“เพื่อนเช่า” ธุรกิจมาแรงในจีน “โดดเดี่ยว-สูงวัย” แห่พึ่งคนแปลกหน้า

เพื่อนเช่า ธุรกิจมาแรงในจีน
ภาพจาก : pexels-pixabay
คอลัมน์ : Market Move

การเช่าเพื่อนและเป็นเพื่อนให้เช่ารวมไปถึงการเช่าตัวแทนลูกหลานกำลังเป็นเทรนด์ธุรกิจมาแรง ไม่เพียงแค่ในจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ยังขยายไปถึงชุมชนชาวจีนที่ไปอาศัยหรือศึกษาต่อในต่างประเทศด้วย หลังคลื่นการปลดคนในหลายธุรกิจทำให้หนุ่ม-สาวจำนวนมากต้องมองหาอาชีพเสริม

ขณะเดียวกัน สภาพสังคมเมืองที่เร่งรีบ โดดเดี่ยว และแข่งขันสูง ทำให้ผู้คนจำต้องหันไปพึ่งคนแปลกหน้ามาเป็นเพื่อน-ที่ปรึกษาปัญหา ทั้งชีวิตส่วนตัวและงาน แทนครอบครัวหรือเพื่อนสนิท เช่นเดียวกับปัญหาสังคมสูงวัยและผลตกค้างจากนโยบายลูกคนเดียวทำให้ผู้สูงอายุจำนวนมากขาดผู้ดูแล

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า ศูนย์กลางของธุรกิจเพื่อนเช่านี้จะอยู่ในแพลตฟอร์มโซเชียล Douyin และ Xiaohongshu ซึ่งผู้ใช้มาลงประกาศโฆษณาให้บริการเป็นเพื่อนเช่า และหาเช่าเพื่อนกันอย่างคึกคัก ตั้งแต่ปลายปี 2566 ที่ผ่านมา จนหลายคนสามารถทำธุรกิจนี้เป็นงานเสริมได้ และเริ่มขยายขอบเขตไปยังชุมชนชาวจีนในต่างประเทศ

โดยผู้ที่มาทำงานเป็นเพื่อนเช่านั้นก็มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นบล็อกเกอร์ วัยรุ่นที่กำลังหางาน หรือช่างภาพอิสระ และอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะรับลูกค้าเพศเดียวกัน และนัดพบกันในที่สาธารณะ เพื่อความปลอดภัย

ส่วนจุดประสงค์ของการ “เช่าเพื่อน” นั้นก็มีหลากหลายเช่นกัน ตั้งแต่ปรึกษาปัญหาชีวิตรัก เป็นเพื่อนไปเรียนเต้น-ดูดวง ไปเล่นโยคะ ไปจนถึงให้เป็นเพื่อนขณะพบจิตแพทย์ หรือผู้พิการที่ต้องการให้ช่วยนำทาง เป็นต้น

ตัวอย่างของผู้ที่ทำงานเป็นเพื่อนเช่า เช่น บล็อกเกอร์สาววัย 27 ปี จากปักกิ่ง ซึ่งให้บริการเป็นเพื่อนเช่าในอัตรา 125 หยวน/ชั่วโมง (636.7 บาท) โดย “หยาง” เล่าว่า ช่วงที่ผ่านมามีผู้ติดต่อมาจ้างให้เป็นเพื่อนแล้ว 7 ราย ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน รายได้สูง อายุต่ำกว่า 35 ปี ส่วนจุดประสงค์ก็หลากหลาย เช่น ปรึกษาปัญหาชีวิตรัก เพราะอยากได้มุมมองของผู้หญิงหลังทะเลาะกับแฟนสาวมา เป็นต้น

ไปในทิศทางเดียวกับประสบการณ์ของ “อาไลอา จาง” วัย 22 ปี จากกว่างโจว ซึ่งทำงานเป็นเพื่อนเช่ามา 2-3 เดือน ระหว่างกำลังหางานหลักกล่าวว่า ลูกค้ามีคำขอหลากหลาย เช่น ลูกค้าผู้หญิงรายหนึ่งจ้างให้ไปเรียนเต้นด้วยกัน ขณะที่อีกหลายคนขอให้ช่วยรับฟังปัญหาต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นเพราะวัยรุ่นปัจจุบันต้องเผชิญความเครียดหลายอย่าง แต่มักเกรงใจไม่อยากทำให้เพื่อนหรือญาติมากังวลกับปัญหาของตนเอง จึงเลือกปรึกษาคนแปลกหน้าแทน

โดย “จาง” ให้ความเห็นว่า คนรุ่นใหม่สนใจเรื่องสุขภาพจิตมากขึ้น แต่ไม่มีกำลังทรัพย์มากพอจะใช้บริการผู้ให้คำปรึกษา หรือจิตแพทย์มืออาชีพ รวมถึงในจีนการขอคำปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพจิตยังถูกมองในแง่ลบอยู่

ด้านฝ่ายผู้จ้าง เช่น “ยี เซียง” ผู้พิการทางสายตา วัย 30 ปี จากเหวินโจว กล่าวว่า เพื่อนเช่าช่วยอุดช่องว่างในจังหวะที่ต้องเดินทางไปต่างเมือง แต่ไม่สามารถหาอาสาสมัครช่วยผู้พิการ หรือเพื่อนมาช่วยนำทางได้ โดยทริปไปหางโจวครั้งล่าสุด “ยี เซียง” เลือกจ้างเพื่อนเช่าในราคา 200 หยวน เพื่อให้ช่วยนำทางและพาเที่ยวในเมืองไปพร้อมกัน ด้วยเหตุผลว่า หากเทียบกับการไหว้วานเพื่อนที่อาศัยอยู่ในเมืองอื่นแล้ว การจ้างคนแปลกหน้าในเมืองปลายทางนั้นง่ายกว่ามาก และการได้พบปะคนหน้าใหม่ ๆ เป็นความสนุกอย่างหนึ่ง

“สาเหตุที่เพื่อนเช่าได้รับความนิยมน่าจะเพราะทุกวันนี้คนวัยเริ่มทำงานตกงานกันมาก ขณะเดียวกัน สังคมเปลี่ยนไป ผู้คนที่อาศัยอพาร์ตเมนต์ในเมืองใหญ่มักจะห่างเหินกันมากกว่าอาศัยในหมู่บ้านเหมือนในอดีต ส่วนเด็ก ๆ มักโตขึ้นมาโดยไม่มีพี่น้องที่สามารถช่วยเหลือพึ่งพากันได้”

นอกจากในจีนแผ่นดินใหญ่แล้ว การเช่าเพื่อนยังเริ่มได้รับความนิยมในชุมชนชาวจีนในต่างประเทศด้วย อาทิ ผู้ปกครองชาวจีนที่ใช้บริการนี้เพื่อดูแลลูกหลานที่ไปเรียนต่อต่างประเทศ อย่างกรณีของ “ซินดี้ ลู” ช่างภาพอิสระวัย 31 ปีในเมืองโตรอนโต แคนาดา ซึ่งมีผู้ปกครองนักเรียนจีนที่มาเรียนว่าจ้างให้ช่วยดูแลลูกหลาน เช่น จัดงานวันเกิดอายุครบ 18 ปีให้ลูกสาวที่มาเรียนต่อในแคนาดา หรือช่วยอำนวยความสะดวกในการไปพบแพทย์ หรือไปรับเมื่อออกจากโรงพยาบาล เป็นต้น

ไม่เพียงการเช่าเพื่อน แต่ธุรกิจแนวนี้ยังขยายรูปแบบไปยังการที่ลูกหลานเช่าผู้ช่วยเพื่อดูแลผู้สูงวัยขณะไปใช้บริการโรงพยาบาลอีกด้วย หลังสภาพสังคมสูงวัยและผลตกค้างจากนโยบายลูกคนเดียว ทำให้ความต้องการผู้ช่วยดูแลผู้สูงวัยพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากวัยทำงานต้องการคนช่วยดูแลพ่อแม่ หรือญาติ

“กุ้ย เป่ย” ชาวมณฑลซีอาน วัย 38 ปีซึ่งทำงานเป็นผู้ช่วยพาผู้สูงอายุไปโรงพยาบาลแบบฟูลไทม์มานาน 1 ปีครึ่ง ผ่านทางโซเชียล Xiaohongshu และกลุ่มผู้สูงวัยในท้องถิ่นกล่าวว่า ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนวัยทำงานในเมืองหรือต่างประเทศที่ต้องการคนช่วยพาพ่อแม่ที่บ้านเกิดไปโรงพยาบาลแทนตนเอง โดยคนกลุ่มนี้มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากประชากรสูงวัยจำนวนมหาศาลในจีน ขณะที่การรับบริการของโรงพยาบาลในจีนค่อนข้างซับซ้อน และกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลที่ยิ่งเป็นความท้าทายของเหล่าสูงวัย โดยงานนี้อาจสร้างรายได้ถึง 6,000 หยวนต่อครั้ง

นอกจากนี้ แม้แต่วัยรุ่นเองบางครั้งยังมาใช้บริการผู้ช่วยพาไปโรงพยาบาลด้วย เนื่องจากการโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อหางาน ทำให้มีผู้พลัดถิ่นจำนวนไม่น้อย ซึ่งคนเหล่านี้ไม่ต้องการรบกวนเพื่อน หรือเพื่อนร่วมงานให้ช่วยพาไปโรงพยาบาล

ด้วยสภาพสังคมเมืองที่โดดเดี่ยวและแข่งขันสูงนี้ เมื่อรวมกับปัญหาสังคมสูงวัย ซึ่งเป็นปัญหาสามัญของเกือบทุกประเทศ อาจทำให้ในอนาคตเพื่อนเช่าและผู้ช่วยดูแลผู้สูงอายุกลายเป็นอีกหนึ่งอาชีพใหม่และธุรกิจมูลค่าสูงหลักล้านได้ในอนาคต