รพ.เอกชนหวั่นพิษสงคราม ทุบลูกค้าต่างประเทศฉุด 7 หมื่นล้าน

โรงพยาบาลเอกชน
ภาพจาก : freepik

รพ.เอกชนลุ้นระทึก หวั่นสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ยืดเยื้อ-ขยายวง กระทบคนไข้ตะวันออกกลาง ฉุดรายได้ 7 หมื่นล้าน ชี้สถานการณ์เสี่ยงบวกเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้น ทำคิดหนักลงทุนใหม่ ส่วน “บำรุงราษฎร์-กรุงเทพ-เวิลด์เมดิคอล” เดินหน้าหาตลาด-ขยายฐานลูกค้าใหม่เพิ่ม

หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง และมีการเปิดประเทศมากขึ้น ส่งผลให้ตัวเลขคนไข้ชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามารักษาตัวในประเทศไทยค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงต้นปี 2566 โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งเริ่มกลับมาขยายวอร์ดเพิ่ม เพื่อรองรับการกลับมาของคนไข้ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวตะวันออกกลางที่นิยมเข้ามารักษาตัวในประเทศไทย แต่ล่าสุดจากสถานการณ์สงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ที่เกิดขึ้น ทำให้โรงพยาบาลหลาย ๆ แห่งเริ่มมีความกังวลว่า หากสถานการณ์สงครามยืดเยื้อและขยายวง อาจจะส่งผลกระทบกับการเดินทาง และทำให้จำนวนคนไข้ที่จะเข้ามาสะดุดลง ซึ่งในแต่ละปีคนไข้จากต่างประเทศสร้างรายได้ให้ธุรกิจโรงพยาบาลไม่ต่ำกว่า 50,000-70,000 ล้านบาท

ห่วงภาวะสงครามขยายวง

ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) กลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กลุ่ม รพ.เกษมราษฎร์ กลุ่ม รพ.เวิลด์เมดิคอล และกลุ่ม รพ.การุญเวช เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ภาพรวมของคนไข้จากกลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่เดินทางเข้ามารับการรักษาตัวในประเทศไทยยังอยู่ในภาวะปกติ สำหรับในส่วนของ รพ.เวิลด์เมดิคอล คนไข้จากคูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฯลฯ ยังเดินทางเข้ามารักษาตามแผนที่วางไว้

“อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตอนนี้สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนนัก และหากสถานการณ์สงครามขยายวงกว้างออกไป สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาอาจจะส่งผลให้การเดินทางจากตะวันออกกลางมาไทยมีอุปสรรคบ้าง หรือคนไข้จำนวนหนึ่งอาจจะมีความกังวลบ้าง ดังนั้น เราจึงเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด”

เช่นเดียวกับนายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงพยาบาลปิยะเวท จำกัด (มหาชน) ที่กล่าวในเรื่องนี้ว่า ล่าสุดเท่าที่ได้สอบถามและพูดคุยกับเอเย่นต์ในตะวันออกกลาง ต่างก็ให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันว่า ภาวะสงครามที่เกิดขึ้นยังไม่ส่งผลกระทบกับคนไข้ที่ต้องการหรือมีแผนที่จะเดินทางเข้ามารับการรักษาตัวในประเทศไทย ซึ่งอาจจะต่างไปจากกรณีของนักท่องเที่ยว เนื่องจากความเจ็บป่วยนั้นเป็นเรื่องของความจำเป็น เบื้องต้นอาจจะกล่าวได้ว่า ธุรกิจโรงพยาบาลในประเทศไทยยังไม่ได้รับผลกระทบทางตรงจากภาวะสงคราม

“ตอนนี้คนไข้จากตะวันออกกลางก็ยังเดินทางเข้ามารับการรักษาที่ปิยะเวทตามแผนหรือนัดหมายที่วางไว้ และยังไม่เห็นสัญญาณการชะลอตัวแต่อย่างใด แต่สิ่งที่เป็นห่วงและต้องติดตามก็คือ การขยายวงกว้างของสงครามออกไปในหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งตอนนี้คงยังไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้”

ขณะที่นายแพทย์พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีพี เฮลท์แคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และกรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลเมดพาร์ค เปิดเผยว่า ตอนนี้สถานการณ์สงครามที่เกิดขึ้นยังไม่ส่งผลกระทบกับคนไข้จากตะวันออกกลางที่จะเดินทางเข้ามารักษาตัวในเมืองไทย อย่างกรณีของคนไข้ของเมดพาร์ค เช่น คูเวต กาตาร์ ฯลฯ ก็ยังเดินทางเข้ามาตามปกติ

จับตาธุรกิจชะลอแผนลงทุน

แหล่งข่าวระดับสูงจากโรงพยาบาลเอกชนอีกรายหนึ่ง ยังแสดงความเห็นในเรื่องนี้ด้วยว่า ตอนนี้แม้สงครามจะยังจำกัดวงอยู่เฉพาะในตะวันออกกลาง แต่เนื่องจากสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูงและอาจเกิดการขยายวงมากขึ้นได้ ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในช่วงขาขึ้น อีกด้านหนึ่งจึงถือเป็นความเสี่ยงในเชิงธุรกิจและการลงทุน ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศก็ยังฟื้นตัวไม่ดีนัก ซึ่งจากการพูดคุยกับผู้ประกอบการในหลาย ๆ ธุรกิจ ต่างเริ่มมีความกังวลในเรื่องของการลงทุน หลายค่ายอาจจะพิจารณาชะลอแผนการลงทุนใหม่ ๆ ออกไปก่อน โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง หรือโครงการที่อยู่ระหว่างการลงทุนก็จะต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้แม้สถานการณ์สงครามอาจจะสร้างความกังวลให้กับภาคธุรกิจบ้าง แต่อีกด้านหนึ่ง รพ.เอกชนหลาย ๆ แห่งที่เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าชาวต่างประเทศก็ยังเดินหน้าขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง เช่น รพ.บำรุงราษฎร์ ซึ่งมีสัดส่วนรายได้จากคนไข้ต่างประเทศ 60-65% จากรายได้รวม ได้ทยอยขยายตลาดไปยังตลาดใหม่ ๆ เช่น รัสเซีย เบลารุส มอนโดวา คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน อาร์เมเนีย เติร์กเมนิสถาน อาเซอร์ไบจาน เป็นต้น จากเดิมที่มีฐานคนไข้จากกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เช่น กาตาร์ คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอมาน รวมถึงสหรัฐอเมริกา เมียนมา กัมพูชา บังกลาเทศ มองโกเลีย

เช่นเดียวกับบีดีเอ็มเอส หรือกลุ่ม รพ.กรุงเทพ ซึ่งมีรายได้จากคนไข้ต่างประเทศประมาณ 25-29% จากรายได้รวม ก็ได้หันมาให้น้ำหนักกับตลาดในประเทศจีนมากขึ้น รวมทั้งตั้งเป้าที่จะเจาะตลาดกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council & GCC) 6 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และบาห์เรน จากเดิมที่มีกลุ่มลูกค้าจากกัมพูชา ลาว เมียนมา และตะวันออกกลาง

ขณะที่ รพ.เวิลด์เมดิคอล ในเครือบางกอกเชนฯ ได้มีการประสานและทำงานร่วมกับเอเยนซี่และสถานทูตต่าง ๆ มากขึ้น จากเดิมที่มีกลุ่มลูกค้าหลักมาจากตะวันออกกลาง ซีแอลเอ็มวี จีน สหรัฐอเมริกา เช่น การลงนามบันทึกข้อตกลงกับบริษัท ลาวิดา แอดวานซ์ เฟอร์ติลิตี้ แอนด์ เจเนติกส์ เซ็นเตอร์ จำกัด ในการส่งต่อผู้ป่วยจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้ารับบริการทางการแพทย์ โดยเน้นกลุ่มผู้รับบริการรักษาภาวะผู้มีบุตรยาก และเวชศาสตร์ชะลอวัย การลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับสถานทูตลิเบีย ในการผสานความร่วมมือทางการแพทย์และเทคโนโลยีการรักษาระหว่างประเทศไทยและประเทศลิเบีย รวมถึงการส่งตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในประเทศไทย เป็นต้น