ท่องเที่ยวโลกฟื้นปลุกดีมานด์ “กล้องดิจิทัล” โตทุบสถิติ 3 ปีซ้อน

ท่องเที่ยวโลกฟื้นปลุกดีมานด์ “กล้องดิจิทัล” โตทุบสถิติ 3 ปีซ้อน
คอลัมน์ : Market Move

ตลาดกล้องดิจิทัลทั่วโลกเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง ด้วยอานิสงส์ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่องในทุกประเทศทั่วโลก แม้แต่จีนที่เข้มงวดกับการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศมานาน แม้การระบาดจะคลี่คลาย แต่ในเดือนสิงหาคมนี้ยังตัดสินใจอนุญาตให้กรุ๊ปทัวร์เดินทางไปเดสติเนชั่นท่องเที่ยวยอดฮิตของชาวจีนอย่างญี่ปุ่นได้แล้ว

คลื่นนักท่องเที่ยวที่เดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลกนี้ เมื่อร่วมกับยุทธศาสตร์ของค่ายกล้องที่โฟกัสกับฟังก์ชั่นอำนวยความสะดวกในการถ่ายภาพเพื่อชิงฐานลูกค้ากับสมาร์ทโฟน ไม่เพียงกระตุ้นยอดขายกล้องดิจิทัลให้กลับมาเติบโตอีกครั้ง แต่ยังโตจนทำลายสถิติด้วย

นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า ยอดส่งมอบกล้องดิจิทัลแบบมิเรอร์เลสในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 นี้ ทำลายสถิติยอดส่งมอบสูงสุดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แล้ว โดยดีมานด์เติบโตในหลายตลาดสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นจีน ยุโรป และญี่ปุ่น

สมาคมผลิตภัณฑ์กล้องถ่ายรูปและการถ่ายภาพของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 นี้ มูลค่ากล้องดิจิทัลแบบมิเรอร์เลสที่ส่งมอบให้กับดีลเลอร์ทั่วโลกเติบโต 20% เป็น 2.53 แสนล้านเยน (ประมาณ 6.14 หมื่นล้านบาท) โดยเป็นการทำลายสถิติสูงสุดเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันแล้ว

โดยตลาดที่ยอดส่งมอบเติบโตสูงสุดท็อป 3 นั้น นำโดยจีนซึ่งเติบโต 44% ตามด้วยญี่ปุ่นที่เติบโต 30% และยุโรปเติบโต 9% การเติบโตทั่วโลกนี้เป็นผลจากการที่เกือบทุกประเทศทั่วโลกผ่อนคลายมาตรการสกัดการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้คนกลับมาทำกิจกรรมและงานอดิเรกต่าง ๆ รวมถึงการท่องเที่ยวกันอีกครั้ง

สอดคล้องกับรายงานขององค์การท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ ที่ระบุว่าช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 ทั่วโลกมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางไป-มาถึง 235 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วมากกว่าเท่าตัว รวมถึงยังคิดเป็นถึง 80% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกในปี 2562 อีกด้วย ทำให้มีความเป็นไปได้สูงกว่าปี 2566 นี้ จำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกจะมากกว่าช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด-19

ขณะเดียวกัน ในระหว่างที่ดีมานด์กล้องดิจิทัลพุ่งสูงนี้ ดีมานด์สมาร์ทโฟนกลับชะลอตัวลง สะท้อนจากข้อมูลของบริษัทวิจัยการตลาดไอดีซี ที่เปิดเผยว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ยอดส่งมอบสมาร์ทโฟนทั่วโลกลดลง 11% และเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แล้ว สวนทางกับกล้องดิจิทัลอย่างชัดเจน

การเติบโตของกล้องดิจิทัลที่สวนทางกับสมาร์ทโฟนนี้ คาดว่าเป็นผลจากยุทธศาสตร์ใหม่ของค่ายกล้องที่พยายามสร้างความแตกต่าง และย้ำจุดแข็งของกล้องดิจิทัลให้เหนือกว่าสมาร์ทโฟน ด้วยการเสริมฟังก์ชั่นสมาร์ทต่าง ๆ เข้าไป ไม่ว่าจะเป็นระบบโฟกัสที่มีเอไอหรือปัญญาประดิษฐ์มาช่วยตรวจจับสิ่งที่ต้องการถ่าย ตัวอย่างเช่น ในกล้องนิคอน Z9 ผู้ใช้สามารถเลือกให้ระบบตรวจจับและโฟกัสวัตถุได้ถึง 9 ชนิด อาทิ มนุษย์ สุนัข แมว นก เครื่องบิน รถไฟ ฯลฯ

และไม่เพียงฟังก์ชั่นสำหรับช่างภาพมือโปร แต่ค่ายกล้องยังเดินหน้าใส่ฟังก์ชั่นสำหรับช่วยให้ผู้ใช้มือใหม่ถ่ายภาพ-บันทึกวิดีโอได้ง่ายขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการปรับความสว่างให้พอดี การบันทึกภาพล่วงหน้าก่อนกดชัตเตอร์ การถ่ายภาพแบบละลายหลัง ฯลฯ ที่ต่างเป็นปัญหาที่มือใหม่มักต้องเผชิญเมื่อเปลี่ยนจากสมาร์ทโฟนมาใช้กล้องดิจิทัลแบบเปลี่ยนเลนส์ได้ ซึ่งสามารถปรับตั้งค่าต่าง ๆ ได้มากจนอาจสับสน

ความพยายามเอาชนะสมาร์ทโฟนนี้ยังรวมไปถึงการออกแบบกล้องให้เล็กและเบาลง เพื่อตอบโจทย์ด้านการพกพาซึ่งเป็นจุดอ่อนของกล้องดิจิทัลแบบเปลี่ยนเลนส์ได้เมื่อเปรียบกับสมาร์ทโฟน ตัวอย่างเช่น แคนนอน EOS R100 ที่วางตำแหน่งเป็นกล้องระดับเริ่มต้นนั้น แคนนอนออกแบบให้มีน้ำหนักแบตเตอรี่เพียง 356 กรัมเท่านั้น เบากว่ากล้องระดับเริ่มต้นรุ่นก่อนหน้าถึง 10% และหนักกว่าสมาร์ทโฟนยอดนิยมอย่างไอโฟน 14 รุ่นท็อปไม่ถึง 200 กรัม

ทั้งนี้ ตั้งแต่มิถุนายน 2565 จนถึงปัจจุบันแคนนอนเปิดตัวกล้องใหม่ไปแล้วถึง 6 รุ่น โดยกล้องระดับเริ่มต้นมีอัตราการเติบโตสูงโดดเด่น และปีนี้แคนนอนมีแผนขายกล้องแบบเปลี่ยนเลนส์ได้ให้ได้อย่างน้อย 2.9 ล้านตัว หรือเพิ่มขึ้น 4 หมื่นตัวจากยอดของปีที่แล้ว และคาดว่าสิ้นปีตลาดกล้องโดยรวมจะเติบโตเป็น 5.85 ล้านตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความเคลื่อนไหวนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่ายกล้องอื่น ๆ ไม่ว่านิคอนที่เดินหน้าเปิดตัวเลนส์ใหม่ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงระบุในรายงานผลประกอบการปีงบฯ ล่าสุด (1 เม.ย. 65-31 มี.ค. 66) ว่ากล้องรุ่นเรือธง Z9 และเลนส์ตระกูล Z ทำยอดขายได้ดีมาก เช่นเดียวกับกำลังการผลิตที่ฟื้นตัวหลังปัญหาขาดแคลนชิปคอมพิวเตอร์คลี่คลาย โดยคาดว่าปี 2566 นี้กล้องระดับกลาง-บนจะมีดีมานด์สูง ด้านโซนี่เดินหน้าผลักดันกล้องรุ่นใหม่ออกสู่ตลาด ทั้งกล้องแบบเปลี่ยนเลนส์ได้และกล้องคอมแพ็กต์เช่นกัน