฐานยอดขายที่สูงในปี 2565 ที่ตลาดเกิดการตุนสินค้าก่อนการปรับขึ้นราคา ส่งผลให้เมื่อเทียบกันแล้วยอดขายปีนี้ลดลง แม้จะปรับราคาและปรับสัดส่วนสินค้าตามเทรนด์การบริโภคสุราสีที่เพิ่มขึ้นแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตาม แม้ยอดขายจะลดลง แต่กำไรสุทธิยังเติบโต 0.18% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เป็น 12,839 ล้านบาท

ต้นทุนเบียร์ยังกระฉูด

ธุรกิจเบียร์การขึ้นราคาสินค้าช่วยให้รายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 4% เป็น 64,434 ล้านบาท แม้ปริมาณการขายจะลดลง 2.2% อย่างไรก็ตาม การลงทุนทำกิจกรรมการตลาดในช่วงเทศกาล รวมกับราคาวัตถุดิบหลักและแพ็กเกจจิ้งที่แพงขึ้น ทำให้กำไรสุทธิลดลง 29.5% เหลือ 2,532 ล้านบาท

หมดโควิด ดีมานด์เครื่องดื่มพุ่ง

ธุรกิจเครื่องไม่มีแอลกอฮอล์ ทำรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 15.1% เป็น 9,439 ล้านบาท หลังปริมาณการขายเพิ่มขึ้น 7.7% เนื่องจากดีมานด์การดื่มน้ำเปล่า ชาพร้อมดื่ม และน้ำอัดลมเพิ่มขึ้นหลังผ่านช่วงการระบาดของโรคโควิด-19

แต่ขณะเดียวกันกำไรสุทธิลดลง 35.2% เหลือ 284 ล้านบาท เนื่องจากการลงทุนสร้างแบรนด์และทำกิจกรรมการตลาด รวมถึงต้นทุนการกระจายสินค้าและวัตถุดิบที่สูงขึ้น

กระแสนั่งทานในร้านยังเพิ่ม

ธุรกิจอาหาร รายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 21.8% เป็น 9,365 ล้านบาท สอดคล้องกับกระแสการกลับมาทานอาหารในร้าน แต่ต้นทุนด้านต่าง ๆ ทั้งการสร้างแบรนด์และที่มาพร้อมกับการขยายสาขา รวมไปถึงต้นทุนการดำเนินการและการบริหาร ทำให้กำไรสุทธิลดลง 51.2% เหลือ 82 ล้านบาท

เอเชียดีมานด์สุราคึกคัก

ธุรกิจในต่างประเทศ รายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 6.5% เป็น 39,262 ล้านบาท เป็นผลจากการขายสุราในต่างประเทศเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นการขายในเมียนมา การขายแบบปริมาณมากในอินเดีย สหราชอาณาจักรและญี่ปุ่น รวมถึงยอดขายแบบลังในอาเซียนและบางประเทศในภูมิภาคเอเชียเหนือ

ขณะเดียวกันยอดขายเบียร์ที่เติบโตในเวียดนาม ยังช่วยให้กลุ่มธุรกิจต่างประเทศมียอดขายเบียร์เพิ่มขึ้น 3.9% อีกด้วย