“ฟู้ดเซอร์วิส” เดือดข้ามปี แม็คโคร-เซ็นทรัล-บิ๊กซี ขย่มหนัก

แม็คโคร

ยังเป็นสมรภูมิที่มีอุณหภูมิการแข่งขันที่ร้อนระอุต่อเนื่องข้ามปีเลยก็ว่าได้ สำหรับ “ฟู้ดเซอร์วิส” หรือธุรกิจที่ให้บริการหรือขายวัตถุดิบสำหรับการทำอาหาร ทั้งของสด ของแห้ง เครื่องใช้ต่าง ๆ สำหรับร้านอาหาร

ขณะที่จำนวนผู้ประกอบการร้านอาหารมีแนวโน้มที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ทั้งร้านอาหารตามสั่ง ร้านสตรีตฟู้ด ร้านอาหารรถเข็น-แผงลอย ร้านอาหารที่เป็นเชนต่าง ๆ ธุรกิจจัดเลี้ยง ฯลฯ ซึ่งว่ากันว่าที่ผ่านมามีอยู่ไม่ต่ำกว่า 6-8 แสนร้าน และยังมีผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ว่าเศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือขาลง เพราะอาหารเป็นปัจจัยสำคัญในชีวิตประจำวัน บวกกับสังคมเมืองปัจจุบันที่ผู้คนต้องรีบเร่งไม่มีเวลาปรุงอาหารเอง

นี่อาจจะกล่าวได้ว่า เป็น “น่านน้ำใหม่” ของตลาดค้าปลีก-ค้าส่ง ที่บรรดาผู้ประกอบการรายใหญ่หมายมั่นปั้นมือมากว่าจะแย่งส่วนแบ่งการตลาดมาให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

นั่นเพราะว่า ตลาดอาหาร เป็นตลาดที่ใหญ่ และมีมูลค่ามากถึง 2.5-2.6 ล้านล้านบาท แต่ในแง่ของจำนวนผู้เล่นในตลาดฟู้ดเซอร์วิสยังมีไม่มากนัก และตลาดยังมีช่องว่างที่จะเล่นได้อีกมาก

เทรนด์ฟู้ดเซอร์วิสโตต่อเนื่อง

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการร้านอาหารเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันตลาดร้านอาหารในภาพรวมยังมีแนวโน้มที่จะยังเติบโตต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสถานการณ์โควิดที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาขับเคลื่อนได้เหมือนเดิม รวมทั้งการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวที่ทำให้มีเม็ดเงินสะพัดในตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยว

ส่วนหนึ่งสะท้อนจากภาพความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการร้านอาหารรายใหญ่ ที่ยังมีแผนเดินหน้าจะขยายสาขาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผู้ประกอบการร้านอาหารก็มีแนวโน้มจะทยอยเปิดมากขึ้น เช่นเดียวกับความเคลื่อนไหวของรายเล็กที่กระโดดเข้ามาในตลาดนี้เพิ่มขึ้นเป็นระยะ ๆ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะทำให้ดีมานด์ของฟู้ดเซอร์วิสมีเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

ที่ผ่านมา ตลาดฟู้ดเซอร์วิส เป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูง อย่างน้อยที่สุดก็สะท้อนจากรายได้ของธุรกิจฟู้ดเซอร์วิส ของบริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ที่เติบโตต่อเนื่อง โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่าตัวเลขการเติบโตเป็นไปอย่างก้าวกระโดด โดยในปี 2563 ธุรกิจฟู้ดเซอร์วิสของ แม็คโคร หรือซีพี แอ็กซ์ตร้า มีรายได้รวม 4,200 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 5,100 ล้านบาท ในปี 2564 หรือมีอัตราเติบโตถึง 21% และล่าสุดเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ตัวเลขมีรายได้ของธุรกิจฟู้ดเซอร์วิส ขยับขึ้นมาเป็น 7,100 ล้านบาท หรือเติบโตสูงถึง 39%

ค่ายใหญ่ปักหมุดสาขาเพิ่ม

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ล่าสุดผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้ง ซีพี แอ็กซ์ตร้า, เซ็นทรัล รีเทล และบีเจซี บิ๊กซี ก็ได้ประกาศแนวทางการเพิ่มสาขา “ฟู้ดเซอร์วิส” สำหรับในปีนี้ (2567) อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับดีมานด์ของกลุ่มผู้ประกอบการสตรีตฟู้ด ร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม การจัดเลี้ยง ฯลฯ และตอบโจทย์การให้บริการลูกค้าทุกกลุ่มในย่านนั้น ๆ และบริเวณใกล้เคียง

เริ่มจาก “บิ๊กซี” ธุรกิจค้าปลีกและบริการที่อยู่ใต้ร่มธงของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ หรือ บีเจซี ที่ตั้งเป้าจะสปีดการเปิดสาขาในฟอร์แมต “ฟู้ด เซอร์วิส” เปิดเพิ่มอีก 5-10 สาขา จากเมื่อสิ้นเดือนกันยายน 2566 ที่เปิดไปแล้ว 6 สาขา (เป้าสิ้นปี 8 สาขา)

เช่นเดียวกับการขยายสาขาฟอร์แมตต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต (บิ๊กซี มาร์เก็ต, บิ๊กซี ฟู้ดส์เพลส) สมอลล์ สโตร์ ฟอร์แมต (บิ๊กซี มินิ) รวมถึงการขยายเครือข่ายร้านโดนใจ

ส่วนความเคลื่อนไหวของเจ้าตลาด ซีพี แอ็กซ์ตร้า หรือ แม็คโคร ก็กางโรดแมปไว้อย่างชัดเจนว่า ในปี 2567 นี้ ตั้งเป้าจะทุ่มงบฯลงทุนเพื่อเปิดสาขาที่เป็นโมเดล ฟู้ดเซอร์วิส เพิ่มอีก 8-10 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด หลังจากเพิ่งเปิดสาขาล่าสุดที่ย่านปิ่นเกล้า ย่านเศรษฐกิจที่สำคัญในกรุงเทพฯฝั่งตะวันตก จากเมื่อสิ้นเดือนกันยายน 2566 แม็คโครมีสาขาที่เป็นฟู้ดเซอร์วิส รวม 44 สาขา

ที่น่าจับตามองก็คือ การรุกเข้ามาในตลาดนี้ของบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือซีอาร์ซี ผ่านบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด โฮลเซลล์ จำกัด ที่เพิ่งตัดริบบิ้นเปิด โก โฮลเซล สาขาแรกที่ถนนศรีนครินทร์ ไปแล้วเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และทยอยเปิดสาขา 2 ที่เชียงใหม่ สาขา 3 ที่นิคมอมตะนคร และปิดท้ายปี ด้วยสาขาที่ 4 สาขาพัทยาใต้

“สุชาดา อิทธิจารุกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด โฮลเซลล์ ธุรกิจในเครือบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือซีอาร์ซี บอกว่า โก โฮลเซล คือศูนย์ค้าส่งสินค้าระบบสมาชิกในราคาขายส่ง เพื่อผู้ประกอบการที่มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักคือ กลุ่มธุรกิจ HoReCa (โรงแรม, ร้านอาหาร, ธุรกิจจัดเลี้ยง) กลุ่มผู้ชื่นชอบการทำอาหาร กลุ่มผู้ให้บริการอาหารในโรงงาน โรงพยาบาลและหน่วยงานอื่น ๆ รวมถึงร้านค้าปลีกขนาดเล็ก (โชห่วย)

โก โฮลเซล ย้ำการเป็นทางเลือกใหม่ให้กับลูกค้า ซัพพลายเออร์ หรือทุกคนที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจอาหาร และมีแผนเปิดอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยเดือนละ 1 สาขา ไปจนครบทั่วประเทศในปี 2571 คาดว่าจะมีอย่างน้อย 40-50 สาขา ภายใต้งบฯลงทุนราว ๆ 20,000 ล้านบาท หรือ 400-600 ล้านบาท/สาขา และโก โฮลเซล สามารถมีสาขาได้อย่างน้อยจังหวัดละ 1 สาขา โดยภายใน 5 ปี จะสามารถกวาดรายได้ได้ไม่ต่ำกว่า 60,000-70,000 ล้านบาท

อาจจะกล่าวได้ว่า นี่คือ New Growth Engine ของซีอาร์ซี

แข่งครบทุกมิติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากการเดินหน้าปูพรมขยายสาขาดังกล่าวแล้ว ทั้ง 3 ค่าย “แม็คโคร-โก โฮลเซล-บิ๊กซี” ยังให้ความสำคัญกับการขยายฐานสมาชิกที่มาพร้อมกับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ รวมถึงบริการที่สะดวกสบายยังเป็นกุญแจสำคัญที่ทุกค่ายนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความพึงพอใจและเกิดการซื้อซ้ำที่จะช่วยสร้างการเติบโต และเกมการเพิ่มฐานลูกค้าที่เป็น “สมาชิก” ก็มีแนวโน้มที่จะหนักหน่วงขึ้น

นอกจากบริการที่สาขา บริการจัดเตรียมวัตถุดิบพร้อมใช้ คัด หั่น สับ วันนี้ทุกค่ายยังมีบริการให้คำปรึกษาผู้ที่สนใจจะประกอบอาชีพเป็นเจ้าของร้านอาหาร มีคอร์สสอน-ฝึกทำอาหารให้แบบเบ็ดเสร็จ

ขณะเดียวกันก็มีบริการสั่งซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ ผ่านแอป และมีบริการส่งสินค้าถึงที่ รวมทั้งบริการชำระเงินที่สะดวกปลอดภัย พร้อมมีการการันตีคุณภาพสินค้าให้ด้วย

นอกจากทุกค่ายจะโฟกัสในเรื่องของความครบถ้วน ความหลากหลายของสินค้า ทั้งอาหารสด อาหารแห้ง น็อนฟู้ด สินค้านำเข้าจากต่างประเทศแล้ว ทั้ง “แม็คโคร-โก โฮลเซล-บิ๊กซี” ยังให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็น House Brands หรือ Own Brands และ Exclusive Brands มากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากสินค้ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีมาร์จิ้นสูง และมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี จากความโดดเด่นในเรื่องของคุณภาพและราคาที่คุ้มค่า

สำหรับแม็คโคร เจ้าตลาดฟู้ดเซอร์วิส สินค้าเฮาส์แบรนด์ที่ขึ้นชื่อ หลัก ๆ เช่น aro, Savepack นอกจากนี้ยังมี Petz Freind อาหารสัตว์เลี้ยง, โซเล่ คาเฟ่ Sole Cafe สินค้าเกี่ยวกับธุรกิจร้านกาแฟ, Ocean Gems อาหารทะเลแช่แข็ง

เช่นเดียวกับ โก โฮลเซล ที่แม้จะเพิ่งกระโดดเข้ามาในตลาด แต่ก็มีสินค้ากลุ่ม Own Brands/Exclusive Brands ที่ครบเครื่อง รวม 10 แบรนด์ ทั้งกลุ่มอาหารสด อาหารแห้ง และน็อนฟู้ด เช่น Achoice, หมูมาเฟีย, Bingo อา-รอย, Tasty, sipp (สินค้าเกี่ยวกับธุรกิจกาแฟ) ซูเปอร์เซฟ เป็นต้น

ส่วนบิ๊กซี ฟู้ดเซอร์วิส เฮาส์แบรนด์ ตอนนี้หลัก ๆ ยังเน้นไปที่กลุ่มน็อนฟู้ด ภายใต้แบรนด์บิ๊กซี แฮปปี้ ไพรซ์

ที่ขาดไม่ได้และถือเป็นหัวหอกสำคัญในการทำตลาด คือ โปรโมชั่นราคาที่มีหลากหลายรูปแบบ โกยยอดขายให้ได้มากที่สุด