ลอตเต้ ส่ง ป๊อบนาว เบิกทางรุกตลาดช็อกโกแลต 7.5 พันล้าน

ลอตเต้

ลอตเต้ ส่ง ป๊อบ นาว (POP NOW) เบิกทางรุกตลาดช็อกโกแลต พร้อมดึง “ไบร์ท” นรภัทร วิไลพันธุ์ นั่งแท่นพรีเซ็นเตอร์ หวังปั้นเสาหลักรายได้ต้นที่ 3

วันที่ 30 ตุลาคม 2566 นายซะดาฟูมิ มัตสุชิตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยลอตเต้ จำกัด ผู้ผลิตขนม อาทิ โคอะลา มาร์ช, หมากฝรั่งไซลิทอล ฯลฯ กล่าวว่า ตั้งแต่ท้ายปี 2566 นี้เป็นต้นไป บริษัทจะมุ่งปั้นสินค้ากลุ่มช็อกโกแลตให้เป็นเสาหลักสร้างรายได้ต้นที่ 3 คู่กับ บิสกิตและหมากฝรั่ง

หลังเซกเมนต์บิสกิต-หมากฝรั่งมีการแข่งขันสูง ในขณะที่ตลาดช็อกโกแลตการแข่งขันยังต่ำและโอกาสเติบโตสูง แต่บริษัทยังไม่มีสินค้าในหมวดนี้

ช็อกโกแลตคู่แข่งน้อย-เติบโตสูง

นายซะดาฟูมิ อธิบายว่า ช็อกโกแลตเป็นเซกเมนต์ที่มีศักยภาพสูงในกลุ่มตลาดขนม ด้วย 4 ปัจจัย คือ จำนวนคู่แข่งที่น้อยกว่ากลุ่มบิสกิต แต่มีแนวโน้มเติบโตใกล้เคียงกัน รวมถึงสินค้ามีราคาเฉลี่ยสูงกว่า อีกทั้งความซับซ้อนในการผลิตทำให้อินเตอร์แบรนด์ได้เปรียบ

ทั้งนี้อ้างอิงจากข้อมูลของบริษัทวิจัยนีลเส็นที่ระบุว่า ในตลาดบิสกิตนั้นเพียงแค่ผู้เล่น 3 รายใหญ่มีสินค้ารวมกันมากถึง 892 รายการ ขณะที่ช็อกโกแลตมีเพียง 311 รายการ โดยบิสกิตมีราคาเฉลี่ย 15-20 บาท แต่ช็อกโกแลต มีราคาเฉลี่ย 20-29 บาท อีกทั้งทั้ง 2 ตลาดยังเติบโตใกล้เคียงกันที่ 4.7% และ 4.3% ตามลำดับ

นอกจากนี้ปัจจุบันผู้เล่นท็อป 3 ด้านส่วนแบ่งตลาดของช็อกโกแลตยังเป็นอินเตอร์แบรนด์ทั้งหมดอีกด้วย

“แม้ปี 2565 ตลาดช็อกโกแลตจะมีมูลค่าประมาณ 7.5 พันล้านบาท หรือประมาณครึ่งหนึ่งของตลาดบิสกิตมูลค่า 1.38 หมื่นล้านบาท แต่ยังเป็นบลูโอเชียนที่การแข่งขันราคาไม่ดุเดือด นอกจากนี้ ลอตเต้ มีประสบการณ์ทำขนมช็อกโกแลตมานานกว่า 60 ปี จึงเหมาะที่บริษัทจะรุกเข้าทำตลาดนี้”

ส่งป๊อบนาวเบิกทาง พร้อมเพิ่มงบฯ หนุน 2 ปีรวด

ผู้บริหาร ไทยลอตเต้ กล่าวต่อไปว่า ด้วยเหตุนี้บริษัทจึง ตั้งเป้าปั้นสินค้ากลุ่มช็อกโกแลตให้เป็นเสาหลักสร้างรายได้ต้นที่ 3 คู่กับบิสกิตและหมากฝรั่ง

โดยเปิดฉากด้วย ป๊อบ นาว (POP NOW) ขนมช็อกโกแลตสอดไส้ธัญพืชอบกรอบ เป็นหัวหอกเบิกทาง พร้อมดึง “ไบร์ท” นรภัทร วิไลพันธุ์ นักแสดงและนายแบบดังมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ตามแผนเจาะกลุ่มคนทำงานออฟฟิศ ซึ่งมีกำลังซื้อและลงทุนกับขนมพรีเมี่ยมสำหรับกินในเวลางานเพื่อลดความเครียด

“เราออกแบบให้ป๊อบ นาว ตอบโจทย์ กลุ่มคนทำงานที่เป็นเป้าหมายมากในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นขนาดแต่ละชิ้นที่พอดีคำ พร้อมเคลือบด้วยเชลแล็กช่วยให้ไม่ละลายติดกัน และป้องกันไม่ให้เลอะมือ รวมถึงทุ่มชิงพื้นที่ขายในร้านสะดวกซื้อซึ่งเป็นจุดที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้มักหาซื้อขนม”

นอกจากนี้บริษัทยังเพิ่มงบฯ การตลาดอีก 32% เพื่อผลักดันในช่วงปลายปี 2566 นี้ก่อนที่ในปี 2567 จะเพิ่มงบฯ การตลาดอีก 11% โดยแบ่งการทำตลาด ป๊อบ นาว ออกเป็น 3 ช่วง เริ่มจากสร้างการรับรู้ผ่านสื่อทั้งโฆษณาทีวีและสื่อนอกบ้าน ตามด้วยเดินสายแจกสินค้าให้ผู้บริโภคทดลองชิมเน้นย่านธุรกิจ สถานีรถไฟฟ้าและอื่น ๆ ก่อนจะโหมโปรโมชั่นราคาเพื่อกระตุ้นการซื้อ

ทั้งนี้มั่นใจว่า คุณภาพของสินค้า และระดับราคาที่จับต้องได้ จะสามารถจูงใจให้ผู้บริโภคเปลี่ยนใจจากแบรนด์คู่แข่งในได้แน่นอน

แย้มยังมีสินค้าใหม่อีกเพียบ

นายซะดาฟูมิ มัตสุชิตะ ยังแย้มว่า ป๊อบ นาว เป็นเพียงจุดเริ่มต้น หลังจากนี้จะมีขนมช็อกโกแลตตัวใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแบรนด์ ป๊อบ นาว ที่อาจจะมีส่วนผสมหรือไส้แบบต่าง ๆ ออกมา หรืออาจเป็นช็อกโกแลตแบรนด์ใหม่ที่มีรูปแบบและจุดขายแตกต่างออกไป

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาดีมานด์ของผู้บริโภค เพื่อนำมาต่อยอดพัฒนาสินค้าสำหรับผู้บริโภคชาวไทยโดยเฉพาะ ตามแนวทางการทำตลาดของบริษัทที่เน้นพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคในแต่ละตลาด

ส่วนสินค้าอื่น ๆ ในพอร์ตโฟลิโอนั้นจะเดินหน้าทำตลาดต่อเนื่อง อาทิ โคอะลา มาร์ช จะเน้นจัดกิจกรรมให้ผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วม หลังแบรนด์เป็นที่รู้จักในวงกว้างแล้ว ส่วนท็อปโปจะเน้นกระตุ้นการขาย พร้อมกับตรึงราคากลุ่มหมากฝรั่งเอาไว้ไม่ให้กระทบผู้บริโภค เป็นต้น

ทั้งนี้เชื่อว่ายุทธศาสตร์เหล่านี้จะช่วยให้ช็อกโกแลต และสินค้ากลุ่มอื่น ๆ ในพอร์ตฯ สามารถเติบโตสูงกว่าตลาดได้ตามที่ตั้งเป้าไว้