“กิฟฟารีน” สร้างทัพนักขายใหม่ เพิ่มโฟกัสเจาะนิวเจนบุกหนักออนไลน์

พงศ์พสุ อุณาพรหม
พงศ์พสุ อุณาพรหม

ขายตรง “กิฟฟารีน” เดินหน้าขยายฐานสมาชิก กางโรดแมปมุ่งเจาะ “นิวเจน” เร่งทำการตลาดเชิงรุก “ออนไลน์” สนับสนุนการทำงานนักธุรกิจเต็มสูบ ทยอยปูพรมสินค้าใหม่ ตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพ ความงาม สูงวัย ชู “ฟิตต์ มีล บาย กิฟฟารีน” ผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหาร เป็นสินค้าเรือธงหนึ่ง พร้อมจัดโปรโมชั่นกระตุ้นทุกเดือน-อินเทนซีฟทริปเที่ยวสวิส เผยปัจจัยนอกเหนือการควบคุมมีมาก ปีนี้ขอโตเบาะ ๆ 4-5% จากปีที่ผ่านมา

นายพงศ์พสุ อุณาพรหม รองกรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่เพื่อการเติบโตองค์กร บริษัท กิฟฟารีน สกายไลน์ ยูนิตี้ จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยุทธศาสตร์สำคัญของกิฟฟารีนจากนี้ไปเพื่อรองรับการแข่งขันของธุรกิจที่มีความรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจที่ยังทรงตัวและในแง่ของกำลังซื้อที่ไม่ค่อยดีนัก โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นชนชั้นกลาง ๆ ลงไป

กลยุทธ์หลัก ๆ จะให้ความสำคัญไปเรื่องของการขยายฐานลูกค้าสมาชิกนักขายที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือ Young Generation มากขึ้น และตั้งเป้าว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีสัดส่วนนักธุรกิจที่เป็นรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 20% จากสมาชิกใหม่ที่เพิ่มขึ้นทุกปี ๆ ละประมาณ 5,000-10,000 รหัส จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 30% จากจำนวนสมาชิก 8.5 ล้านรหัส

เนื่องจากกิฟฟารีนเป็นแบรนด์ขายตรงที่อยู่ในตลาดมาตั้งแต่ยุคแรก ๆ ตอนนี้ก็ 28 ปีแล้ว ดังนั้นคนรุ่นใหม่ ๆ อาจจะไม่รู้จักหรือคุ้นเคยกับชื่อหรือแบรนด์เท่าที่ควร ฉะนั้นสิ่งที่จะต้องทํา คือ การสื่อสารกับคนรุ่นใหม่มากขึ้น ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้มีการสื่อสารกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในเชิงของโปรดักต์ ผ่าน KOL ทางโซเชียลมีเดีย

และปีนี้จะมีการสื่อสารเพิ่มในแง่มุมของธุรกิจเข้าไปด้วย เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้มองเห็นทั้งในมุมของแบรนด์หรือสินค้าว่าดีหรือมีคุณภาพอย่างไร ส่วนอีกมุมหนึ่งคือ ในแง่ของธุรกิจว่า การเป็นสมาชิกแล้วจะดีอย่างไร ได้ประโยชน์อะไรบ้าง ที่สำคัญคือ สามารถทำเป็นอาชีพและประสบความสําเร็จได้จริง ซึ่งขายตรงเป็นธุรกิจที่สามารถทำจากไหนก็ได้ Work from Anywhere ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ทั้งที่ต้องการจะทำเป็นอาชีพหรืออาชีพเสริม

“ตอนนี้ลูก ๆ ของสมาชิกรุ่นแรก ๆ ก็เริ่มสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกและทำเป็นธุรกิจเหมือนกับรุ่นพ่อรุ่นแม่ ลูก ๆ ของสมาชิกหลาย ๆ คนก็เข้ารับช่วงต่อจากพ่อแม่ และอีกส่วนหนึ่งก็คือเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่เริ่มเข้ามาทํามากขึ้น ดังนั้นคนรุ่นใหม่ ๆ อาจจะไม่รู้จักหรือคุ้นเคยเท่าที่ควร ฉะนั้นสิ่งที่เราจะต้องทําก็คือการสื่อสารกับนักธุรกิจรุ่นใหม่มากขึ้น”

กางแผนซัพพอร์ตนักธุรกิจ

นอกจากนี้ยังมีแผนจะรีโนเวตสำนักงานธุรกิจในภูมิภาคหลัก ๆ ซึ่งปัจจุบันมีกระจายอยู่ทั่วประเทศ 103 แห่ง ให้เป็นศูนย์กระจายสินค้าที่ทันสมัย และเป็นร้านค้าที่มีการ Display โชว์สินค้า เพื่อต้องการเจาะเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ รวมถึงกลุ่ม Young Generation เพิ่มขึ้น รวมทั้งจะมีการทำการตลาดในเชิงรุกมากขึ้น โดยเฉพาะในช่องทางออนไลน์ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและจูงใจให้คนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมธุรกิจกับกิฟฟารีนมากขึ้น

และที่ผ่านมาบริษัทได้มีการปรับระบบสนับสนุนการทํางานของนักธุรกิจกิฟฟารีนให้มีความทันสมัยมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การทําแอปพลิเคชั่นGiffarine เพื่อให้สมาชิกได้มีฐานข้อมูล ที่จะช่วยสนับสนุนให้นักธุรกิจทํางานได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกัน ก็จะมีการสร้างแบรนด์กิฟฟารีน ด้วยการทําโฆษณาประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทิ้งไม่ได้ในการขับเคลื่อนธุรกิจในปัจจุบัน

ปัจจุบันแม้การขายผ่านช่องทางออนไลน์จะเป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับ ซึ่งบริษัทก็ได้ปรับตัวและยังคงเอกลักษณ์ของการเป็นธุรกิจขายตรงหลาย ๆ เรื่องไว้ เช่น การทําเทรนนิ่งออนไลน์ เพื่อให้ผู้จําหน่ายสามารถสื่อสารเรื่องราวหรือข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ไม่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง หรือมีการทําเทรนนิ่งให้เขาปรับตัว การประชุมทีมผ่านระบบ Zoom เป็นต้น ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า โมเดลไม่เปลี่ยน แต่วิธีการเปลี่ยน

ที่ผ่านมาหลาย ๆ บริษัทอาจจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แต่สำหรับกิฟฟารีนอาจจะโชคดี เนื่องจากช่วงปี 2561-2562 ได้มีการปรับตัวด้วยการหันมาให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์มากขึ้น และได้เปิดให้นักธุรกิจสามารถจําหน่ายสินค้าในแพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลซได้ ด้วยการเข้ามา Register กับบริษัท เพื่อเป็นผู้จําหน่ายประเภท E Business Member และเปิดร้านค้าออนไลน์ในอีมาร์เก็ตเพลซ พอมีโควิด นักธุรกิจของกิฟฟารีนก็ยังสามารถทำธุรกิจได้ขายสินค้าได้จึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

ลุยสินค้าสุขภาพ บิวตี้ สูงวัย

สำหรับในแง่ของสินค้า สิ่งที่กิฟฟารีนจะยังคงเน้นการสร้างนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด ซึ่งแต่ละปีจะมีสินค้าใหม่เข้ามาทำตลาด 7-6 รายการ โดยหลังจากโควิด-19 ผ่านไป เทรนด์ของโลกยังคงอยู่ในเรื่องของสุขภาพ ความงาม ขณะที่ประเทศไทยก็เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้น เพื่อตอบโจทย์เรื่องสุขภาพ ความงาม และการดูแลผู้สูงอายุ กิฟฟารีนก็จะมุ่งให้ความสำคัญกับกลุ่มสุขภาพ ความงาม และผู้สูงอายุ ไปพร้อม ๆ กัน

อาทิ สกินแคร์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่าง ๆ เช่น วีแกน มัลติ แพลนท์ โปรตีน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโปรตีนจากถั่วเหลือง และถั่วลันเตา ผสมแคลเซียมและวิตามิน ดี, ฟิตต์ มีล บาย กิฟฟารีน ผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหาร ตัวช่วยในการดูแลรูปร่างและควบคุมน้ำหนัก ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นสินค้าเรือธงหนึ่งในการทําการตลาดของกิฟฟารีนในปีนี้

นอกจากนี้ เพื่อรองรับการเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย กิฟฟารีนก็จะทยอยส่งสินค้ากลุ่มนี้เข้ามาตลาดเป็นระยะ ๆ จากเดิมที่มีกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทำตลาดมาระยะหนึ่ง เช่น อาหารเสริมที่เกี่ยวกับปัญหาข้อเข่าเสื่อม ข้ออักเสบ ข้อกระดูกอ่อนถูกทำลาย วิตามินบำรุงสายตา-กิฟฟารีน บำรุงจอตา บำรุงสมอง อาการหลงลืม ฟื้นฟูความจำ เป็นต้น

พร้อมกันนี้ก็จะมีโปรโมชั่นทุกเดือน และที่ขาดไม่ได้ก็คือ อินเทนซีฟ ซึ่งปีนี้แคมเปญใหญ่มีเป้าหมายอยู่ที่การท่องเที่ยวที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (Fantastic Switzerland Awards) ระยะเวลาการแข่งขันตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2566-21 ธันวาคม 2567 และประกาศผล 15 มกราคม 2568

จากแนวทางการรุกตลาดดังกล่าว มั่นใจว่า ปีนี้ยอดขายจะเติบโต 4-5% จากปีที่ผ่านมาที่มียอดขายรวมมากกว่า 4,300 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นเป้าที่ไม่มากนัก เนื่องจากมองว่ายังมีปัจจัยที่นอกเหนือการควบคุมหลายเรื่อง ทั้งในแง่ของการแข่งขัน ภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมยังคงทรงตัว และกำลังซื้อยังมีปัญหา โดยเฉพาะกลุ่มระดับกลางลงไปที่ระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย