อย.ญี่ปุ่น เล็งตั้งสำนักงานในไทย หนุนบริษัทยารุกอาเซียน

pharmaceutical

หน่วยงานควบคุมยาและอุปกรณ์การแพทย์ของญี่ปุ่น เล็งเปิดสำนักงานสาขากรุงเทพภายในปี 2568 หวังหนุนบริษัทยาญี่ปุ่นรุกตลาดไทย-อาเซียน

วันที่ 31 ธันวาคม 2566 นิคเคอิ เอเชีย รายงานว่า หน่วยงานควบคุมยาและอุปกรณ์การแพทย์ของญี่ปุ่น หรือ PMDA ซึ่งมีหน้าที่ประเมินความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยา-อุปกรณ์การแพทย์ เตรียมเข้ามาตั้งสำนักงานตัวแทนในกรุงเทพ ภายในเดือนมีนาคม 2568 เพื่อสนับสนุนบริษัทยาญี่ปุ่นในการรุกตลาดไทยและอาเซียน

โดยสำนักงานที่จะเปิดในไทยนี้จะเป็นฮับระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานในแต่ละประเทศเกี่ยวกับการตรวจสอบยาจากบริษัทญี่ปุ่น หวังเร่งสปีดให้ยาของบริษัทญี่ปุ่นเข้าไปวางขายในประเทศนั้น ๆ ได้เร็วขึ้น

เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น อธิบายว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานควบคุมยาในหลายประเทศมักให้น้ำหนักกับผลประเมินของหน่วยงานใหญ่ ๆ เช่น FDA ของสหรัฐ หรือ WHO ของสหประชาชาติ ในการพิจารณาอนุมัติให้ยาวางขายในประเทศของตน

จึงเป็นโอกาสที่หากญี่ปุ่นสามารถจูงใจให้หน่วยงานควบคุมยาของประเทศเหล่านี้ เชื่อถือผลการประเมินของ PMDA ได้ อาจจะช่วยให้ยาของบริษัทญี่ปุ่นซึ่งผ่านมาการอนุมัติของ PMDA มาแล้ว สามารถเข้าไปวางขายในประเทศได้เร็วขึ้น

โดยสำนักงานสาขากรุงเทพฯ จะช่วยสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานกำกับดูแลในแต่ละประเทศ เช่น แปลเอกสารภาษาญี่ปุ่นเป็นอังกฤษ หรือให้คำปรึกษาเกี่ยวกับยาที่เข้ารับการประเมิน

“วัตถุประสงค์หลักของเราคือ นำยาคุณภาพดีเข้าไปในเอเชีย ซึ่งหากยาที่ได้รับการอนุมัติจาก PMDA ถูกนำไปใช้ในเอเชียมากขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์กับบริษัทยาญี่ปุ่นด้วย”

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งยังกังขากับแผนนี้ ด้วยเหตุผลว่า ระบบกำกับดูแลยาที่เป็นนวัตกรรมใหม่ของญี่ปุ่นเองยังตามหลังประเทศตะวันตกอยู่

Shunsuke Ono รองศาสตราจารย์ประจำ บัณฑิตวิทยาลัยเภสัชศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว อธิบายว่า ปัจจุบันความสามารถในการพัฒนายาใหม่ ๆ ของบริษัทญี่ปุ่นยัง “ห่างชั้น” กับบริษัทยาจากประเทศตะวันตกอยู่มาก ช่องว่างนี้อาจทำให้เป็นเรื่องยากที่ญี่ปุ่นจะถูกมองเป็นฮับ ในการเจาะเข้าสู่ตลาดยาของเอเชัยตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้ด้วยศักยภาพมหาศาลทางเศรษฐกิจของตลาดยา ทำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศต้องการคุมตลาดนี้เอง มากกว่าจะรับการสนับสนุน-ช่วยเหลือจากต่างประเทศ

ด้านรัฐบาลญี่ปุ่นเอง ทราบเรื่องนี้และมีแผนเปลี่ยนนโยบายการอนุมัติยา โดยหากยาผ่านการศึกษา-ทดลองครบทุกเงื่อนไขและขั้นตอนตั้งแต่ในต่างประเทศแล้ว ไม่จำเป็นต้องศึกษา-ทดลองเพิ่มเติมกับผู้ป่วยชาวญี่ปุ่นอีก