ปลุกเทรนด์ “มังสวิรัติ” แดนมังกรปรับสูตร…ลดกินหมู

คอลัมน์ Market Move

จีนถือเป็นประเทศผู้บริโภคเนื้อหมูอันดับ 1 ของโลก ด้วยดีมานด์มหาศาลมากกว่า 50 ล้านตันในแต่ละปี แต่นโยบายลดการบริโภคเนื้อหมูซึ่งรัฐบาลจีนประกาศเมื่อปี 2559 ได้ส่งผลให้ปีที่แล้วยอดการบริโภคเนื้อหมูลดลงเหลือ 54.8 ล้านตัน ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 3 ปี สท้อนถึงพฤติกรรมการบริโภคของชาวจีนที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งสัญญาณให้บรรดาธุรกิจผลิตอาหารมังสวิรัติทั้งในจีนและต่างประเทศเปิดฉากโอกาสเดินเครื่องรุกตลาด

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าผู้ผลิตอาหารมังสวิรัติหลายราย อาทิ “อิมพอสซิเบิล ฟูดส์” (Impossible Foods) จากสหรัฐซึ่งมีชื่อเสียงจากเบอร์เกอร์โปรตีนถั่วเหลือง และสตาร์ตอัพสัญชาติจีน “ไรต์ ทรีต” (Right treat) ของผู้ก่อตั้งเชนร้านค้า-ร้านอาหารมังสวิรัติชื่อดังในฮ่องกง พยายามอาศัยช่องว่างที่เกิดจากนโยบายลดการบริโภคเนื้อหมูทำตลาดสินค้าของตนหวังในฐานะตัวเลือกทดแทนเนื้อหมู โดยเริ่มปักธงในฮ่องกงเป็นจุดแรก

“เดวิส ลี” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินและฝ่ายปฏิบัติการของอิมพอสซิเบิล ฟูดส์ ฉายภาพว่า ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางด้านอาหารของทั้งจีนและเอเชีย โดยนอกจากจะเป็นฟู้ดเดสติเนชั่นของทั้งนักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นแหล่งรวมเชฟระดับพระกาฬที่ให้กำเนิดเทรนด์อาหารใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้จึงตัดสินใจบุกฮ่องกงเป็นตลาดต่างประเทศแห่งแรก โดยร่วมมือกับ “เมย์ โชว” เจ้าของตำแหน่งสุดยอดเชฟหญิงแห่งเอเชียประจำปี 2017 และ “อูเวอ โอเพอเซนสกี้” เชฟชื่อดังด้านเมนูเนื้อวัว เพื่อพัฒนาเมนูใหม่ด้วยสินค้าไฮไลต์ของบริษัทซึ่งเป็นเนื้อมังสวิรัติผลิตจากข้าวสาลี น้ำมันมะพร้าว และมันฝรั่ง มีจุดขายทั้งด้านรสชาติและราคาแพงกว่าเนื้อวัวน้ำหนักเท่ากันเพียงเล็กน้อย

ไปในทิศทางเดียวกับ “เดวิส หยาง” ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารกรีนคอมมอน เชนร้านค้าปลีกและร้านอาหารมังสวิรัติในฮ่องกงรวมถึงสตาร์ตอัพไรต์ ทรีต ซึ่งมองว่า ฮ่องกงเป็นประตูสำคัญสำหรับธุรกิจอาหารที่จะเปิดตัวสู่ตลาดจีนและเอเชีย อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายที่ต้องเอาชนะ ทั้งความคุ้นเคยกับเนื้อหมูมากกว่าเนื้อวัวของชาวจีนและเอเชีย รวมถึงความคุ้นชินกับการบริโภคเนื้อสัตว์

ดังนั้น “ออมนิพอร์ก” เนื้อหมูมังสวิรัติซึ่งบริษัทพัฒนาขึ้นจากถั่วเหลืองถั่วเขียว เห็ด และโปรตีนข้าว จึงมีโอกาสทำตลาดได้ดีกว่าเนื้อวัวมังสวิรัติที่ผู้เล่นต่างชาติพัฒนาเพื่อตอบรับดีมานด์ของชาวตะวันตกด้วยกัน โดยอาศัยจับมือกับ “ลี หยวน ฟัท” เชฟระดับดาวมิชลิน 2 ดวง พัฒนาสูตรอาหารจีนที่ใช้ออมนิพอร์กเป็นวัตถุดิบให้ถูกปากผู้บริโภคชาวจีน เช่น เสี่ยวหลงเปา ซึ่งได้รับการตอบรับเชิงบวกจากชาวฮ่องกง และขณะนี้เตรียมเปิดตัวเมนูผัดเปรี้ยวหวานในเดือน มิ.ย.นี้ พร้อมกับยื่นขออนุญาตวางขายในจีนแผ่นดินใหญ่ คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในปีนี้

“เนื้อหมูเป็นวัตถุดิบที่ถูกวงการอาหารมังสวิรัติมองข้ามมานาน ทั้งที่มีปริมาณการบริโภคสูง จึงเป็นช่องว่างขนาดใหญ่ที่ธุรกิจใหม่จะใช้เจาะเข้าสู่ตลาด”

พร้อมกับเดินหน้าสร้างการรับรู้ให้ผู้บริโภคหันมาสนใจอาหารมังสวิรัติมากขึ้น ด้วยกลยุทธ์เน้นสื่อสารด้านไลฟ์สไตล์และวัฒนธรรมการกิน ซึ่งสตาร์บัคส์เคยใช้และสามารถสร้างวัฒนธรรมการดื่มกาแฟในจีนมาแล้ว

ทั้งหมดนี้เป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวในวงการอาหารของจีน สะท้อนถึงเทรนด์และโอกาสใหม่ ๆ ในทางธุรกิจ ซึ่งต้องรอดูกันว่าจะแผ่ขยายมายังส่วนอื่นของเอเชียด้วยหรือไม่