New Chapter สยามพิวรรธน์ เดินหน้าบุกต่างประเทศ

สยามพิวรรธน์
สยามพิวรรธน์

ข่าวใหญ่ในวงการพัฒนาพื้นที่ค้าปลีก-retail real estate ในเวลานี้ คงไม่มีอะไรที่ได้รับความสนใจเกินไปกว่าการตั้งที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อปรับโครงสร้าง และวางแผนทางการเงิน การระดมทุน รวมทั้งความเป็นไปได้ในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในอนาคตของกลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์

จากที่ผ่านมา สยามพิวรรธน์ คือ ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จสูงยิ่ง คงไม่มีนักช็อปคนไหนไม่รู้จัก สยามพารากอน, สยามดิสคัฟเวอรี่, สยามเซ็นเตอร์ รวมถึง ไอคอนสยาม เป็นแน่แท้

“ชฎาทิพ จูตระกูล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ กล่าวว่า…การลงทุนในวงการพัฒนาธุรกิจค้าปลีกและอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกกำลังหวนกลับมา มีสัญญาณการตื่นตัวหลังจากผ่านพ้นวิกฤตการณ์โควิด-19

กราฟฟิกสยามพิวรรธน์-ชฎาทิพ จูตระกูล
กราฟฟิกสยามพิวรรธน์-ชฎาทิพ จูตระกูล

…การว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อระดมทุนครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี นอกจากรองรับการลงทุนภายในประเทศ คณะกรรมการบริษัทเห็นชอบให้ศึกษาการขยายธุรกิจไปต่างประเทศโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์และประกาศได้ต้นปี 2567

เสมือนการบอกกลาย ๆ ว่า ไซเคิลการลงทุนในวงการนี้กำลังกลับมา และสยามพิวรรธน์ต้องการขยับขยายตัวเองไปสู่ประเทศอื่น ๆ

สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นตลอดปีที่ผ่านมา มีบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำจากหลายประเทศจำนวนมาก ขอเข้ามาเยี่ยมชมศูนย์การค้าต่าง ๆ ของสยามพิวรรธน์ และต้องการให้ไปร่วมทุน เพื่อสร้างโครงการที่เป็นแลนด์มาร์กในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย

สะท้อนถึงการยอมรับในทุกโปรเจ็กต์ ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

ยอดขายโตต่อเนื่อง

พิจารณาถึงผลประกอบการของ “สยามพิวรรธน์” ยังคงสดใสต่อเนื่อง ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 มีรายได้เติบโตกว่า 25% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

มีผู้ใช้บริการศูนย์การค้าในกลุ่มวันสยาม ประกอบด้วย สยามพารากอน, สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ มากถึง 45 ล้านคน เติบโตกว่า 50% จากปีที่ผ่านมา

ส่วนไอคอนสยามมีผู้ใช้บริการทั้งชาวไทย และต่างชาติ รวมกันถึง 15.5 ล้านคน มีจำนวนลูกค้าแตะวันละ 100,000 คน เติบโตถึง 70%

หากโฟกัสเพียงเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวพบว่าใน 8 เดือนแรกของปี 2566 มีจำนวนถึง 14 ล้านคน เพิ่มขึ้น 46% จากปี 2565 มียอดใช้จ่ายเฉลี่ย 8,500 บาท/คน/วัน

คาดว่าเมื่อถึงสิ้นปีซึ่งเป็นฤดูท่องเที่ยวสำคัญ บวกกับการอำนวยความสะดวกภาครัฐ จะทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศไทยถึง 30 ล้านคน

ฟื้นตัวจากโควิดเร็วที่สุด

รายงานข่าววงการค้าปลีกระบุว่า ในจำนวนศูนย์การค้าต่าง ๆ ต้องยอมรับว่า ศูนย์การค้าในกลุ่มสยามพิวรรธน์ฟื้นตัวเร็วที่สุด ส่วนหนึ่งมาจากทั้ง 4 ศูนย์การค้ามีผู้ใช้บริการมากที่สุดในประเทศ และอยู่ในทำเลที่ดีมาก ๆ อยู่แล้ว แม้ว่าในช่วงโควิด-19 จะต้องหยุดการให้บริการอย่างยาวนาน แต่หลังจากนั้นกลับฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

“ลองไปถามบรรดาพนักงานในร้านค้า หรือเคาน์เตอร์จำหน่ายสินค้าต่าง ๆ ทุกคนจะตอบเป็นเสียงเดียวกัน” รายงานข่าวระบุ

ไทยยังถูกจัดให้เป็นเป้าหมายของการช็อปปิ้งสินค้าแบรนด์เนมที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สามารถสร้างยอดขายติดอันดับสูงสุดของโลก จนได้รับคำชื่นชมจากผู้ประกอบการแบรนด์ดัง ๆ ต้องเดินทางมาดูว่า สยามพารากอน และไอคอนสยาม ใช้กลยุทธ์การตลาดอย่างไรถึงประสบความสำเร็จ

หลายแบรนด์ใช้พื้นที่ของสยามพารากอน และไอคอนสยาม เพื่อสร้าง iconic store ของโลก ส่งสัญญาณขอขยายพื้นที่ขายเพิ่ม รวมทั้งลักเซอรี่แบรนด์รายใหม่ต่างก็อยากจับจองพื้นที่กันทั้งนั้น

“เราสร้างประสบการณ์ช็อปปิ้งที่เหนือความคาดหมายเสมอ เหมือนตอนนี้ที่เราผนึกกำลังกับ luxury brand ร้านค้าผู้เช่า และพันธมิตร เตรียมเปิดลักเซอรี่แบรนด์เพิ่มเติมอีก 20 ร้านค้า เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว หลาย ๆ แบรนด์เพิ่งเปิดเป็นสาขาแห่งแรกในไทย ส่วน luxury brand ที่เปิดอยู่แล้วเตรียมขยายพื้นที่กว่าเท่าตัวให้เป็น iconic store” ชฎาทิพระบุ

ว่ากันว่าพื้นที่เช่าของสยามพารากอนมี waiting list ยาวเหยียด และไม่มีใครถอดใจจากพื้นที่ขายอันดับหนึ่งของประเทศแห่งนี้ เพราะวันใดที่ออกไป พร้อมจะมีผู้เข้ามาแทนที่ตลอดเวลา

เส้นทาง Pioneering Spirit

ย้อนไปดูเส้นทางธุรกิจของกลุ่มสยามพิวรรธน์ หนึ่งในดีเอ็นเอสำคัญ คือ Pioneering Spirit นอกจากจะเป็น “ผู้บุกเบิก” ยังตั้งใจมอบ “ประสบการณ์แรก” ให้เกิดขึ้นกับลูกค้า และวงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อยู่เสมอ

จากจุดเริ่มต้นกับการสร้างโรงแรม 5 ดาวแห่งแรกของไทย โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล ที่มีบทบาทขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวไทยครั้งอดีต

ตามมาด้วย “สยามเซ็นเตอร์” โดยวางแผนให้เป็นศูนย์รวมศิลปะ แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ แม้จะผ่านมานาน ทุกวันนี้สยามเซ็นเตอร์ยังเป็น trend setter ศูนย์กลางการใช้ชีวิตของวัยรุ่น เป็นจุดกำเนิดผู้ประกอบการไทย เป็นเมืองแห่งไอเดียที่ล้ำเทรนด์

ส่วน “สยามดิสคัฟเวอรี่” เป็น mixed-use ผสมผสานศูนย์การค้าและสำนักงาน ปัจจุบันคือ hybrid retail store 
แห่งแรกของประเทศ

ขณะที่ “สยามพารากอน” ประสบความสำเร็จตั้งแต่วันแรก ๆ เป็นศูนย์รวมแห่งความทันสมัย นำเสนอสิ่งใหม่ ๆเต็มไปด้วยความครบครัน ตัวเลขผู้ใช้บริการ 300,000 คนต่อวัน มากที่สุดในประเทศ ติดอันดับ 6 สถานที่ที่นักท่องเที่ยวเช็กอินสูงสุดในโลก

ที่กำลังมาแรง “ไอคอนสยาม” กำลังจะครบ 5 ปี ในปลายปีนี้ เป็นศูนย์การค้าริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กที่ผู้คนทั่วทุกมุมโลกต้องเช็กอิน แม้แต่ CNN ยกย่องเป็น 1 ใน 10 สถานที่เคานต์ดาวน์ต้อนรับปีใหม่ที่ควรมาเข้าร่วม

สุดท้ายคือ “สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ” โครงการ luxury เอาต์เลตแห่งแรกในประเทศไทย ที่เกิดจากความร่วมมือกับ ไซม่อน พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป

จริงอยู่ ความสำเร็จต่อเนื่องมาพร้อมกับการแข่งขันที่สูงลิ่ว โดยเฉพาะในพื้นที่ถนนช็อปปิ้งตั้งแต่แยกปทุมวันจนถึงราชประสงค์ และสุขุมวิท กลายเป็นทำเลทองที่กลุ่มทุนค้าปลีกทุ่มลงทุนสร้างศูนย์การค้า เช่นเดียวกับทำเลทองริมแม่น้ำเจ้าพระยา ความสำเร็จของไอคอนสยาม เสมือนแรงดึงดูดให้กลุ่มทุนอื่น ๆ ปักธงลงทุนแย่งชิงยอดขาย แต่แทบไม่ส่งผลใด ๆ

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมาถึง 2566 กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ ทรัพย์สินโดยรวมโตขึ้น 3 เท่า (300%) รายได้โดยรวม โตขึ้น 2 เท่า (200%)

เดินหน้า Collaboration to Win

บนเส้นทางการพัฒนาพื้นที่ค้าปลีก และอสังหาริมทรัพย์ หนึ่งในคีย์ซักเซสที่สยามพิวรรธน์ยึดมั่นมาตั้งแต่ยุคบุกเบิก ล้วนมาจากกลยุทธ์ Collaboration to Win เติบโตไปด้วยกัน

“สยามพิวรรธน์ให้ความสำคัญกับพันธมิตรธุรกิจครบทุกมิติความสัมพันธ์ โดยใช้กลยุทธ์ Collaboration to Win ทำให้ผู้ร่วมธุรกิจได้เติบโต และสร้างความแข็งแกร่งให้กับพาร์ตเนอร์ทุกราย จนได้รับการยอมรับทั้งจากผู้ค้าแบรนด์ไทยและแบรนด์ระดับโลก”

กลยุทธ์ Collaboration to Win ถูกนำมาใช้ตั้งแต่พาร์ตเนอร์ใหญ่ ๆ กระทั่งเอสเอ็มอีเล็ก ๆ

นึกถึงร้านค้าแฟชั่นแบรนด์ไทยยุคแรก ๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสยามเซ็นเตอร์ ร้านค้าในสุขสยาม ยกระดับตัวเองจากเอสเอ็มอีเล็ก ๆ กลายเป็นธุรกิจที่เติบโต มีผู้ประกอบการเป็นร้อย ๆ ที่ก้าวไปในทิศทางนี้

ครั้งหนึ่งในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ในช่วงโควิด-19 ส่งผลกระทบไปทั่ว แม่ทัพใหญ่สยามพิวรรธน์บอกว่า

“เราเป็นพาร์ตเนอร์กับร้านค้า คำว่าพาร์ตเนอร์หมายถึงคนที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน แป๋มเคยพูดกับพนักงานว่า นายของคุณไม่ได้ชื่อชฎาทิพ แต่นายของคุณคือร้านค้าทุก ๆ ร้าน ที่อยู่ในศูนย์ เพราะเขาจ่ายเงินเดือนเรา”

มั่นใจได้ว่าโครงการพัฒนาพื้นที่ค้าปลีกของกลุ่มสยามพิวรรธน์ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทย หรือต่างประเทศในอนาคตอันใกล้ การจับมือกับกลุ่มทุนเพื่อ Collaboration to Win

พร้อมต่อยอดธุรกิจ

เมื่อมองจากผลงานที่สร้างมาตรฐานสูงลิ่ว ด้วยจิตวิญญาณ Pioneering Spirit มั่นใจได้ว่า “New Chapter” ของสยามพิวรรธน์ต้องมีอะไรที่มีความพิเศษ

ไม่ต้องอะไรมาก ดูจากสยามพารากอนที่มาตรฐานสูงลิ่ว แต่พอมาเป็น “ไอคอนสยาม” ก็ยังทำให้ “มากยิ่งกว่า” กระทั่งเป็นต้นแบบพัฒนาเมือง รวบรวมความครบครันการช็อปปิ้ง เอ็นเตอร์เทนเมนต์ศิลปวัฒนธรรม และนวัตกรรม ตอบโจทย์การใช้ชีวิตยุคใหม่ เชื่อมต่อระบบรถ ราง เรือ อย่างลงตัว

ไอคอนสยามยังเป็นโครงการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยแนวทาง creating shared value เกิดประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย

ตั้งแต่พันธมิตรทางธุรกิจ จนถึงคู่ค้า ชุมชน สังคม เปิดพื้นที่ “สุขสยาม” เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยมีพื้นที่ค้าขาย ในเชิงการจ้างงาน ไอคอนสยาม นำไปสู่การจ้างงานมหาศาล 20,000 ตำแหน่ง

เป็นโครงการที่มีศักยภาพเป็นที่ยอมรับนับถือระดับโลกถึง 13 รางวัล ในสาขาต่าง ๆ จากเวทีชั้นนำของโลก

พลิกภาพจากศูนย์การค้าที่ทุกคนคุ้นเคย กลายเป็น “เดสติเนชั่น” ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกให้อยากมาเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก

…รวม ๆ แล้ว การที่งานของสยามพิวรรธน์ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำความคิดสร้างสรรค์ที่ล้ำสมัยด้วยคอนเซ็ปต์แปลกใหม่และเป็นจุดหมายปลายทางที่เป็นแลนด์มาร์กสำคัญของประเทศ

สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศในสาขาต่าง ๆ บนเวทีโลก สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คน เสริมความแข็งแกร่งให้แก่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยตลอดมา

น่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอ ทำให้ “ชฎาทิพ” กล้าประกาศด้วยความมั่นใจว่า… วันนี้สยามพิวรรธน์พร้อมแล้วจะก้าวออกไปต่อยอดธุรกิจ เพื่อสร้างชื่อเสียงในต่างประเทศ