ประกาศ ยกเลิกการห้ามขายสินค้าหรืออุปกรณ์ที่มีรังสี UVC รวม 7 บริษัท

ประกาศราชกิจจานุเบกษา-ราชกิจจาฯ ประกาศ

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งคณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยของสินค้าและบริการ ให้ยกเลิกการห้ามขายสินค้าหรืออุปกรณ์ที่มีรังสี UVC ของบริษัท อีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย จำกัด และอีก 6 บริษัท รวมเป็น 7 บริษัท มีทั้งเครื่องดูดฝุ่น เครื่องฟอกอากาศ เครื่องดูดไรฝุ่น เครื่องกรองน้ำ เครื่องอบแห้ง เครื่องอบจาน

วันที่ 21 มิถุนายน 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ คำสั่งคณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยของสินค้าและบริการ ที่ 7/2566 เรื่อง ยกเลิกการห้ามขายสินค้าหรืออุปกรณ์ที่มีรังสี UVC ของบริษัท อีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย จำกัด ลงนามโดยนายทวี เกศิสำอาง ประธานกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยของสินค้าและบริการ

คำสั่งดังกล่าวระบุว่า ตามที่คณะกรรมการว่าด้วยความปลอตภัยของสินค้าและบริการได้ใช้อำนาจตามมาตรา 29/8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 ออกคำสั่งที่ 5/2563 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 เรื่อง ห้ามขายสินค้าหรืออุปกรณ์ที่มีรังสี UVC เป็นการชั่วคราว

อันเนื่องมาจากปัจจุบันสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในประเทศไทย มีผู้ประกอบธุรกิจได้นำเข้า ผลิต หรือจำหน่ายสินค้าที่มีลักษณะเป็นโคมไฟฆ่าเชื้อโรคแบบพกพา กระเป๋าฆ่าเชื้อโรคอเนกประสงค์ เครื่องดูดกำจัดไรฝุ่นด้วยรังสียูวี หรืออุปกรณ์ฆ่าเชื้อแบบพกพาในรูปแบบต่าง ๆ จำหน่ายให้กับผู้บริโภคเพื่อใช้ภายในบ้านเรือนหรืออาคารทั่วไป โดยอ้างสรรพคุณฆ่าเชื้อโรค แบคที่เรีย ไรฝุ่น ป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19

ซึ่งจากข้อมูลที่สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่ข้อมูลของโทษของการใช้รังสี UVC ว่าหากมีการใช้รังสี UVC ในระบบเปิดหรือผู้บริโภคได้สัมผัส/กระทบร้งสี UVC โดยตรง อาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังและเป็นอันตรายต่อดวงตาทำให้เกิดต้อกระจก ตาอักเสบ หรือจอประสาทตาเสื่อมก่อนวัยอันควร ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้

และให้ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งประสงค์จะขายหรือผลิต สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายสินค้า หรืออุปกรณ์ที่มีรังสี UVC ติดต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อจัดให้มีการทดสอบหรือพิสูจน์ว่าสินค้าหรืออุปกรณ์ที่มีรังสี UVC ดังกล่าวไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค นั้น

บัดนี้ บริษัท อีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย จำกัด ได้ติดต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อจัดให้มีการทดสอบหรือพิสูจน์สินค้าหรืออุปกรณ์ที่มีรังสี UVC จำนวน 1 ประเภท คือ ประเภทเครื่องดูดฝุ่น ยี่ห้อ Electrolux รุ่น EFP92826

ผลการทดสอบหรือพิสูจน์สินค้าประเภทดังกล่าว ปรากฏว่า การทดสอบขีดจำกัดอันตรายอันเนื่องมาจากการแผ่รังสีอุลตราไวโอเลตจากการเปิดรับแสงที่เกิดจากตาและผิวหนัง ความยาวคลื่น การแผ่รังสีและการทดสอบประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อด้วยรังสี UV-C ผลการทดสอบเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้

อาศัยอำนาจตามมาตรา 29/9 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 ประธานกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยของสินค้าและบริการ โดยมติคณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยของสินค้าและบริการในการประชุมครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 จึงมีคำสั่งให้แก้ไขคำสั่งคณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยของสินค้าและบริการ ที่ 5/2563 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 เรื่อง ห้ามขายสินค้าหรืออุปกรณ์ที่มีรังสี UVC เป็นการชั่วคราว

โดยให้ยกเลิกการห้ามขายสินค้าหรืออุปกรณ์ที่มีรังสี UVC ของบริษัท อีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย จำกัด จำนวน 1 ประเภท คือ ประเภทเครื่องดูดฝุ่นยี่ห้อ Electrolux รุ่น EFP92826 ที่ขาย ผลิตสั่ง หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายตั้งแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลบังคับใช้เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังมีคำสั่งในลักษณะเดียวกัน ให้ยกเลิกการห้ามขายสินค้าหรืออุปกรณ์ที่มีรังสี UNC ของบริษัท อัสดร จำกัด, บริษัท บีเอช โปรอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท สวิทชเฟลคช จำกัด, บริษัท ลุกซ์ รอยัล (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท แอลจี อิเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ไทยดำรงมาร์เก็ตติ้ง จำกัด

 คำสั่งคณะกก.ว่าด้วยความปลอดภัยสินค้า

 คำสั่งคณะกก.ว่าด้วยความปลอดภัยสินค้า