“ส.ขอนแก่น” ลุยครบเครื่อง เพิ่มช่องทางขายไทย-ตปท.

จรัญพจน์ รุจิราโสภณ
จรัญพจน์ รุจิราโสภณ

“ส.ขอนแก่น” กางโรดแมปบุกตลาดปี’67 มุ่งสร้างความแข็งแกร่งแบรนด์ เดินหน้าเพิ่มช่องทางการขายต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ อเมริกา-ยุโรป-เกาหลีสร้างความร่วมมือบริษัทในเครือ ขยายช่องทางร้านค้าปลีกดั้งเดิมและตลาดสดส่วนธุรกิจร้านอาหาร เร่งปรับปรุงบริการหน้าร้าน-หลังร้าน ลีนองค์กร ลดสาขาไม่ทำเงิน ตั้งเป้าพลิกกลับมามีกำไรได้ในปี 2567

นายจรัญพจน์ รุจิราโสภณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ส.ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารแปรรูป ภายใต้แบรนด์ “ส.ขอนแก่น” เปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินงานในปี 2567 ว่า บริษัทจะมุ่งเน้นเสริมสร้างความเข้มแข็งของแบรนด์ ส.ขอนแก่น อย่างต่อเนื่อง ด้วยการมุ่งสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภค พร้อมขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าในร้านค้าปลีกดั้งเดิมและตลาดสดให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ผ่านดีลเลอร์ที่มีความชำนาญ

อีกทั้งวางแผนใช้ประโยชน์จากฐานลูกค้าปัจจุบันของบริษัทในกลุ่มอย่าง มหาชัยฟู้ดส์ ร่วมด้วย พร้อมกันนี้ได้วางแผนเพิ่มรายได้จากตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะเริ่มรับรู้รายได้จากตลาดอเมริกา ในต้นปี 2567

โดยในแง่ของการบริหารจัดการเพื่อสร้างผลการดำเนินงานให้เติบโตอย่างยั่งยืน บริษัทได้วางกลยุทธ์การดำเนินงานเชิงรุก 4 ด้าน ได้แก่ 1) การมุ่งสร้างสรรค์ประสบการณ์ผลิตภัณฑ์ใหม่โดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และสร้างความโดดเด่นแตกต่างจากคู่แข่ง เริ่มจัดทำระบบสมาชิก SOR ONE เพื่อเก็บข้อมูลพฤติกรรมและความต้องการของกลุ่มลูกค้า

รวมถึงทำโฆษณาสินค้าในช่องทางที่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น แพลตฟอร์ม TikTok ซึ่งปัจจุบันมียอดวิวกว่า 131 ล้านวิว และได้เริ่มทำแคมเปญสื่อสารการตลาด “แกล้มได้ทุกเรื่องเล่า” เปิดตัว “BUCKET กับแกล้ม” สร้างสีสันช่วงเทศกาลปลายปี และสื่อสารถึงผู้บริโภคแบบครบวงจร ทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ เพิ่มการรับรู้แบรนด์ ส.ขอนแก่น

นอกจากนี้ยังได้เตรียมขยายช่องทางการจัดจำหน่ายให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น วางแผนจัดการสินค้าหน้าร้านร่วมกับห้างร้านต่าง ๆ เพื่อให้ครอบคลุมกว่า 5,000 เอาต์เลต จากเดิมที่มีแค่ 400 เอาต์เลต

ส่วนธุรกิจร้านอาหารได้มีการออกแบบปรับปรุงประสบการณ์ลูกค้าหน้าร้านใหม่ รวมถึงปรับปรุงการบริหารจัดการหลังบ้านใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่วัตถุดิบ การจัดเสิร์ฟ การพัฒนาเมนูใหม่ รวมไปถึงการลีนองค์กร ลดสาขาร้านอาหารที่ไม่ทำกำไร คาดว่าธุรกิจร้านอาหารจะเริ่มพลิกกลับมามีกำไรได้ในปี 2567 เป็นต้นไป

2) การโฟกัสขยายช่องทางใหม่ที่ยังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย เช่น General Trade, e-Commerce, Food Service โดยเริ่มมีการผสานความร่วมมือภายในกลุ่มบริษัทเพื่อจัดจำหน่ายสินค้าร่วมกัน อีกทั้งได้ขยายผลิตภัณฑ์เข้าสู่ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือมากขึ้น โดยขายผ่านช่องทาง Omnichannel เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อได้ง่ายในทุกช่องทาง และจะมุ่งขยายการเข้าถึงร้านค้า รวมถึงทำให้เกิดการซื้อซ้ำมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังมีแผนจะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากตลาดต่างประเทศ ด้วยการตั้งตัวแทนจำหน่ายในกลุ่มประเทศใหม่ ๆ เช่น อเมริกา, ยุโรป โดยเฉพาะเกาหลี ซึ่งผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้รับผลตอบรับที่ดีเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ยอดขายจากเกาหลีมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ในอเมริกาและจีนอยู่ระหว่างเจรจากับพาร์ตเนอร์เพื่อนำผลิตภัณฑ์ไปจัดจำหน่าย รวมถึงการวางแผนการผลิตในประเทศนั้น ๆ ร่วมด้วย

3) เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มอาหารแปรรูปจากเนื้อสุกร เช่น แหนม หมูยอ ซึ่งมีสัดส่วนรายได้มากกว่าธุรกิจฟาร์ม ทำให้มีความเสี่ยงด้านการบริหารจัดการราคาวัตถุดิบที่ผันผวนจึงมีแผนลงทุนขยายธุรกิจฟาร์มหมูเพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้และลดความเสี่ยงจากการ Hedging โดยวางแผนขยายพื้นที่ฟาร์มเพื่อรองรับการเติบโตของจำนวนหมูขุนเพิ่มมากขึ้น และ 4) วางแผนบริหารจัดการภายในให้มีประสิทธิภาพทั้งกลุ่มบริษัท ผสมผสานจุดแข็งของกลุ่ม พร้อมวางระบบหลังบ้านให้แข็งแกร่ง พร้อมเอาไปปรับใช้กับธุรกิจใหม่ ๆ ในอนาคต